posttoday

เมื่อทรัมป์ยึดอำนาจ สั่งปราบม็อบได้โดยไม่ต้องฟังเสียงใคร

02 มิถุนายน 2563

แม้ตามปกติกองทัพไม่สามารถยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายพลเรือน แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษส่งทหารปราบม็อบได้โดยไม่ต้องผ่านสภา

ในวันที่การประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตเนื่องจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของ จอร์จ ฟลอยด์ ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่า “ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผมจะส่งทหารเข้าพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาให้พวกเขา”

คำถามก็คือ ทรัมป์มีอำนาจทำได้หรือไม่

ภายใต้กฎหมาย Posse Comitatus Act  ที่บังคับใช้มื่อปี 1878 กองทัพไม่สามารถยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ยึดทรัพย์สิน หรือค้นตัวบุคคล

อย่างไรก็ดี Insurrection Act หรือกฎหมายปราบจลาจลที่บังคับใช้ในปี 1807 มีบทบัญญัติยกเว้นให้ประธานาธิบดีสหรัฐส่งทหารลงพื้นที่เพื่อควบคุมความวุ่นวายที่ไม่สามารถใช้กฎหมายทั่วไปบังคับใช้ได้ โดยมีข้อแม้ว่าผู้ว่าการรัฐจะต้องร้องขอ

ทว่า แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นว่าคัดค้านการส่งทหารเข้าพื้นที่ เหมือนอย่างที่ผู้ว่าการรัฐหลายแห่งประกาศชัดเจนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็ยังมีช่องว่างให้ทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ว่าการรัฐหรือสภาคองเกรส

หนึ่งในข้อยกเว้นก็คือ เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นละเมิดสิทธิของประชาชน ตัวอย่างเช่นในปี 1957 ประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ ส่งหน่วยพลร่มที่ 101 และกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ไปยังเมืองลิตเติลร็อก รัฐอาร์คันซอ เพื่อบังคับใช้คำพิพากษาของศาลที่อนุญาตให้นักเรียนผิวดำ 9 คนเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มีแต่คนผิวขาว

ต่อมาประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี และประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ก็ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันนี้เพื่อบังคับใช้คำสั่งศาลเกี่ยวกับการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในหลายรัฐทางตอนใต้ของประเทศ

จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆ ใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อปกป้องมโนธรรมของคนในชาติ นั่นคือการต่อต้านการเหยียดคนให้ต่ำกว่าคน

จากข้อมูลของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐ (Congressional Research Service) ระบุว่ามีการใช้กฎหมาย Insurrection Act ครั้งสุดท้ายในปี 1992 หลังจากเกิดเหตุจลาจลในเมืองลอสแองเจลิส เพื่อประท้วงที่ศาลพิพากษาให้ตำรวจผิวขาว 4 นายรุมทำร้ายร่างกาย ร็อดนีย์ คิง คนงานก่อสร้างผิวสีบาดเจ็บสาหัส พ้นผิด

แต่ในกรณีของคิงนั้นผู้ว่าการรัฐเป็นฝ่ายร้องของให้รัฐบาลกลางส่งทหารเข้าพื้นที่

นอกจากนี้สำนักข่าว NBC ของสหรัฐรายงานว่า ยังมีอีกเงื่อนไขหนึ่งตามกฎหมายที่ทรัมป์ยังไม่ได้ทำนั่นคือ ต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงแยกย้ายกันกลับบ้านภายในเวลาที่กำหนดก่อน หากผู้ประท้วงยังฝ่าฝืนรวมกลุ่มกันอยู่จึงจะใช้ Insurrection Act ส่งทหารเข้าพื้นที่ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับเหตุจลาจลครั้งล่าสุดนี้ สตีเฟน วลาเดค ศาสตรจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเทกซัส มองว่า สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นที่ทรัมป์จะใช้กฎหมาย Insurrection Act โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส

แล้วจะมีใครหยุดทรัมป์ได้บ้าง?

ในทางทฤษฎีศาลมีอำนาจคัดค้านการประกาศใช้ Insurrection Act ของทรัมป์ ทว่าผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีโอกาสน้อยที่ศาลจะหยุดยั้งทรัมป์

โรเบิร์ต เชสนีย์ ศาสตราจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเผยว่า ที่ผ่านมาศาลมักจะไม่ยื่นมือเข้ามาแตะต้องการใช้อำนาจสั่งการทางทหารของประธานาธิบดี ขณะที่ สตีเฟน วลาเดค จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เผยว่าการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างแท้จริงถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

จึงไม่มีใครกล้าแตะต้องการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดีมีสิทธิ์ให้คุณให้โทษอัยการสูงสุด

เชสนีย์ยังกล่าวอีกว่า สุดท้ายคงต้องพึ่งอำนาจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะเขี่ยผู้นำประเทศลงจากตำแหน่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากเจ้าของคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายปราบจลาจลโดยไม่ฟังเสียงใคร