posttoday

จีนคิดทฤษฎีสงครามการค้า แต่ผู้ที่จะใช้มันฆ่าจีนคือสหรัฐ

17 มิถุนายน 2563

ภายหลังการระบาด (หรืออาจจะระหว่างการระบาดของโควิด-19 ด้วยซ้ำ) สงครามครั้งใหญ่ของโลกจะเกิดขึ้น

สงครามในอนาคต (อีกไม่นานเกินรอ) มันไม่ใช่ทั้งสงครามเย็นหรือสงครามร้อน แต่เป็นการสู้กันด้วยอาวุธทางเศรษฐกิจ

เป็นเรื่องบังเอิญที่สหรัฐเงื้อหมัดแรงซัดจีนก่อนที่จะเกิดการระบาด จากนั้นทั้ง 2 ประเทศก็แลกกันคนละหมัดสองหมัดในสงครามการค้าก่อนที่จะตกลงกันได้ก่อนที่สหรัฐจะเพลี่ยงพล้ำให้กับการระบาดจนกลายเป็น "แชมป์" ยอดติดเชื้อมากที่สุดในโลก

โรคระบาดครั้งนี้สร้างความพินาศย่อยยับให้เศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล ใครที่ฟื้นไม่ทันมีสิทธิ์ถูกคู่แข่งฉวยโอกาสทำสงครามเศรษฐกิจซัดลงไปกองอีกรอบแน่ๆ

แต่สหรัฐไม่ได้มีชิงมวยอ่อนขนาดนั้น และจีนไม่ใช่มวยรอจังหวะเข้าทำเก่งๆ

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนแนะนำยุทธศาสตร์การรบของจีนผ่านเรื่อง "สงครามไร้ขีดจำกัด" ตอนนี้สงครามร้อนยังไม่เกิดขึ้นแม้ว่าจีนจะเริ่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์อย่างขมักเขม้น เบื้องต้นจะเป็นการตัดกำลังทางเศรษฐกิจกันก่อน ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ส่วนนี้ด้วย

ไมเคิล พิลส์บิวรี กล่าวในหนังสือ "The Hundred-Year Marathon" ว่า ตอนแรกที่เขาค้นพบยุทธศาสตร์อันก้าวร้าวของจีน เขาได้นำเสนอเรื่องนี้กับนักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองของสหรัฐและเจ้าหน้าที่ต่างๆ แต่พวกนั้นไม่เชื่อ โดยเขาอ้างว่าเป็นเพราะผู้นำจีนมักจะบอกกับประชาชาติอื่นๆ ว่า จีนจะไม่มีวันเป็นมหาอำนาจผูกขาด (อย่างที่สหรัฐเป็น)

ในหนังสือระบุว่า "จุดแข็งของมาราธอน 100 ปี ก็คือการปฏิบัติการแบบล่องหน ถ้าจะยืมคำพูดแบบภาพยนตร์เรื่อง Fight Club ก็คือกฎข้อแรกของมาราธอน 100 ปี คืออย่าพูดเรื่องมาราธอน 100 ปี"

แต่สมมติฐานนี้ดูจะไม่สมเหตุผล เพราะแนวคิดมาราธอน 100 ปี (หรือความฝัน 100 ปีของจีน) เป็นที่พูดถึงอย่างกวางขวาง มีหนังสือตีพิมพ์หลายครั้ง อ่านกันในสถาบันชั้นนำของโลก

และแม้แต่หนังสือแนวยุทธศาสตร์ที่เขียนโดยนายทหารจีนอย่างเรื่องสงครามไร้ขีดจำกัดก็ยังได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่โดยแพล็ตฟอร์มขององค์กรภายใต้ของ CIA ได้ แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการล่องหนได้อย่างไร?

สายเหยี่ยวต้านจีนในวอชิงตันจึงมีจุดอ่อนในเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่กระนั้น เราทราบดีว่าการเมืองสหรัฐขับเคลื่อนด้วยการล็อบบี้ หากพลังแห่งการล็อบบี้มากพอที่จะทำให้คองเกรสหรือคนในทำเนียบขาวหวั่นไหวได้ "เรื่องล่า" ของสายเหยี่ยวนี้ก็อาจกลายเป็น "เรื่องจริง" ได้เช่นกัน

เหมือนที่ทรัมป์เชิญสายเหยี่ยวต่อต้านจีนมาคุมทิศทางนโยบายจีนในเวลานี้ ผลเป็นอย่างไรนั้นเราก็เห็นๆ กันอยู่

แต่สงครามการค้าที่สหรัฐเริ่มต้นขึ้นนั้น จีนอาจจะทราบล่วงหน้ามานานแล้ว ในหนังสือสงครามไร้ขัดจำกัดก็เอ่ยถึงเรื่องนี้ และในเวลาต่อมามีหนังสือชื่อ "สงครามการเงินไร้ขีดจำกัด" เผยแพร่ในจีนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวฮ่องกงคนหนึ่งเมื่อปี 2009 ซึ่งเขาผู้นี้เสนอทฤษฎี "สงครามการเงิน" ที่สหรัฐจะใช้โจมตีจีน

คนๆ นี้มีชื่อว่า หลางเสียนผิง (Larry Hsien Ping Lang) หนังสือของเขามีชื่อที่ละม้ายคล้ายคลึงกับหนังสือหลายเล่มที่บทความชุดนี้เอ่ยถึงมีชื่อว่า "วาทะหลางเสียนผิง : สงครามการเงินไร้ขีดจำกัด"

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนหากจะยังคงจำกันได้ว่ารัฐบาลสหรัฐพยายามบีบให้จีนทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นหรือกล่าวหาว่าจีนตรึงค่าเงินหยวนเพราะค่าเงินหยวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ

แต่หลางเสียนผิงชี้ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐคือการบีบให้จีนเปิดเสรีตลาดการเงิน เมื่อจีนถูกบีบจนไม่มีทางเลือกและต้องเปิดตลาดอ้าซ่า สหรัฐจะได้โอกาสส่ง "นักรบ" เข้าไปถล่มสมรภูมิการเงินของจีน

นักรบคนสำคัญของสหรัฐในสงครามการเงินคือจอร์จ โซรอสและจอห์น พอลสัน

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในจีนเองไม่ได้มีความรู้สึกเกลียดกลัวจอร์จ โซรอส แถมยังมีหนังสือมากมายเล่าถึงความสำเร็จของพ่อมดการเงินรายนี้ในแบบชื่นชมราวกับว่าเขาคือแบบอย่างนักทุนนิยมอันประเสริฐ และจากประสบการณ์ของผู้เขียน ชาวจีนดูเหมือนจะไม่ทราบว่าโซรอสมีภาพลักษณ์ที่เลวร้ายเพียงในสำหรับผู้ที่ผ่านวิกฤตการเงิเอเชียเมือปี 1997 

ความเจ็บปวดของการถูกบีบให้เปิดเสรีตลาดการเงินนั้นคนไทยเคยลิ้มรสกันมาแล้วหลังเกิดวิกฤตการเงิน และหนึ่งในผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินในไทยก็คือจอร์จ โซรอสนั่นเอง

การเปิดเสรีตลาดการเงินเป็นอาวุธชั้นยอดของสหรัฐที่มักจะขายพ่วงกับระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมุนษยชน

แต่ว่ากันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจการเมืองแล้ว ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องเปิดตลาดให้เสรีก็ได้ เพราะตลาดเสรีเป็นแนวคิดของลัทธิทุนนิยม

และทุนนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย แต่มันมักจะอำพรางตัวอยู่ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในหนังสือสงครามไร้ขีดจำกัด หน้า 21 - 22 ระบุว่า "การจงใจให้ตลาดหุ้นพังพินาศ การโจมตีด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศศัตรูเกิดความผิดปกติ หรือการปล่อยข่าวลือในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับผู้นำของประเทศศัตรู ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่เรื่องอาวุธได้ทั้งสิ้น"

จากข้อความนี้เท่ากับจีนรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจเป็นอาวุธอันฉกาจ แต่จีนไม่ได้ใช้มันเพราะคนที่ใช้มันมาตลอดคือสหรัฐ

หลางเสียนผิงชี้ว่าสหรัฐเคยใช้ไม้นี้สำเร็จมาแล้วกับวิกฤตค่าเงินเยนในทศวรรษที่ 80 จนทำให้ญี่ปุ่นที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจกลายเป็นง่อยนับแต่นั้นจนถึงบัดนี้ 

วิธีการอธิบายแบบนี้มักถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยเรียกว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด แต่ในในแง่หนึ่งมันเป็นการอธิบายที่สมเหตุสมผลในกรอบวิธีคิดแบบมาร์กซิสม์ที่มองว่าประเทศทุนนิยม (อย่างสหรัฐ) จะต้องสูบเลือดสูบเนื้อประเทศอื่นๆ เพื่อให้ระบบทุนนิยมมันเดินต่อไปได้

การสูบเลือดสูบเนื้อแบบนี้คือลัทธิจักรพรรดินิยม (Imperialism) และหนังสือของหลางเสียนผิงเล่มหนึ่งก็วิจารณ์เรื่องนี้โดยตรงโดยเรียกสงครามการเงินว่าเป็นลัทธิจักรพรรดินิยมใหม่ (New Imperialism)

จีนเป็นเป้าหมายที่สหรัฐพยายามเล่นงานให้ได้ แต่ผ่านมาสิบยี่สิบปีแล้วสหรัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่งมาถึงยุคของโดนัลด์ ทรัมป์

ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดีแล้วที่ทรัมป์บ่นเรื่องการเอาเปรียบของจีนโดยตรึงค่าเงินให้อ่อนทำให้ธุรกิจอเมริกันแข่งกับจีนไม่ได้ และเมื่อหาเสียงนโยบายหนึ่งที่เขามุ่งมั่นเป็นพิเศษคือการตอบโต้จีนด้วยการขึ้นภาษีแล้วเขาก็ทำแบบนั้นจริงๆ

ไม่เพียงเท่านั้นในวันที่ 5 สิงหาคม 2019 กระทรวงการคลังสหรัฐยังระบุอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็น "ผู้บิดเบือนค่าเงิน" (Currency Manipulator) โดยทรัมป์เป็นคนกดดันให้กระทรวงการคลังทำเช่นนี้ แต่มันเป็นการ ตอบโต้ที่ขวานผ่าซากเกินไป แม้แต่ IMF ที่เป็นองค์กรในอิทธิพลของสหรัฐก็ยังไม่ยอมรับการตราหน้าจีน แบบนี้

ตอนนี้สงครรามไร้ขีดจำกัดที่ควรจะทำแบบลับๆ ล่อๆ กลายเป็นสงครามเศรษฐกิจที่ขึ้นมาบนดินชัดเจน เพราะทรัมป์ไม่ใช่คนประเภท "ซ่อนดาบในรอยยิ้ม" เหมือนผู้นำสหรัฐที่แล้วๆ มา เขาเป็นคนที่คิดจะชนก็ชนเลย

มันทำให้สงครามไร้ขีดจำกัดที่ทำกันแบบนอกระบบ กลายเป็นสงครามในรูปแบบขึ้นมาจริงๆ

หลางเสียนผิงบอกว่า เป้าหมายของสหรัฐที่บีบให้จีนเลิกตรึงค่าเงินหยวนก็คือต้องการลดการส่งออกของจีน เมื่อจีนส่งออกน้อยลงเศรษฐกิจก็จะอ่อนแอลง พร้อมๆ กับที่เงินหยวนลอยตัวเป็ยนอิสระแล้วก็เป็นการเปิดโอกาสให้ถูกโจมตีได้ง่ายด้วย

นี่คือเป้าหมายสุดท้ายของสงครามการเงิน 

ปรากฎว่าทรัมป์ชิงสุกก่อนห่ามสั่งตัดตอนการส่งออกนำเข้าของจีนเสียก่อน แถมการตราหน้าจีนว่าเป็นผู้บงการค่าเงินก็ยังไม่ได้ผลเพราะ IMF ไม่เล่นด้วย ในปีต่อมาคือ 2020 สหรัฐก็ถอนคำประกาศนี้ออกไปหลัง จากดีลกันได้กับจีน

แต่จีนไม่รอช้าสั่งให้เสริมกำลังการบริโภคในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก นัยว่าเพื่อลดความเสียหายหากสงครามการค้า-สงครามการเงินจะระเบิดขึ้นมาอีก

การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดกระแส "ปฏิโลกาภิวัฒน์" และเกิดความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาตัวเอง-นิยมชาติตัวเอง ทำให้สหรัฐใช้อาวุธทางเศรษฐกิจเล่นงานจีนได้ยากขึ้น

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน