posttoday

หนึ่งในประเทศที่รวยที่สุด แต่ดูแลสุขภาพประชาชนได้แย่ที่สุด

01 เมษายน 2563

ด้วยระบบประกันไม่ถ้วนหน้าแถมยังล่าช้าเพราะต้องเคลมประกัน สหรัฐกำลังทำให้คนติดโควิด-19ต้องเสี่ยงมากขึ้น

รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 สหรัฐมี "ชื่อเสีย" โด่งดังมานานแล้วว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบสุขภาพที่ด้อยพัฒนาที่สุด และในสถานการณ์การระบาดความด้อยพัฒนานี้ทำให้หลายชีวิตต้องสูยเสียไปโดยไม่จำเป็น

คำว่า "ด้อยพัฒนา" ไม่ได้หมายความแย่พอๆ กับประเทศยากจนหรือแย่กว่าไทย แต่หมายความว่าเมื่อเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะประเทศนาและฐานะประเทศมหาอำนาจดอันดับหนึ่ง สหรัฐทำได้แย่มากในเรื่องดูแลสุขภาพประชาชน

ถ้าไม่เชื่อเราจะยกสถิติมาให้ดูกันก่อน

1. จากการจัดอันดับของ Commonwealth Fund มูลนิธิของสหรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูง จัดอันดับให้สหรัฐเป็นประเทศที่ระบบสาธารณสุขแย่ที่สุดในบรรดา 11 ประเทศพัฒนาแล้วชั้นนำของโลก ได้คะแนนติดลบคือ -0.75 ในแง่ผลรวม และผลงานรับฐาลด้านนี้ยังติดลบด้วย คือ -1.21

2. ในบรรดารัฐสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วพบว่า รัฐบาลสหรัฐและเม็กซิโกมีบทบาทที่น้อยที่สุดในด้านการเงินเพื่อสาธารณสุข กล่าวโดยย่อคือสหรัฐแย่พอๆ กับเม็กซิโก ประเทศที่รัฐบาลทรัมป์ดูถูกดูแคลนเป็นหนักหนา

3. กระนั้นก็ตาม จากข้อมูลของ OECD ยังพบว่าภาคสาธารณะ เช่นรัฐบาลสหรัฐ การใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อหัวสูงกว่าทุกประเทศในกลุ่ม OECD ยกเว้นนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ โดยในปี 2013 สหรัฐใช้จ่ายถึง 8,713 เหรียญสหรัฐต่อคนหรือ 16.4% ของ GDP ด้านการดูแลสุขภาพซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 8.9% ต่อคน

4. กระนั้นก็ตาม (อีกครั้งหนึ่ง) การที่ภาคสาธารณะของสหรัฐใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อหัวสูงกว่าทุกประเทศไม่ได้หมายความว่าดี แต่หมายความว่าค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐสูงกว่าประเทศอื่น และค่าใช้จ่ายที่สูงมากเป็นเหตุผลหลักที่ชาวอเมริกันมีปัญหาในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

5. เพราะจนและค่ารักษาแพง ดังนั้นคนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจึงมักจะไม่ยอมไปพบแพทย์เมื่อป่วย ไม่ได้รับการตรวจโรค ไม่ได้การรักษาหรือการติดตามผลที่แนะนำจากแพทย์ ไม่สามารถซื้อยาตามใบสั่งยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปพบทันตแพทย์ ซึ่งต้นทุนการรักษาสูงมาก

6. การรักษาทันตกรรมมีราคาแพงมากในสหรัฐถึงขนาดที่ชาวอเมริกันหลายพันคนต้องเดินทางไปเม็กซิโกเพื่อรับการรักษาที่ถูกกว่า ค่ารักษาทางทันตกรรมในสหรัฐจากตัวเลขปี 2013 อยู่ที่ 685 เหรียญในการรักษาประจำปี และอาจสูงถึง 1,440 เหรียญหากรับการรักษาพิเศษ นี่เป็นตัวเลขเฉลี่ยเท่านั้น

7. ที่แย่ลงไปก็คือ แทนที่จะมีการรักษาพยาบาลฟรีหรือราคาถูกที่สนับสนุนโดยรัฐเหมือนประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไป สหรัฐกลับใช้ระบบประกันสุขภาพ โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันของภาคเอกชนผสมกับโครงการของรัฐบาลกลางและรัฐต่างๆ

8. การประกันสุขภาพส่วนใหญ่เป็นการประกันร่วมกับนายจ้างซึ่งครอบคลุม 150 ล้านคน หมายความว่าผู้ประกันตนจะต้องมีงานทำ ส่วนโครงการของรัฐที่ช่วยคนรายได้น้อยเรียกว่า Medicaid, Medicare, Tricare, และ ChampVA โครงการเหล่านี้ช่วยได้จริงแต่ช่วยได้ไม่มากนัก เพราะการรักษาพยาบาลยังต้องใช้เงินมหาศาลและต่อให้รัฐช่วยบ้างก็ยังไม่พอ

10. สถิติที่จะยืนยันคือ ในปี 2013 พบว่า 31% ของผู้ใหญ่ที่ไม่มีประกันตนไม่ได้รับการรักษาหรือต้องชะลอการรักษาพยาบาลเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงเกินรับไหว เมื่อเทียบกับ 5% ของผู้ใหญ่ที่ประกันตน และ 27% ของผู้ประกันตนกับรัฐผ่านโครงการต่างๆ

11. ผลของการไม่มีระบบครอบคลุมเลวร้ายมาก การศึกษาของ Harvard Medical School กับ Cambridge Health Alliance พบว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 45,000 คนต่อปีจากการขาดประกันสุขภาพ การศึกษายังพบว่าคนทำงานชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าประมาณ 40% เมื่อเทียบกับคนทำงานชาวอเมริกันที่ทำงานประกัน

12. หากยังไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต เพราะจากการศึกษาโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในปี 2013 พบว่าในบรรดา 17 ประเทศที่มีรายได้สูงสหรัฐมีปัญหาโรคอ้วน, อุบัติเหตุทางรถยนต์, การตายของทารก, โรคหัวใจและปอด, การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์, การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การบาดเจ็บ และคดีฆาตกรรมสูงกว่าประเทศอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประเทศเสียงบประมาณมหาศาลและเสียทรัพยากรบุคคลอีกมาก

13. ในทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาใน 5 รัฐของสหรัฐในปี 2009 พบว่าหนี้รักษาพยาบาลมีส่วนทำให้เกิดภาวะล้มละลายส่วนบุคคล 46.2% และมีคดีฟ้องล้มละลายสูงถึง 62.1% ในปี 2007 จากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก ยิ่งคนถูกฟ้องล้มละลายพวกเขายิ่งไม่มีเงินมารักษาพยาบาล ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการประกันตน ปรากฎว่าในปี 2013 พบว่าประมาณ 25% ของผู้สูงอายุในสหรัฐกลายเป็นบุคคลล้มละลายเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลแพง

14. ความไม่แฟร์และไร้เหตุผลของระบบสาธารณสุขในสหรัฐ ทำให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาต้องริเริ่ม"รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้" หรือ โอบามาแคร์ (Obamacare) โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการประกันสุขภาพได้ง่ายขึ้น ตัวเลขผู้ไม่มีประกันลดลงเหลือ 8.9% ในปี 2016 แต่ในปี 2018 เหลือประมาณ 10%

15. โอบามาแคร์ถูกฝ่ายนิยมทุนนิยมเสรีโจมตีอย่างหนัก เพราะคนเหล่านี้ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกชีวิตประชาชน เช่น Tea Party ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมด้านการคลังและนิยมทุนนิยมแบบหัวชนฝาของพรรครีพับลิกันชี้ว่านโยบายนี้จะทำให้รัฐขาดดุล และบางคนชี้ว่าการที่รัฐอุดหนุนการประกันสุขภาพก็เหมือนรัฐเข้าไปดัมพ์ราคาสินค้า ซึ่งเป็นการแทกแซงระบบทุนนิยมเสรี จะเห็นว่าคนเหล่านี้หมกมุ่นกับทุนนิยมจนลืมความสำคัญของชีวิตมนุษย์

16. มีความพยายามที่จะล้มโครงการโอบามาแคร์แต่ยังไม่สำเร็จ 100% โดยเฉพาะทรัมป์ที่ชูธงโค่นโอบามาแคร์มาตลอด แม้จะยังทำไม่สำเร็จแต่เขาค่อยๆ บั่นทอนโครงการนี้ทีละน้อย แต่ปัญหาจริงๆ ของระบบประกันสุขภาพในสหรัฐว่าจะระบบไหน คือการเคลมประกันกับการเดินเรื่องที่กินเวลานานเกินไป นี่คือเหตุหายนะของหลายต่อหลายคน

17. มีรายงานว่าเพราะความล่าช้าเรื่องเคลมประกันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพราะคนที่รักษาหายแล้วยังออกไปไม่ได้เพราะต้องรออนุมัติจากบริษัทประกันแต่มีคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แถมแพทย์ยังถุกเงื่อนไขของการประกันบังคับ สถานการณ์แบบนี้เลวร้ายมากถึงขนาดที่ดร. จัดด์ ฮอลแลนด์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและรองคณบดีที่ Thomas Jefferson University ในฟิลาเดลเฟียกล่าวว่า “พวกเขากำลังทำมาหากินกับระบบสุขภาพ ไม่ใช่เพื่อดูแลผู้คน”

18. สรุปอีกครั้ง จากสำรวจระบบสุขภาพของประเทศที่พัฒนาแล้ว 11 ประเทศในปี 2017 พบว่าระบบระบบสาธารณสุขของสหรัฐนั้นมีราคาแพงที่สุดและแย่ที่สุดในแง่ของการเข้าถึงบริการสุขภาพ, ประสิทธิภาพ และความยุติธรรมต่อประชาชน และขอย้ำอีกครั้งว่าในการศึกษาปี 2018 โดย GBD พบว่าสหรัฐได้อันดับที่ 29 ด้านการเข้าถึงบริการและคุณภาพของการดูแลสุขภาพ

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก

Photo by Bryan R. Smith / AFP