posttoday

เบื้องหลังการล่มสลายของอาณาจักรน้ำมันสิงคโปร์

21 เมษายน 2563

ฤา Hin Leong จะเป็นการล่มสลายของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางน้ำมันโลก?

ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์โดยดิ่งลง 305% มาอยู่ที่ -36.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 20 เมษายนตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่ปรับตัวขึ้นมาได้ทีละน้อยๆ แต่แนวโน้มของมันยังไม่ดีนัก

สาเหตุที่ราคาน้ำมันตกลงมี 2 เรื่อง คือสงครามปั๊มการผลิตเพิ่มเพื่อดัมพ์ราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคม แต่ยังไม่ทันไรราคาน้ำมันก็ตกลงตามธรรมชาติเพราะดีมานด์ไม่มี หลังจากประเทศต่างๆ ใช้มาตรการปิดเมือง

แม้ว่าซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียจะหันมาสงบศึกและตกลงที่จะลดกำลังการผลิตลงในนาม OPEC+ แต่ทุกอย่างก็สายเกินการณ์ ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีมากเกินไป มากจนมันล้นเกินไม่มีคลังจะเก็บ ทำให้ราคายิ่งตกลงไปอีก สถานกาณ์แบบนี้คนเจ็บคือประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริษัทค้าน้ำมัน หนึ่งในนั้นคือ Hin Leong Trading แห่งสิงคโปร์

ต่อไปนี้คือสรุปย่อเรื่องราวการล่มสลายของบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

1. Hin Leong เป็นบริษัทค้าน้ำมันที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแต่เรารู้เรื่องภายในของบริษัทแห่งนี้น้อยมาก ก่อตั้งขึ้นในปี 2506 โดยผู้อพยพชาวจีนในสิงคโปร์ชื่อว่า OK Lim หรือ Lim Oon Kuin ที่ต่อมาร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี บริษัทนี้คือยักษ์ใหญ่ระดับโลกในด้านการขนส่งเชื้อเพลิงโดยมีฐานบัญชาการอยู่ในสิงคโปร์

2. ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา Hin Leong (ออกเสียงแบบภาษาจีนกลางว่า ซิงหลง) กลายเป็นหนึ่งในบริษัทค้าน้ำมันที่น่าเชื่อถือที่สุด มีรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นชื่อในเรื่องเหลี่ยมการต่อรองระดับเซียนที่ทำให้คู่เจรจาถึงกับเหงื่อตก

3. เพราะบริษัทนี้เก็บความลับทางธุรกิจเอาไว้อย่างดีทำให้ยิ่งใหญ่มานาน แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อจู่ๆ ตลาดน้ำมันเจอมรสุมหลายลูกติดๆ กัน รากฐานของบริษัทก็เริ่มสั่นคลอน

4. ธนาคารต่างๆ เริ่มถามหาเงินที่กู้ไป เพราะบริษัทอื่นๆ เริ่มเจ๊งกันทีละรายๆ จนเกิดหนี้เสีย และแบงก์เหล่านี้เริ่มได้รู้สึกทะแม่งๆ กับ Hin Leong ว่าอาจจะเข้าตาจนเหมือนรายอื่นๆ

5. ยักษ์ใหญ่ของการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มร่อนจดหมายถึง Hin Leong เมื่อต้นเดือนเมษายน หนึ่งในนั้นคือ JPMorgan Chase & Coไปจนถึง HSBC เรียกร้องให้มีการชำระคืนเงินกู้เร่งด่วนทันทีหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ

6. ปรากฎว่า Hin Leong ทนแรงกดดันได้ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่นาน เมื่อแบงก์ต่างๆ ทวงหนักมากขึ้นแต่คว้าน้ำเหลวพวกเขาจึงจ้างทนายมาเร่งรัด เท่านั้นเองความจริงจึงได้กระจ่างออกมา และอาจเป็นครั้งแรกที่บริษัทที่ทำตัวลับๆ ล่อๆ มาตลอดยอมเปิดเผยความจริง

7. ในที่สุด OK Lim ก็ยอมรับว่าเขาซ่อนตัวเลขขาดทุนถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐเพราะเก็งกำไรพลาดในตลาดในตลาดน้ำมันฟิวเจอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และขอให้ศาลคุ้มครองทรัพย์สิน หรือพูดง่ายๆ คือล้มละลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

8. สาเหตุของการเก็งกำไรผิด มาจาก Hin Leong ไม่ได้เก็งว่าราคาจะตกต่อเนื่อง แต่เดิมพันในทางตรงกันข้ามโดยเชื่อว่าจีนจะควบคุมไวรัสได้และความต้องการน้ำมันจะฟื้นตัวจากการตกต่ำในเวลาอันสั้น เป็นการเดิมพันที่สวนทางกับคนส่วนใหญ่ แต่เป็นแนวทางของบริษัทนี้ที่มักจะเก็งกำไรแบบดุดัน

9. ปรากฎว่า Hin Leong เก็งถูกว่าจีนจะควบคุมไวรัสได้และดีมานด์น้ำมันในจีนกระเตื้องขึ้นในเดือนมีนาคม แต่คาดไม่ถึงว่าโควิด-19 จะลามออกนอกจีนไประบาดทั่วโลกโดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เมื่อโลกหยุดความต้องการน้ำมันก็หยุด

10. นี่คือสาเหตุที่เงินในบริษัทหมดเกลี้ยง แต่ข่าวร้ายยังไม่จบแค่นั้น OK Lim บอกว่าเขาได้ขายน้ำมันในคลังของบริษัทหลายล้านบาร์เรลอย่างลับๆ ซึ่งเป็นน้ำมันที่จำนองไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน ทำให้ช่องว่างระหว่างสินทรัพย์ของบริษัทและหนี้สินอยู่ที่ราว 3,340 ล้านเหรียญสหรัฐ

11. ตอนนี้ Hin Leong มีหนี้จำนวน 3,850 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเจ้าหนี้ 23 รายรวมถึง HSBC, Societe Generale SA, Standard Chartered Plc และ Deutsche Bank AG โดย HSBC เป็นเจ้าของหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดที่ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผู้ให้กู้ที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ 3 ราย เป็นเจ้าของหนี้รวมกัน 500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว ๆ นั้น

12. สำนักงานตำรวจของสิงคโปร์กำลังสืบสวนเรื่องนี้ ในขณะที่หน่วยงานด้านการเงินของสิงคโปร์ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและทำหน้าที่ธนาคารกลางได้ติดต่อกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ Hin Leong แล้ว แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่กับแค่ Hin Leong แต่กับสิงคโปร์ทั้งประเทศ

13. การล่มสลายของ Hin Leong มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อตลาดน้ำมันโลกและสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทนี้ยังซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว

14. Jean-Francois Lambert ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์และอดีตนายธนาคารการเงินการค้าของ HSBC กล่าวว่า “ Hin Leong เป็นกลไกสำคัญในการช่วยส่งเสริมสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการค้าน้ำมันและศูนย์กลางขนถ่ายน้ำมัน” 

15. คำถามก็คือการล่มสลายของยักษ์น้ำมันรายนี้จะสั่นคลอนสิงคโปร์ขนาดไหน? สิงคโปร์มีฉายาว่า "ศูนย์กลางน้ำมันของเอเชียที่ไร้เทียมทาน" (the undisputed oil hub in Asia) มีซัพพลายมากพอที่จะรองรับวิกฤตได้ แต่สิงคโปร์อาจจะลืมนึกไปว่าวิกฤตครั้งนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขาดน้ำมัน แต่น้ำมันล้นเกินจนไม่มีที่เก็บและราคาลดลงเรื่อยๆ 

16. ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกับ The New York Times ว่าคลังน้ำมันทั่วทั้งโลกมีความจุประมาณ 6,800 ล้านบาร์เรล และตอนนี้จุน้ำมันไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าศักยภาพการเก็บน้ำมันจะเท่ากันทุกประเทศ ตอนนี้พื้นที่จัดเก็บเกือบเต็มแล้วในประเทศกลุ่มแคริบเบียนและแอฟริกาใต้ และแองโกลา บราซิล และไนจีเรียจะเต็มภายในไม่กี่วัน

17. เรื่องคลังเก็บน้ำมันในสิงคโปร์ตอนนี้มีการระดมเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่มาเก็บน้ำมันไว้ที่นอกชายฝั่ง แต่ปัญหาที่ใหญ่พอกันคือ ยังมีบริษัทน้ำนักยักษ์ใหญ่ที่เก็งกำไรผิดพลาดแล้วซุกปัญหาไว้ใต้พรมหรือเปล่า?

เพราะหากยักษ์เหล่านี้ล้มขึ้นมาจริง สิงคโปร์จะเจอวิกฤตสองเด้งคือโควิด-19 ที่จู่ๆ ก็ระบาดหนักที่สุดในอาเซียนและการซวนเซของธุรกิจหลักของประเทศ

ข้อมูลจาก How an Epic Gamble Exposed the Rot Inside OK Lim’s Oil Empire โดยสำนักข่าว Bloomberg

Photo by Roslan RAHMAN / AFP