posttoday

ทำไมการลดดอกเบี้ยจึงไม่ช่วยแก้โรคเศรษฐกิจยุคไวรัสอาละวาด

27 กุมภาพันธ์ 2563

นี่คือความซับซ้อนของเศรษฐกิจยุคไวรัสอาละวาด เพราะบางทีคำถามตอนนี้ไม่ใช่ว่าควรจะลดเท่าไร แต่ควรถามว่าลดแล้วจะได้ผลหรือไม่?

เมื่อปีที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หั่นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังคุกกรุ่น รวมแล้วดอกเบี้ยหายไป 0.75%

แต่พอถึงเดือนมกราคม 2563 เฟดกลับคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม 1.5% และ 1.75% ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดีเพราะประจวบเหมาะกับที่เวลานั้นจีนเพิ่งได้ดีลกับสหรัฐในเรื่องสงครามการค้า

แต่การประชุมเฟดเมื่อวันที่ 28 - 29 มกราคมเกิดขึ้นในช่วงที่โลกมีภัยคุกคามอย่างใหม่ นั่นคือการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเฟดยังมองไม่เห็นถึงภัยคุกคามจาอไวรัส

จากบันทึกการประชุมเมื่อเดือนมกราคมที่เพิ่งจะปล่อยอกมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เฟดยังมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นจากเมื่อเดือนธันวาคม 2562 และเศรษฐกิจจะขยายตัวปานกลางต่อไป และ "ความไม่แน่นอนทางการค้าบางอย่างลดลงไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้"

เป็นธรรมปฏิบัติแต่ไรมาที่เฟดจะเปิดเผยบันทึกการประชุม หรือ minutes หลังจากการประชุมนานนับเดือน แต่ธรรมเนียมนี้ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เพราะสถานการณ์ตอนนี้กับตอนนี้ต่างกันราวฟ้ากับเหว

ในบันทึกการประชุมเมื่อเดือนมกราคม เฟดเองก็ยังได้กลิ่นตุๆ โดยบอกว่า "อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนของแนวโน้ม (ทางเศรษฐกิจ) รวมถึงที่มาจากการระบาดของโคโรนาไวรัส"

แม้จะมองเห็นภัยคุกคามอยู่ไกลๆ แต่การระบาดเมื่อปลายเดือนมกราคมกับปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่างกันมาก ในตอนนี้การระบาดยังคงจำกัดวงในจีน ส่วนประเทศใกล้เคียงระบาดไม่รุนแรงมากนัก หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สหรัฐและโลกก็อาจประเมินผลเสียหายได้ง่ายหน่อย

แต่ตอนนี้การระบาดกำลังจะกลายเป็น Pandemic ที่กระจายตัวไปทั่วโลก ความรุนแรงจึงเทียบกันไม่ติด

ไม่น่าแปลกใจที่ ผู้คร่ำหวอดด้านเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณว่า "ควรจะลดดอกเบี้ย"

เช่น Narayana Kocherlakota อดีตประธานเฟดสาขามินิอาโพลิส ที่บอกว่า เฟดควรจะจัดประชุมด่วนในทันทีก่อนที่จะถึงกำหนดการประชุมวันที่ 18 - 19 มีนาคม และควรจะหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.25% และหากเป็นไปได้ควรลดลงอีก 0.50% ด้วยซ้ำ

Ben Emons จะต้องมองผลกระทบจากการะบาดเหมือนตอนที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามการค้า เพราะตอนนี้การค้าการเดินทางถูกจำกัด เหมือนกับประเทศต่างใช้นโนบายกีดกันการค้าไปโดยปริยาย ในสถานการณ์ของสงครามการค้านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะหายไปถึง 1.5%

อย่างไรก็ตาม Richard Clarida รองประธานเฟดบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการระบาดกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐแค่ไหน

ส่วน Robert Kaplan ประธานเฟดสาขาดัลลัสก็เช่นกันที่บอกว่า ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่งพอที่เฟดจะลดดอกเบี้ยเพื่อรับการระบาดของโควิด และบอกว่ายังต้องรออีกหลายสัปดาห์กว่าจะประเมินได้ว่าการระบาดส่งผลต่อนโยบายการเงินอย่างไร

ทัศนะของ Kaplan ตรงกับนักวิคราะห์บางคนที่เห็นว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน แต่เกี่ยวข้องกับภาวะช็อคของอุปทานการผลิต (Supply shock) มากกว่า

เพราะตอนนี้ประเทศวัตถุดิบ ผู้ผลิตชิ้นส่วสน ผู้ผลิตสินค้า และการกระจายสินค้าได้รับผลกระทบจากการระบาดทั้งสิ้น โดยที่เอเชียซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของกลไกการผลิตของโลกแทบจะกลายเป็นอัมพาตไปแล้ว

บางทีคำถามตอนนี้ไม่ใช่ว่าควรจะลดเท่าไร แต่ควรถามว่าลดแล้วจะได้ผลหรือไม่?

จากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐช่วงเดือนกุมภาพันธ์และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเขตยูโรโซนบ่งชี้ว่าอุปสงค์ยังคงแข็งแกร่ง แต่อุปทานมีปัญหา

นโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านๆ มา เน้นกระตุ้นอุปสงค์ คือการลงทุนและการบริโภค แต่การที่จะแก้ปัญหาภาวะสะดุดในอุปทานการผลิตนั้นไม่ค่อยมี

ในเมื่อการลดดอกเบี้ยมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ ดังนั้นการจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้อาจะเป็นการให้ยาผิดประเภทก็เป็นได้

ในสถานการณ์ตอนนี้การลดอกเบี้ยอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แทนที่จะแก้ปัญหากลับจะเป็นการสร้างปัญหาเพราะทำให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคลดลง หมายความว่าคนซื้อจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

กระนั้นก็ตาม เมื่อเกิด Supply shock บางทีก็อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อเพราะสินค้าแพงขึ้นเรื่องจากปริมาณสินค้าในตลาดลดลงก็เป็นได้

นี่คือความซับซ้อนของสถานการณ์

และนี่อาจเป็นเหตุผลให้เฟดต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน อันที่จริงเฟดยังมีอาวุธอย่างอื่นที่จะใช้แก้ปัญหาอีก เช่น การซื้อตราสารหนี้ระยะยาว หรือการซื้อพันธบัตรบาล หรือมาตรการ QE เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบโดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่สำหรับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ อาจะใช้สูตรต่างๆ กันออกไปแล้วแต่เงื่อนของแต่ละประเทศ

ธนาคารกลางจีนใช้วิธีอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยพยุงภาคธุรกิจ ส่วนธนาคารกลางเกาหลีใต้ "อาจจะ" หั่นดอกเบี้ยลงมาต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1% ตามทัศนะของนักวิเคราะห์ต่างๆ

แต่ปัญหาของเกาหลีใต้ก็เป็นเรื่องของ Supply shock มากกว่าปัญหาของภาคการเงิน บางทีการลดดอกเบี้ยอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

ดังนั้นในการประชุมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จึงยังคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 1.25%

แต่กับญี่ปุ่น ดูเหมือนสถานการณ์จะวิกฤตกว่าเพื่อน เพราะมีการติดเชื้อในสถาบันการเงินชั้นนำ แลับางแห่งมีคำสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้านแล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จึงเรียกประชุมธนาคารชั้นนำของประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับการระบาด

ไม่ต้องแปลกใจที่ BOJ ไม่ส่งสัญญาณว่าจะทำอะไรกับดอกเบี้ย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยของญี่ปุ่นก็ต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว คือ 0.1% ถึง -0.1% มานานถึง 20 กว่าปีแล้ว

ถึงจะหั่นเหลือ 0 แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ดีขึ้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกกับเราว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ยาครอบจักรวาลเสมอไป