posttoday

ถนนเมืองไทยสุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนจน

24 กรกฎาคม 2563

ย้อนรอยบทความต่างประเทศที่วิเคราะห์ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมกันบนท้องถนนระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน”

นาทีนี้กระแสสังคมที่กำลังเป็นที่พูดถึงในประเทศไทยจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก การสั่งไม่ฟ้อง บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง โพสต์ทูเดย์จึงนำบทความเรื่อง Thailand’s Roads Are Deadly. Especially If You’re Poor. (ถนนเมืองไทยอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนจน) ที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ตีพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2019 มาสรุปไว้ดังนี้

The New York Times เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวของ อรทัย จันทร์หอม ที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงาน แต่แล้วรถกระบะของนายตำรวจนอกเวลาปฏิบัติงานที่มีอาการมึนเมาก็เสียหลักมาชนกับรถจักรยานยนต์ของเธอแล้วลากไปตามถนน เธอถูกชนจนกระเด็น และเสียชีวิตทันที ณ จุดเกิดเหตุ

หลังเกิดเหตุคู่กรณีที่ชนเธอจนเสียชีวิตยังคงปฏิบัติหน้าที่ตำรวจต่อ ยังมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และสามารถขับรถยนต์ได้ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุกแต่อย่างใด

The New York Times ระบุต่อว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงที่สุดในโลก แม้แต่บนท้องถนนก็ยังแบ่งชนชั้น โดยคนยากจนมักเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าคนรวยหรือมีเส้นสาย

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2015 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงลิเบีย ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและไม่มีกฎหมายคุ้มครองเท่านั้น

และหากนับเฉพาะการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ต่อจำนวนประชากรแล้ว ไทยอยู่อันดับ 1

รัฐบาลไทยเคยประกาศต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ว่า จะลดตัวเลขการเสียชีวิตจากอบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 ทว่าในปี 2019 รัฐบาลไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะทำได้ตามที่พูด ท้องถนนเมืองไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ท้องถนนที่อันตรายที่สุดในโลก จากตัวเลขการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดมากกว่า 20,000 รายต่อปี

ไทยมีตัวเลขการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2015 และมีการออกกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้ท้องถนนปลอดภัยขึ้น

แต่สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่เพียงแต่ทำให้ท้องถนนอันตรายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการแบ่งแยกประเทศออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือ คนรวยกับคนจน

ความไม่เท่าเทียมกันทั้งตอนมีชีวิตและตอนเสียชีวิต

ข้อมูลของ Credit Suisse สถาบันการเงินระดับโลกพบว่า ปี 2018 ไทยเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันที่สุดใน 40 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ท้องถนนของไทยไม่ปลอดภัย

ถนนของไทยราดยางอย่างดี เหมาะสำหรับการใช้ความเร็วสูง ผิดกับประเทศที่ยากจนกว่าประเทศอื่น อีกทั้งรถยนต์ที่บรรดาคนที่มีฐานะร่ำรวยและชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มขึ้นขับกันมักจะเป็นรถรุ่นใหม่และมีสมรรถนะสูง

ทว่า ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่กลับมีเงินซื้อเพียงรถจักรยานยนต์ โดยที่หมวกนิรภัยคุณภาพดีกลายเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้สวมใส่ก็ตาม

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนที่การจราจรคับคั่งมักเกิดจากการที่รถยนต์ SUV ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ จนทำให้ซากจากอุบัติเหตุเกลื่อนถนน ภาพหลังเกิดอุบัติเหตุแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาพอันน่าสยดสยองบนท้องถนนเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเศษซากยางฉีกขาด กันชนที่พังยับเยิน หรือแม้แต่รองเท้าแตะเปื้อนเลือด

อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มักจะมีผู้เสียชีวิตหลายคน เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงบริเวณชานเมือง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นภาพของทั้งครอบครัวซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาคันเดียวโดยมีพ่อเป็นคนขับ แม่ซ้อน และลูกเล็กๆ อีกคนหรือสองคนนั่งตรงกลาง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมยังถูกใช้อย่างไม่เท่าเทียมกันด้วย

กฎหมายไทยไม่สามารถใช้กับคนที่มีฐานะร่ำรวยหรือมีตำแหน่งใหญ่โตในสังคม คนกลุ่มนี้สามารถขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ถูกลงโทษ หรือดื่มจนมึนเมาก่อนขับรถโดยที่ไม่ต้องกลัวผลที่จะตามมาด้วยซ้ำ

The New York Times ยกตัวอย่างกรณีของทายาทกระทิงแดงที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แต่ก็ไม่เคยต้องรับโทษ

การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอและการคอร์รัปชั่น

การขับรถเกินความเร็วที่กำหนด เมาแล้วขับ และไม่สวมหมวกกันน็อก คือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทย แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องเหล่านี้ แต่กลับไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่นนั้น บรรดามหาเศรษฐีหรือคนที่มีเส้นสายต่างทราบกันดีว่าการติดสินบนจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนกฎจราจร

สบาบสบายสไตล์คนไทย

เมื่อ The New York Times ถามว่าเหตุใดคนไทยจึงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไทยตอบว่าเป็นเพราะวัฒนธรรม “สบายสบาย” ซึ่งตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การไม่สวมหมวกกันน็อก และเมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ฝ่าฝืน ก็จะถูกคนไทยต่อว่า

การโยนความผิดให้คนอื่น

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปี 2016 คนไทย 32.7 คนจากประชากร 100,000 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 12.4 คนต่อปี อินโดนีเซียอยู่ที่ 12.2 คนต่อปี ขณะที่ประเทศยุโรปส่วนใหญ่เป็นเลขตัวเดียว

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยรับปากว่าจะลดตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนน สถิติก็แทบจะไม่ดีขึ้นเลย ทำให้ไทยรั้งอันดับเกือบสุดท้ายประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดในอันดับที่ 9

คำถามที่ว่าแล้วเป็นความรับผิดชอบของใครที่ประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ถูกโยนกลับไปกลับมาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โยนความรับผิดชอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

ความเป็นมนุษย์มีราคาแพง

เมื่อปี 2018 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า หากลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงได้ครึ่งหนึ่ง ประเทศไทยอาจจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ได้มากถึง 22% ในปี 2038 แต่รัฐบาลทหารที่มาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2014 ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตบนท้องถนน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ปรับปรุงความปลอดภัยของถนนให้ดีขึ้น และได้ให้สัญญาที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย โดยโรงเรียนได้มีการบรรจุหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของยานพาหนะขึ้นใหม่

จากสถิติแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นเล็กน้อย อัตราการเสียชีวิตบนถนนลดลง 7% โดยในปี 2018 มีจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนน 22,491 ราย เมื่อเทียบกับปี 2015 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนน 24,237 ราย

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคจำนวนมหาศาลของการเสียชีวิตบนท้องถนนสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ สิ่งที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้คือ การสูญเสียที่เกิดจากบุคคลซึ่งไม่ต้องรับโทษที่คุกคามถนนในประเทศไทย

ครอบครัวของอรทัยที่ถูกตำรวจขับรถชนเสียชีวิตไม่มีทนายในการดำเนินการคดีแพ่ง เพื่อขออุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่พิพากษาไม่จำคุกนายตำรวจ และไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อจากนั้น

“ในเมืองไทยกฎหมายไม่มีความสำคัญ คนจนแบบเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราต้องตายไปอย่างไร้ค่า เพราะชีวิตของเรามันไม่มีค่าพอ” จุฬารัตน์ลูกสาวผู้ตายกล่าว

The New York Times สรุปไว้ว่า สำหรับคนจนแล้วถนนในเมืองไทยไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะที่ความเร็วแค่ไหนก็ตาม