posttoday

จะเกิดสงครามระหว่างจีนกับอินเดียหรือไม่?

16 มิถุนายน 2563

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หิมาลัยระอุ เมื่อ 2 ยักษ์แห่งเอเชียจู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากันในช่วงที่โลกยังไม่คลายจากการระบาดใหญ่

1. จีนกับอินเดียมีพรมแดนทับซ้อนกัน 4,057 กิโลเมตรและเป็นเหตุให้เกิดสงครามมาแล้วในปี 1962 (โดยจีนเป็นฝ่ายบุกพร้อมๆ กันหลายจุดแต่เป็นฝ่ายยอมหยุดยิงเอง) ยังไม่นับการเผชิญหน้าของทหารตามชายแดนหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในแคว้นลาดักของอินเดีย

2. เป็นเรื่องปกติก็ว่าได้สำหรับประเทศที่มีพรมแดนยาวหลายพันกิโลเมตรแต่มีพื้นที่ขัดแย้งกันถึง 2 ใน 3 ส่วน ดังนั้นจึงยากที่อินเดียและจีนจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน การปะทะครั้งรุนแรงทีสุดก่อนปี 2020 คือกรณีที่ดอกลัม (Doklam) รัฐสิกขิม เมื่อปี 2017 หลังจากนั้นจีนเพิ่มแสนยานุภาพในทิเบตขึ้นมามาก

3. และในปี 2020 ทั้ง 2 ประเทศก็เกิดการปะทะอีกครั้งซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเหตุการปกติเริ่มจากการปะทะกันของทหารสองฝ่ายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ทะเลสาบปางกงโซ (Pangong Tso) ที่คาบเกี่ยวระหว่างแคว้นลาดักของอินเดียและทิเบตของจีน ในวันนั้นทหารสองฝ่ายขว้างหินใส่กันแล้วต่อยตีด้วยมือเปล่าแล้วก็จบกันไป

4. ต่อมาวันที่ 10 กับ 11 พฤษภาคม ทหารจีนกับอินเดียตะลุมบอนกันอีกครั้งคราวนี้มีทหารอินเดียบาดเจ็บ 72 นาย จีนยังส่งเฮลิคอปเตอร์มาบินวนเวียนใกล้กับชายแดนแต่ไม่ได้ล้ำเข้ามาในอินเดีย

5. วันเดียวกันนั้น (10 พฤษภาคม) ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรที่รัฐสิกขิมแถบหุบเขามูกูทัง (Muguthang Valley) ทหารจีนตะโกนข้ามพรมแดนว่า "นี่ไม่ใช่แผ่นดินของคุณ นี่ไม่ใช่นดินแดนอินเดีย ออกไปเถอะ" ทำให้นายทหารอินเดียชกนายทหารจีนนายหนึ่งจนเลือดออก แล้วมีการต่อยตีกันจนบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย

6. วันที่ 21 พฤษภาคม สื่ออินเดียรายงานว่าทหารจีนล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนที่หุบเขาแม่น้ำกัลวัน (Galwan River) ในแคว้นลาดักเพื่อคัดค้านการสร้างถนนของอินเดียในพื้นที่นั่น และในวันที่ 24 พฤษภาคมมีรายงานว่าทหารจีนประมาณ 800–1000 นายข้ามเข้ามาในเขตอินเดีย 3 จุดในแคว้นลาดัก

7. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียและจีนได้หารือกันและดูเหมือนว่าจะเคลียร์กันได้เรื่องเหตุปะทะยิบย่อยที่เกิดขึ้น แต่แล้วในปลายเดือนพฤษภาคมจีนส่งทหารเข้ามาในพื่นที่ทับซ้อนในลาดักหลายพันนายทำให้อินเดียต้องส่งทหารเข้าไปประจำการในลาดักเพิ่มเติม

8. จนกระทั่งในวันที่ 15 มิถุนายน ก็เกิดการปะทะของทหารจีนกับอินเดียอีกครั้งที่หุบเขาแม่น้ำกัลวัน คราวนี้ทหารอินเดีย 3 นายทหารจีน 5 นายถึงกับเสียชีวิตจากการตะลุมบอนสองฝ่ายโดยใช้ก้อนหินกับดาบปลายปืนสู้กันแต่ไม่มีการยิง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่มีคนตายจากความขัดแย้งจีน-อินเดีย

9. เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมจีนกับอินเดียถึงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกันมากขึ้นแล้วจะเกิดสงครามระหว่าง 2 ประเทศหรือไม่? คำถามนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่เกิดการปะทะครั้งแรกๆ ในปีนี้ จนกระทั่งมันเริ่มจะวิตกมากขึ้นเมื่อมีคนเสียชีวิต

10. ผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงทัศนะต่างๆ กัน เช่น ศาสตราจารย์เทย์เลอร์ ฟราเวล (Taylor Fravel) แห่งสถาบัน MIT กล่าวว่า จีนกำลังมีปฏิกริยาต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียในลาดักซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางด้านยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของจีนในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งการระบาดนี้ทำให้เศรษฐกิจจีนและความสัมพันธ์ทางการทูตของจีนต้องเสื่อมถอยลง

11. คนที่คิดคล้ายๆ กันคือ นายพลเกษียณ ไซเอด อาตา ฮาสเนน (Syed Ata Hasnain) แห่งกองทัพอินเดียที่กล่าวว่าการที่จีนเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เพื่อบงการยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านยุคหลังโควิด-19 เพื่อให้อินเดียหันมาเพ่งเล็งที่ภูมิภาคหิมาลัยแทนที่จะเป็นภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากจีนมีความพร้อมในแถบหิมาลัยมากกว่า แต่ไม่มีฐานที่มั่นที่จะรับมืออินเดียได้ดีนักในแถบมหาสมุทรอินเดีย 

12. นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าจีนต้องการจะ "แสดงเพาเวอร์" ในแถบลาดักหลังจากที่อินเดียตัดสินใจแยกแคว้นลาดักออกจากแคว้นชัมมูและกัษมีร์เมื่อปีที่แล้วจากนั้นกำหนดให้ลาดักเป็นดินแดนของรัฐบาลกลาง เรื่องนี้ทำให้จีนอาจรู้สึกได้ว่าอินเดียกำลังจะ "เคลม" พื้นที่ทับซ้อนในลาดัก หนึ่งในผู้ที่มีความเห็นในทำนองนี้คือเคาตัม พัมพะวาเล (Gautam Bambawale) นักการทูตชาวอินเดียที่เคยประจำการอยู่ที่จีน 

13. เหตุผลนี้ค่อนข้างมีน้ำหนักเพราะอามิต ชาห์ (Amit Shah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอินเดียประกาศต่อรัฐสภาว่าดินแดนอักไสจิน (Aksai Chin) ที่จีนครอบครองอยู่นั้นที่จริงแล้วคือดินแดนของลาดัก ท่าทีนี้ตอกย้ำว่าลึกๆ แล้วนักการเมืองอินเดียยังต้องการจะอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับลาดักมาโดยตลอด 

14. นอกจากนี้ยังมีแง่มุมด้านการเมืองระดับมหภาค เช่น ราชัน โมหัน (Raja Mohan) ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาแห่งเอเชียใต้ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่าเป็นเพราะดุลอำนาจระหว่างจีนและอินเดียที่เริ่มจะไม่สมดุลเป็นสาเหตุหลักของข้อพิพาทครั้งนี้ ส่วนสาเหตุที่สมดุลเปลี่ยนไปก็เพราะอินเดียเอนเอียงไปทางสหรัฐมากขึ้นจนทำให้จีนไม่พอใจ 

15. ความเห็นของโมหันอาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าอินเดียเพิ่งจะเอนเอียงมาทางสหรัฐ แต่อินเดียเคยขอความช่วยเหลือสหรัฐมาแล้วครั้งหนึ่งช่วงที่ทำสงครามกับจีนเมือปี 1962 ก่อนที่จีนจะประกาศหยุดยิงได้ไม่นานสหรัฐได้เตรียมส่งเรือบรรทุกครื่องบินมาช่วยและยังส่งยุทธภัณฑ์สนับสนุนอินเดียด้วย 

16. สงครามจีน-อินเดียเมื่อ 58 ปีก่อนไม่ได้มีแค่จีนกับอินเดียเท่านั้นที่รบกัน แต่จีนรบอย่างเดียวดายโดยที่อินเดียได้รตับการสนับสนุนด้านอาวุธชั้นเลิศจากสหภาพโซเวียต ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นมหามิตรกับจีนแต่มาแตกคอกันไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น แถมอินเดียยังได้รับแรงหนุนจากสหรัฐด้วย เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขในตอนนี้ หากจะเกิดสงครามอีกครั้ง ก็คงจะเป็นอีกครั้งที่จีนต้องรบกับอินเดียอย่างเดียวดายอีกเช่นเคย

17. แต่จีนก็คงเตรียมใจเอาไว้แล้ว ดังที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวกับกองทัพเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมว่าให้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและเตรียมพร้อมรับกับสมรภูมิการรบ เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีนอย่างลึกซึ้ง

AFP PHOTO / Diptendu DUTTA