posttoday

ถึงไทยแล้วหรือยัง? "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" ตัวการระบาดไม่หยุดฉุดไม่อยู่

26 กุมภาพันธ์ 2563

การค้นหา Super-spreader จึงเป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อไม่ให้โรคระบาดแพร่ในวงกว้างจนยากจะควบคุม

"ซูเปอร์สเปรดเดอร์" (Super-spreader) หมายถึงผู้ติดเชื้อเพียงรายเดียวที่แพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง เป็นคนๆ เดียวที่สามารถทำให้คนมากมายพลอยติดโรคไปด้วยในอัตราส่วนที่สูงจนเกิดมาตรฐาน

ตัวการแพร่เชื้อระดับซูเปอร์มีอัตราส่วนการแพร่เชื้อที่ 20:80 หมายความว่า คนแค่ 20% มีส่วนแพร่เชื้อให้กับคนถึง 80%

แต่อัตราส่วนนี้จะใช้กับโรคติดต่อทางเพศกับโรคที่เกี่ยวกับพยาธิเป็นหลัก โรคระบาดอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่รวมถึงซาร์สการระบาดมักจะไม่ตรงสัดส่วน 20:80 ดังนั้นสูตรค้นหา Super-spreader ในโรคระบาดประเภทนี้จึงมีแนวทางต่างๆ กันไป

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2003 พบว่า Super-spreader เป็นคน 1 คนซึ่งสามารถกระจายเชื้อซาร์สไปให้คนอีก 8 คน

ดังนั้นการค้นหา Super-spreader จึงเป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อไม่ให้โรคระบาดแพร่ในวงกว้างจนยากจะควบคุม

ปัญหาก็คือ Super-spreader อาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ จึงยากที่จะระบุตัวตน

เช่น กรณีการระบาดของโรคซาร์ส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 แพทย์ชาวจีนชื่อ หลิวเจี้ยนหลุน ในมณฑลกวางตุ้งซึ่งทำหน้าที่รักษาผู้ติดเชื้อซาร์สได้เกิดติดเชื้อเสียเอง แล้วเดินทางไปฮ่องกงเพื่อร่วมงานแต่งงาน โดยพักที่ชั้น 9 ของโรงแรม Metropole Hote ที่เกาลูน คุณหมอรายนี้ทำให้แขกในโรงแรม 16 คนต้องติดเชื้อไปด้วย

จากนั้นแขก 16 คนเดินทางไปยังแคนาดา, สิงคโปร์, ไต้หวัน และเวียดนาม ทำให้ซาร์สระบาดไปทั่วโลกในที่สุด

กรณีล่าสุด คือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่เกาหลีใต้ เกิดจากผู้ติดเชื้อรายเดียวคือ "ผู้ป่วยหมายเลข 31" (Patient 31) ที่ไปร่วมกิจกรรมของคริสตจักรชินชอนจีในเมืองแทกู ผู้ป่วยคนนี้ทำให้คนใกล้ชิดติดเชื้อไป 43 ราย จากนั้นเป็น 70 และจากนั้นตัวเลขก็ทวีคูณไปเรื่อยๆ

จนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 คนไปแล้ว ในเวลาเพียง 6 วันนับตั้งแต่วันที่ Super-spreader รายนี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่ 70 คนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์

กรณีของผู้ป่วยหมายเลข 31 เกิดขึ้นเพราะเธอไปพื้นที่เสี่ยงคือประเทศจีน เมื่อกลับมาแล้วแสดงอาการแต่ปฏิเสธการตรวจโรคครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้การวินิจฉัยล่าช้า กว่าจะยอมให้ตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทุกอย่างก็สายเกินไป

เพราะ Super-spreader รายนี้รายเดียวทำให้เมืองแทกูถึงกับแทบร้าง และมีผู้บรรยายว่าสภาพของเมืองไม่ต่างอะไรกับวันโลกาวินาศหลังการบุกของซอมบี้

ระหว่างการระบาดของ COVID-19 ยังมีการติดตามผู้กระจายเชื้อระดับซูเปอร์ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น อิตาลี อังกฤษ และที่อู่ฮั่นก็มีการกล่าวถึงผู้แพร่เชื้อในระดับนี้เช่นกัน และเมื่อติดตามต้นเหตุเหล่านี้ได้แล้ว จะต้องสอบสวนกันต่อไปว่าพวกเขาตั้งใจที่จะปกปิดการเติดเชื้่อหรือไม่ เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

นี่คือตัวอย่างของ Super-spreader จากคนเดียวกลายเป็นการระบาดวงกว้างในระดับประเทศและระดับโลก

สถานการณ์คล้ายๆ กันได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยมีผู้ป่วยชายไทยปกปิดว่าไม่ได้ไปประเทศเสี่ยง คือญี่ปุ่นและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านดอนเมืองโดยมีอาการไอ และเป็นไข้ แพทย์จึงรับรักษาว่าในอาการปอดอักเสบ

ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลว่าผู้มีอาการต้องสงสัยได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะจะทำให้การกักกันและวินิจัยรวดเร็วขึ้น

หลังจากปกปิดข้อมูลไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยรายนี้จึงยอมรับว่าได้ไปญี่ปุ่นมา และผลตรวจก็ยืนยันว่าเขาติดเชื้อ COVID-19 แต่กว่าจะทราบผลสถานการณ์ก็เลวร้ายเกินคาดแล้ว เพราะทั้งครอบครัวอาจติดเชื้อไปด้วย และหากคนในครอบครัวนี้ติดเชื้อก็อาจแพร่เชื้อไปยังสถานที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล และการขนส่งสาธารณะ กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการปกปิดความจริง

เบื้องต้นเมืองไทยยังไม่มี Super-spreader แต่เราจะต้องจับตาสถานการณ์ที่ดอนเมืองอย่างใกล้ชิด และเร่งแกะรอยผู้ที่ติดต่อกับบุคคลที่ติดเชื้อหรือได้ไปที่สถานที่ที่บุคคลเหล่านี้ได้เดินทางไป

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ Super-spreader แก้ไขได้ยาก คือการปกปิดข้อมูลของผู้ติดเชื้อที่กลัวว่าจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นตัวการระบาด ทำให้พวกเขาไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดโรค แล้วพยายามใช้ชีวิตตามปกติ สุดท้ายโรคจึงกระจายไปทั่ว

สิ่งสำคัญคือเราจะต้องไม่ตราหน้าบุคคลที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่เป็น Super-spreader โดยไม่ตั้งใจ เพื่อให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะมาขอตรวจก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินการณ์

ในอดีตเคยมีการตราหน้าผู้ที่เป็นตัวการแพร่เชื้อระดับใหญ่มาแล้ว คือแมรี่ มัลลอน (Mary Mallon) หญิงที่เป็นพาหะของโรคไข้รากสาดน้อยโดยที่เธอไม่แสดงอาการ แต่กระจายเชื้อติดคนอีก 51 คน และโรคกระจายไปในวงกว้าง ประมาณการกันว่า Super-spreader รายนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไปราว 50 ราย

กรณีนี้ทำให้เธอถูกจับตัวโดยเจ้าหน้าที่และบังคับให้กักกันโรคนานถึง 3 ทศวรรษ จนต้องตายไปในโรงพยาบาลบนเกาะ Brother Island ที่นิวยอร์ก การกักกันแมรี่เพราะความกลัวโรคระบาดถือเป็นการจับเธอขับคุกตลอดชีวิตก็ว่าได้

ส่วนสื่อตั้งฉายาให้เธอว่า "Typhoid Mary" กลายเป็นตราบาปที่เธอต้องแบกรับไปทั้งชีวิต ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเธอเลย