posttoday

เราอาจจะรอดจากโควิด แต่อาจจะไม่รอดจากโลกร้อน

26 มิถุนายน 2563

หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกของเราจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้แล้ว

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เล่นงานในแถบยุโรป หรืออุณหภูมิแถบอาร์กติกที่สูงเป็นประวัติการณ์ บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่งสัญญาณเตือนมาตลอดว่า หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกของเราจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้แล้ว 

ด้วยเหตุนี้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสจึงทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 ว่าจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะพยายามอย่างหนักไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) บอกว่าวิธีที่จะคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสคือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7.6% ทุกปีนับตั้งแต่ปี 2020-2030

ทว่าล่าสุด UNEP เตือนว่าแม้แต่ละประเทศจะทำตามข้อตกลงปารีสแล้ว อุณหภูมิของโลกก็ยังจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030-2052 ซึ่งยังอยู่ในช่วงชีวิตของผู้ใหญ่และเด็กที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และจะพุ่งขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า

ถ้าโลกร้อนขึ้น 3 องศาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย

พื้นที่แถบอาร์กติกอาจมาถึงขั้นที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเก่าได้ อุณหภูมิแถบขั้วโลกจะสูงขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็งไปราว 400 ลูกบาศก์กิโลเมตรภายใน 40 ปี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า เขตขั้วโลกเหนือแถบวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38 องศาเซลเซียส ทั้งที่อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนในแถบนั้นเพียง 13.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น และในแถบไซบีเรียยังร้อนผิดปกติจนเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่

เมื่อธารน้ำแข็งละลายก็จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเล ภายในปี 2050 เมืองชายฝั่งที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 570 เมืองทั่วโลก อาทิ นิวยอร์ก ไมอามี กรุงเทพฯ เซี่ยงไฮ้ กรุงจาการ์ตา มีสิทธิ์ถูกน้ำทะเลท่วม ส่งผลกระทบกับประชากรราว 800 ล้านคน  และภายในปี 2100 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 1 เมตร

น้ำแข็งทะเล (Sea Ice) ละลาย

โดยปกติน้ำแข็งทะเลที่มีหิมะปกคลุมทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับไปนอกโลกราว 80% ขณะที่มหาสมุทรดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ 95% แต่เมื่อน้ำแข็งทะเลเริ่มละลาย พื้นผิวหน้าของมหาสมุทรก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งดูดซับความร้อนมาสะสมจนอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งไม่สามารถก่อตัวได้ในฤดูหนาว เมื่อไม่มีน้ำแข็งสะท้อนความร้อนกลับ มหาสมุทรก็ยิ่งดูดความร้อน กลายเป็นวงจรซ้ำๆ

นอกจากนี้ เมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำให้โลกร้อนขึ้น

ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ละลาย

เราอาจจะรอดจากโควิด แต่อาจจะไม่รอดจากโลกร้อน

ชั้นดินเยือกแข็งก็ไม่ต่างจากกล่องแพนดอร่า หรือกล่องแห่งหายนะตามตำนานของกรีก เพราะเป็นแหล่งแช่แข็งแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ ไว้มากมายนับพันๆ ปี หรืออาจเป็นล้านปีเพื่อรอการคืนชีพ เมื่อชั้นดินเยือกแข็งละลายเพราะโลกร้อน เชื้อโรคยุคโบราณเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมา

เมื่อเดือน ส.ค. 2016 มีเด็กชายวัย 12 ปีที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรยามัลในแถบไซบีเรียของรัสเซียเสียชีวิต และชาวบ้านอีกอย่างน้อย 20 รายมีอาการป่วยหลังจากติดเชื้อแอนแทร็กซ์

มีการสันนิษฐานว่าเมื่อ 75 ปีที่แล้วมีฝูงกวางเรนเดียร์ล้มตายเพราะโรคแอนแทร็กซ์ โดยที่ซากของพวกมันก็ถูกฝังอยู่ใต้น้ำแข็ง จนกระทั่งเกิดคลื่นความร้อนเมื่อปี 2016 ทำให้ชั้นดินเยือกแข็งละลาย เชื้อแอนแทร็กซ์จึงถูกปลดปล่อยออกมาปนเปื้อนในดินและน้ำจนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยขั้นแรกมีกวางเรนเดียร์ติดเชื้อล้มตายกว่า 2,000 ตัว ก่อนจะติดสู่มนุษย์

คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนในหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งจะกลายเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่แย่ก็คือ หากคลื่นความร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนอุณหภูมิร่างกายมนุษย์แตะ 41 องศาเซลเซียส ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะหยุดทำงาน อาทิ ไม่ผลิตเหงื่อ หายใจตื่นและเร็ว สมองจะเริ่มขาดเลือด และอวัยวะภายในล้มเหลว โอกาสเสียชีวิตมีสูง

ระบบนิเวศพังทลาย

กว่า 40% ของป่าแอมะซอนซึ่งเป็นปอดของโลกจะถูกทำลาย ทำให้พื้นดินได้รับความร้อนมากขึ้นจนพืชยืนต้นตายและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทนที่จะดูดซับไว้ตามปกติ มีการคาดการณ์ว่าพืชที่ล้มตายจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 500 ตัน สุดท้ายเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยิ่งกระตุ้นให้ภาวะโลกร้อนแย่ลง นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตราว 1 ใน 3 บนโลกจะเผชิญกับการสูญพันธุ์

พายุรุนแรงขึ้น

ประเทศแถบชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งตะวันตกของสหรัฐและอ่าวเม็กซิโก ประเทศแถบแคริบเบียน แปซิฟิก และอ่าวเบงกอล จะเจอพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เนื่องจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้พายุทวีกำลัง

ปะการังฟอกขาว

เราอาจจะรอดจากโควิด แต่อาจจะไม่รอดจากโลกร้อน

ช่วงก่อนทศวรรษ 1970 อุณหภูมิในมหาสมุทรไม่เคยร้อนจนกระทั่งเกิดปะการังฟอกขาวตาย แต่หลังจากที่โลกเริ่มร้อนขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์ฟอกขาวก็เกิดถี่ขึ้น แต่หากโลกเรายังร้อนขึ้นต่อเนื่อง ปะการังเหล่านี้จะฟอกขาวตายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอาจหายไปทั้งหมด

หลายปรากฏการณ์ข้างต้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยตรง แต่สุดท้ายแล้วผลกระทบทั้งหมดจะย้อนกลับมาถึงตัวเราไม่ช้าก็เร็ว

แม้ว่าในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะลดลงชั่วคราวอันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์และการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลับมารุนแรงอีกหรืออาจจะหนักกว่าเดิมเพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วงกักกันโรค

และยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต่างๆ จะละเลยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เคยตั้งเป้ากันไว้ เพราะจำเป็นต้องยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่สะดุดไปนานหลายเดือนหรืออาจจะลากยาวหลายปี

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกในปี 2007-2009 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลง 1.4% ในปี 2009 แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 5.9% ในปี 2010

เห็นได้ชัดว่ามลภาวะทางอากาศลดลงแค่นิดเดียวในช่วงเศรษฐกิจชะงักงัน แต่เมื่อถึงโอกาสที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง

สำหรับครั้งนี้เราอาจจะรอดจากโคโรนาไวรัส แต่อาจจะไม่รอดจากภาวะโลกร้อน