posttoday

จะเอาเสรีภาพหรือความตาย? เราต้องเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวม

30 มีนาคม 2563

เพราะบางคนให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากกว่าชีวิต โดยเฉพาะชีวิตของคนอื่น

หลังจากที่รัฐบาลเตรียมจะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีปฏิกิริยาจากพรรคการเมืองและประชาชนไทยในทันทีว่าเป็นการริดรอนเสรีภาพของประชาชน แต่คำทัดทานเหล่านั้นถูกตอบโต้อย่างหนักจากประชาชนเช่นกัน ดังกรณีของแถลงการณ์พรรคการเมืองบางพรรคและความเห็นของศิลปินแห่งชาติบางคนที่ "เป็นห่วง" เสรีภาพของประชาชน 

ล่าสุดคือ แอมเนสตี้ฯ ไทย (Amnesty International Thailand) ที่บอกว่า "การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในครั้งนี้กำลังจะให้อำนาจมากมายแก่รัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการ COVID-19 แต่จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายครั้งที่ผ่านมา เรายังคงเห็นการจัดการกับผู้เห็นต่างหรือผู้วิพากษ์วิจารย์การทำงานของภาครัฐอยู่ด้วย แอมเนสตี้ ประเทศไทยจึงอยากย้ำอีกครั้งว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ รัฐบาลควรใช้อำนาจอย่างไรให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน"

เมื่อดูในช่องคอมเมนต์ปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ แอมเนสตี้ฯ ถูกประชาชนไทย "สวดยับ" ซึ่งไม่ได้หมายความคนไทยเห็นด้วยกับการละเมิดสิ?ธิ์ แต่มันเป็นคำเตือนกาลเทศะในสายตาคนไทยบางคน

ไม่ใช่แค่ในไทยที่ประชาชนไม่อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจเด็ดขาด ในโลกตะวันตกที่หลายประเทศใช้มาตรการฉุกเฉิน ขนกองทัพอกมาตามท้องถนนเพื่อควบคุมสถานการณ์ ก็ใช่ว่าประชาชนจะพอใจกันทุกคน เพราะอำนาจแบบนี้มันใกล้เคียงกับเผด็จการและการทำรัฐประหาร

แต่ประชาชนในประเทศเสรีนิยมตะวันตกจะต้องยอมรับ เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉิน "ทุกคนต้องยอมเสียสละเสรีภาพส่วนบุคคล เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม" นี่เป็นหลักพื้นฐานที่ทำให้สังคมอยู่ได้

ระบอบประชาธิปไตยจะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยสังคม หากสังคมพังทลายเพราะทุกคนทำตามใจ เมื่อนั้นมีประชาธิปไตยไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีคนเหลือให้ใช้เสรีภาพของตัวเองแล้ว

ตัวอย่างของคนทำตามใจที่ถูกตำหนิอย่างหนัก คือ อีแวนเจลีน ลิลลี นักแสดงจากเรื่อง Ant Man and the Wasp ที่ไม่ยอมกักตัวเองในช่วงโรคระบาดยังใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ยอมเว้นระยะห่างกับคนอื่น แถมยังติดแฮชแท็กว่า #BusinessAsUsual (เปิดบริการตามปกติ) และบอกว่า

"ตอนนี้ฉันยังมีภูมิคุ้มกันลดลง ฉันมีลูกสองคน บางคนเห็นคุณค่าชีวิตของพวกเขามากกว่าอิสรภาพ บางคนให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากกว่าชีวิตของพวกเขา เราทุกคนเลือกเองได้ ด้วยความรักและความเคารพ"

ลิลลีไม่ได้บอกว่าเธอเป็นจำพวก Some people value their lives over freedom (บางคนให้ความสำคัญกับชีวิตมากกว่าเสรีภาพ) แต่การกระทำของเธอบ่งชี้ไปแบบนี้

การกระทำของเธอให้แฟนๆ หัวเสียอย่างมาก เพราะมันทำคนอื่นตกอยู่อันตรายเพราะปัญญาที่มืดมัว และความดื้อรั้นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

โซฟี เทอร์เนอร์ นักแสดงจากเรื่อง Game of Thrones โกรธจัดถึงกับตอบทำคลิปโต้ว่า

"โปรดอยู่แต่ข้างใน อย่าทำตัวโง่เขลา แม้ว่าคุณจะถืออิสรภาพของคุณมากกว่าสุขภาพก็ตาม ฉันจะไม่ให้ค่าอะไรกับกับอิสรภาพของคุณหรอกนะ คุณอาจติดคนอื่นหรือคนที่มีความเสี่ยงอื่นๆ รอบตัวคุณด้วยการทำตัวแบบนี้"

ประโยคเด็ดของเทอร์เนอร์คือ "I don’t give a ‘F’ about your freedom" สิทธิส่วนบุคคลไม่สามารถต่อรองกับโรคระบาดได้ เมื่อคนๆ หนึ่งติดเชื้อแล้วเขาจะทำให้คนอื่นมีอันตรายไปด้วย สิ่งแรกที่ต้องทำคือเสียสละสิทธิเสรีภาพบางส่วนด้วยการกักตัวเอง ด้วยการเลิกทำตามใจไปสักพัก และต้องคิดว่า "คุณค่าชีวิตอยู่เหนืออิสรภาพ"

หากไม่เสียดายชีวิตตัวเองก็ต้องเกรงใจชีวิตคนอื่นๆ การเล็งเห็นแต่เสรีภาพตัวเองบนความเดือดร้อนของคนอื่นจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร? เพราะคำว่า "ประชา" หมายถึงคนหมู่มาก ตรงกันข้ามกับคำว่า "อัตตา" ที่หมายถึงตัวคนเดียว

ในสังคมประชาธิปไตยเราไม่ได่อยู่ตัวคนเดียว และหากหมกมุ่นกับอัตตามากไปมันจะต่างกับ "อัตตาธิปไตย" ซึ่งเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการตรงไหน?

แต่การใช้อำนาจของรัฐบาลต่างๆ ในภาวะฉุกเฉินอาจะเป็นฉวยโอกาสให้รัฐควบคุมประชาชนมากเกินไปเหมือนกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะชุบมือเปิดใช้อำนาจนี้เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ส่วนประชาชนก็ต้องคอบจับตาว่ารัฐบาลใช้อำนาจฉุกเฉินเกินขอบเขตหรือไม่ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องขัดขืนมาตรการที่จำเป็นต่อคนส่วนรวม

เรื่องความน่ากลัวของอำนาจฉุกเฉินที่จะประทบต่อเสรีภาพปละประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีได้สะท้อนออกมาในแถลงการณ์ต่อประชาชนเทื่อวันที่ 18 มีนาคม โดยกล่าวว่าที่ต้องมาแถลงการณ์ในลักษณะผิดปกติแบบนี้เพราะต้องการบอกกับประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น

"นี่คือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ที่เราตัดสินใจทางการเมืองด้ววยความโปร่งใสและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น และทำการลงมือและสื่อการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่ (ประชาชน) จะเห็นภาพได้ชัด"

ผู้เขียนตีความว่าที่แมร์เคิลพูดแบบนี้ก็เพื่อไม่ให้ประเทศเสรีประชาธิปไตยสิ้นหวังกับระบอบของตัวเองที่รับมือการระบาดได้ล่าช้ากว่าระบอบรวบอำนาจแบบจีน ในเวลานั้นเสียงชื่นชมจีนเริ่มมากขึ้น และโมเดลการปิดเมืองใช้อำนาจฉุกเฉินเริ่มเป็นที่เรียกร้องมากขึ้น ซึ่งสั่นคลอนต่อผู้นิยมเสรีภาพเป็นอย่างมากจนต้องออกมาแสดงจุดยืนกัน (แบบผิดที่ผิดเวลา)

แม้แต่แมร์เคิลผู้ที่ถูกเรัยกว่าเป็น "เสาหลักประชาธิปไตย" พยายามจะประคองระบอบประชาธิปไตยให้ราบรื่นในภาวะวิกฤตก็ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ "ซีเรียส" กับปัญหากันสักหน่อย

ในโลกตะวันตกมีสโลแกนหนึ่งที่ตราตรึงใจผู้รักเสรีภาพ คือคำว่า "Liberty or death" หรือ "เสรีภาพหรือความตาย" บางครั้งเขียนว่า "จงให้เสรีภาพกับเราไม่อย่างนั้นก็มอบความตายให้เราเถอะ" เป็นคำที่ใช้ในขบวนการเรียกร้องเอกราชในหลายประเทศ

"Liberty or death" มีความหมายว่า ถ้าไม่ให้เอกราชกับเรา ถ้าไม่ยอมกดขี่เราเหมือนทาส ก็จงฆ่าเราเสียดีกว่า เช่นในสหรัฐใช้คำนี้ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และกลายเป็นอุดมกาณ์รักเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใดของคนอเมริกัน เสรีภาพในการแสดงความเห็นอะไรก็ได้ หรือเสรีภาพในการป้องกันตัวเองด้วยการซื้อเปืนเสรี

แต่ในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดเราจะใช้คำว่า "Liberty or death" ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ตายคนเดียว

เสรีภาพที่ไม่รู้จักยั้งคิดจะพาคนอื่นรอบๆ ตัวเราตายไปด้วย

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน