posttoday

วัคซีนโควิดมีค่ายิ่งกว่าทองจนต้องเปิดสงครามแฮกข้อมูลกันแล้ว

23 กรกฎาคม 2563

ท่ามกลางการแข่งขันชิงความเป็นที่หนึ่งผลิตวัคซีนโควิด ก็มีกลุ่มแฮกเกอร์ออกอาละวาดล้วงข้อมูลงานวิจัยวัคซีนกันเป็นว่าเล่น

นาทีนี้วัคซีน Covid-19 กลายเป็นของมีค่าที่ชาวโลกรอคอย เพราะเราต้องอยู่กับเชื้อโคโรนาไวรัสมากว่าครึ่งปีแล้ว ทำให้นานาประเทศ อาทิ สหรัฐ จีน อังกฤษ เร่งพัฒนาวัคซีนออกมาให้ได้เร็วที่สุด และหลายโครงการเข้าใกล้ความจริงแล้ว

ท่ามกลางการแข่งขันนี้ ทำให้กลุ่มแฮกเกอร์ออกอาละวาดล้วงข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน Covid-19 ในหลายประเทศ

ล่าสุด ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติของอังกฤษ (NCSC) เผยคำเตือนว่า กลุ่มแฮกเกอร์รัสเซียพยายามแฮกหน่วยงานและองค์กรที่กำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีน Covid-19 ในสหรัฐ อังกฤษ และแคนาดา

รายงานระบุว่า กลุ่มแฮกเกอร์ใช้ชื่อว่า APT29 หรือ Cozy Bear หรือ The Dukes และทางการอังกฤษมั่นใจ 95% ว่าแฮกเกอร์กลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย ซึ่งทั้งสหรัฐและแคนาดาต่างสนับสนุนข้อสรุปนี้ของอังกฤษ

สำนักข่าว BBC ระบุว่า คำเตือนครั้งนี้ของอังกฤษไม่ใช่เรื่องปกติ เนื่องจากมีการใช้คำที่เจาะจงว่าเป็นแฮกเกอร์รัสเซียโดยตรง แทนที่จะใช้คำทั่วไปที่รัฐบาลส่วนใหญ่นิยมใช้ นั่นก็คือคำว่า แฮกเกอร์ที่มีหน่วยงานของรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง (state-backed hackers)

BBC ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ข้อกล่าวหาของอังกฤษไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ แม้ว่าเรื่องวัคซีนจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในช่วงเวลานี้ก็ตาม เพราะหน่วยข่าวกรองทั่วโลกต่างก็ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีน ไม่เว้นแม้แต่สายลับตะวันตก ซึ่งน่าจะกำลังสอดแนมข้อมูลอยู่เช่นกัน

สอดคล้องกับ รอสส์ แอนดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่เผยว่า ไม่ใช่รัสเซียเท่านั้นที่พยายามแฮกข้อมูล ทั้งสหรัฐและจีนก็พยายามจะขโมยข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา บริษัทยาและองค์กรที่เกี่ยวกับสุขภาพมักจะตกเป็นเป้าการโจมตีของแฮกเกอร์ แต่ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด พบว่าแฮกเกอร์ออกปฏิบัติการล้วงข้อมูลถี่ขึ้น โดยตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีการแฮกข้อมูลบริษัทยาเพิ่มขึ้นถึง 300%

นอกจากนี้ การช่วงชิงความเป็นหนึ่งในการผลิตวัคซีน Covid-19 ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิด “ลัทธิวัคซีนชาตินิยม” ที่แต่ละประเทศต่างทุ่มเทให้ได้วัคซีนก่อนเพื่อใช้ในประเทศตัวเอง

ขณะที่การแฮกข้อมูลของแฮกเกอร์รัสเซียยังเป็นการส่งสัญญาณว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับรัสเซียได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากที่ทั้งสองประเทศพยายามล้วงข้อมูลเทคโนโลยียานอวกาศของกันและกันในช่วงสงครามเย็นมาแล้ว

เพราะการได้วัคซีนก่อนย่อมหมายถึงการมีอิทธิพล มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น

เดวิด ไนเดส ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์การดูแลสุขภาพเผยกับ Bloomberg ว่า “เดิมพันครั้งนี้สูงกว่าครั้งอื่นๆ มีการแข่งขันกันพัฒนาวัคซีน และใครที่พัฒนาได้ก่อนจะได้รางวัลใหญ่”

เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัสเซียกลัวตัวเองจะตกขบวน เพราะทั้งสหรัฐ ยุโรปตะวันตก และจีนต่างก็ทุ่มทุนวิจัยและเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนแล้ว รัสเซียจึงต้องเร่งผลิตวัคซีนของตัวเองบ้าง

เพราะเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐเผยว่า เป้าหมายของรัสเซียครั้งนี้คือล้วงข้อมูลวิจัยเพื่อนำไปผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด มากกว่าจะเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของประเทศอื่น

ทว่า คิริลล์ ดิมิทรีฟ ซีอีโอกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซียโต้กลับว่า รัสเซียไม่จำเป็นต้องล้วงข้อมูลวัคซีนจากประเทศอื่น เพราะได้ทำสัญญากับบริษัทยา AstraZeneca เพื่อผลิตวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในโรงงานผลิตยารายใหญ่ของรัสเซียแล้ว

โดยสัญญาดังกล่าวจะทำให้รัสเซียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนและส่วนผสมทั้งหมด ไม่ต้องแฮกให้เหนื่อย

แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญฝั่งตะวันตกก็ยังไม่คลายความสงสัยรัสเซีย

ไมเคิล อีเบิร์ต รองประธานบริหารบริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์ Focal Point Data Risk ในสหรัฐมองว่า รัสเซียไม่ได้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์จนถึงขั้นที่จะผลิตวัคซีนได้รวดเร็วเท่ากับสหรัฐ อังกฤษ จีน หรือประเทศอื่น

ถ้าไม่แฮกข้อมูลของประเทศอื่นมาต่อยอดก็ไม่มีทางผลิตได้ก่อนแน่นอน

หรือการผนึกกำลังแฉรัสเซียของอังกฤษ สหรัฐ และแคนาดา จะเป็นการดิสเครดิตการพัฒนาวัคซีนของรัสเซีย เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกแซงหน้า เพราะหากเป็นไปตามที่ดิมิทรีฟบอก วัคซีนรัสเซียจะออกสู่ตลาดเร็วที่สุดในเดือน ก.ย.นี้แล้ว

แต่ ปีเตอร์ ชาพิโร นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยามองว่า รัสเซียไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตยาคุณภาพส่งออกรายใหญ่ของโลก และที่ผ่านมาวัคซีนใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยรัสเซียก็ไม่ได้รับความนิยมในตลาดหลักอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรปตะวันตก

รัสเซียจึงไม่น่าจะต้องลงทุนล้วงข้อมูลให้ต้องบาดหมางกับประเทศอื่น

อย่าลืมว่าครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เพราะทุกประเทศต่างก็ต้องการให้ได้วัคซีนมาอยู่ในมือให้เร็วและมากที่สุด อาจไม่คำนึงถึงว่าวัคซีนมาจากไหน