posttoday

จะลงทุนกับอาวุธหรือลงทุนกับปากท้องประชาชน?

24 กรกฎาคม 2563

คำถามก็คือมหาอำนาจทั้งหลาย (หรือประเทศอำนาจน้อยอย่างไทย) จะมุ่งไปทางไหนดีในช่วงที่การเมืองโลกคุกรุ่นแต่การระบาดก็ยังเลวร้าย?

ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการในสมรภูมิสงครามโลก และประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์อันเป็นอมตะ Chance for Peace speech (โอกาสเพื่อสันติ) ที่ American Society of Newspaper Editors เมื่อวันที่ 16 เมษายน 1953

สุนทรพจน์นี้มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

" ... ปืนทุกกระบอก เรือรบทุกลำ จรวดทุกลูกที่ยิงไป ท้ายที่สุดแล้ว สะท้อนถึงการฉกฉวยมาจากผู้โหยหิวและท้องไม่อิ่ม ผู้คนที่เหน็บหนาวและไร้เครื่องนุ่งห่ม โลกที่แข่งขันกันด้วยอาวุธไม่เพียงแค่ทำให้เงินทองต้องสิ้นเปลืองไปเท่านั้น แต่ยังรีดไถมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานที่ทำการผลิต ภูมิปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ และความหวังของเด็กๆ ต้นทุนของเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่มีค่าเท่ากับสิ่งต่อไปนี้ เท่ากับอาคารเรียนทันสมัยสำหรับเมือง 30 แห่ง เท่ากับโรงงานผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับประชากรได้ 60,000 คน เท่ากับโรงพยาบาลชั้นเยี่ยมอุปกรณ์ครบครัน 2 แห่ง เท่ากับถนนคอนกรีตยาว 80 กิโลเมตร เงินที่เราจ่ายไปสำหรับเครื่องบินขับไล่เพียงลำเดียว มีค่าเท่ากับข้าวสาลี 12 ล้านกิโลกรัม เรือพิฆาตเพียงลำเดียวมีค่าเท่ากับที่อยู่อาศัยสำหรับ 8,000 ชีวิต ... "

สุนทรพจน์นี้มีขึ้นหลังการเสียชีวิตของ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตเพื่อเตือนถึงภัยจากการก่อสงครามเพื่อสนองตัณหาของผู้มีอำนาจและคนในธุรกิจอาวุธ และเพื่อแย้มท่าทีให้ผู้นำใหม่ของโซเวียตหันมาพูดคุยกัน แทนที่จะเผชิญหน้าด้วยการสะสมอาวุธ

แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้ไม่สำเร็จ เพราะหลังจากนั้น สงครามเย็นกลับทวีความรุนแรงขึ้น และยืดเยื้อ ลุกลามไปทั่วโลก

ตอนนี้สงครามเย็นครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝ่ายที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวเป็นพิเศษคือสหรัฐ แต่ฝ่ายจีนก็ตอบโต้อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน แต่ยังไม่มีการแข่งขันเพื่อสะสมอาวุธที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มี

ในระยะสั้นประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องสาธารณสุขและปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่เราจะประมาทไม่ได้เพราะบางประเทศอาจใช้นโยบาย "แข็งกร้าวภายนอก สยบวุ่นวายภายใน" นั่นคือการทำท่าทีแข็งกร้าวกับประเทศคู่กรณี เพื่อที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวในการบริหารบ้านเมือง

บางคนอาจคิดว่าสหรัฐทำท่าทีแข็งกร้าวกับจีนเพราะทรัมป์ต้องการเบี่ยงความสนใจของประชาชนเรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่แค่สหรัฐเท่านั้นที่ใช้วิธีนี้ (หากทรัมป์ใช้วิธีนี้จริงๆ)

อย่างที่กล่าวไปว่าในระยะใกล้ประเทศต่างๆ จะสนใจกับเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความการสะสมอาวุธจะหยุดชะงัก ตรงกันข้าม ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่เราเห็นมหาอำนาจบางประเทศแสดงแสนยานุภาพด้านการทหารทั้งๆ ที่อยุูในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมเอาเลย

เราเห็นจีนส่งเรือรบเฉียดไปเฉียดมาแถวเกาะเจ้าปัญหากับญี่ปุ่น เราเห็นสหรัฐส่งเรือรบและโดรนสอดแนมเข้ามาในทะเลจีนใต้ เราเห็นการปะทะกันระหว่างอินเดียกับจีน และเราเห็นการร่วมซ้อมรบทางทะเลระหว่างอินเดียกับสหรัฐ ฯลฯ

เรายังเห็นการเปิดตัวอาวุธใหม่ ของมหาอำนาจในช่วงเวลาเดียวกับที่มหาอำนาจแข่งกันผลิตวัคซีน

คำถามก็คือมหาอำนาจทั้งหลาย (หรือประเทศอำนาจน้อยอย่างไทย) จะมุ่งไปทางไหนดีในช่วงที่การเมืองโลกคุกรุ่นแต่การระบาดก็ยังเลวร้าย?

สุนทรพจน์ของ ไอเซนฮาวร์ ยังเป็นการเสนอหลักการ Guns versus butter (ปืนกับเนย) เป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้รัฐพิจารณาว่า ควรจะทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพื่อความมั่นคงทางการทหาร หรือควรจะทุ่มงบประมาณเพื่อปากท้องของประชาชน ซึ่งก็คือความมั่นคงด้านอาหารและสวัสดิการชีวิต หรือแม้แต่วัคซีน ซึ่งถือเป็นสินค้าพลเมือง (civilian goods) อย่างหนึ่ง

สุนทรพจน์ของ ไอเซนฮาวร์ กล่าวไว้เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว มาวันนี้ ราคาค่างวดของอาวุธสงครามพุ่งสูงขึ้นมากมายมหาศาล เงินเฟ้อยังสูงลิ่ว เมืื่อไม่กี่ปีก่อนจากขัอมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เครื่องบินขับไล่ F-35A มีมูลค่าถึง 157 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่างบประมาณสร้างโรงเรียนดีๆ ถึง 10 แห่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 148 ล้านดอลลาร์

แต่มูลค่าขายของ F-35A ยังไม่รวมต้นทุนการวิจัยและพัฒนาที่สูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์!

ตอนนี้ เครื่องบินขับไล่ F-35A ราคาตกลงมาประมาณ 80 - 72 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งก็ยังไม่ใช่ถูกๆ และนำเงินจำนวนนี้ไปใช้อย่างอื่นได้อีกมาก

หลักเศรษฐศาสตร์ของ Guns versus butter จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศหนึ่งได้ถ่วงดุลความจำเป็นด้านความมั่นคงทางทหารและความมั่นคงของชีวิตประชาชนซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนๆ กัน

แต่เราต้องระวังให้ดี เพราะนักการเมืองอาจไม่ได้มองเรื่องความจำเป็นของบ้านเมืองหรือประชาชนเป็นหลัก เพราะการเลือกที่ถูกต้องจะทำให้นักการเมืองได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง

ดังนั้นการที่รัฐบาลหรือนักการเมืองเลือกที่จะซื้ออาวุธอาจไม่ได้หมายความว่าเขารักชาติ หรือหากเขาเลือกที่จะลงทุนกับวัคซีนก็ไม่ได้หมายความว่าเขาห่วงประชาชนจากใจจริง เขาอาจคิดคำนวณแล้วว่าการเลือกสิ่งนี้จะทำให้เขาได้ประโยชน์ทางการเมือง

มีกรณีที่น่าสนใจของประธานาธิบดีลอนดอน บี. จอห์นสัน ซึ่งใช้นโยบาย Guns versus butter ไปพร้อมๆ กัน ดูเหมือนจะถ่วงดุลได้ดี แต่ผลลัพธ์ออกมาน่ากังขา เพราะในขณะที่จอห์นสันริเริ่มโครงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจขนานใหญ่ มีการลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างมโหฬาร นั่นคือ Great Society และยังประกาศสงครามกับความยากจน แต่เขาเป็นประธานาธิบดีที่ลงไปเล่นกับสงครามเย็นมากที่สุดคนหนึ่ง โดยส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงครึ่งล้านคน

จอห์นสันใช้นโยบายแบบ "butter" ด้วยการรบกับความยากจนและปัญหาสุขภาพของประชาชนจนทำให้เขาชนะการเลือกตั้งในปี 1964 แต่เขาใช้นโยบาบย Guns ด้วยการส่งลูกหลานคนอเมริกันไปตายในเวียดนามและอินโดนจีนจนทำให้ประชาชนเกลียดชังและทำให้เขามี "ชื่อเสีย" ในประวัติศาสตร์

จอห์นสันเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่ตกอยู่ในสภาพเหมือนหลายประเทศตอนนี้ นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจและสาธารณสุขก็ต้องทำ ความมั่นคงของโลกก็เปราะบางจนต้องเตรียมพร้อมรับกับการเผชิญหน้าในสงครามเย็นครั้งใหม่

การเลือกถูกทางจะทำให้ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่หากเลือกผิดก็เตรียมเก็บของออกจากทำเนียบได้เลย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน