posttoday

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม

08 ธันวาคม 2562

แม้จะไม่ใช่ที่สุดของโลก แต่การศึกษาของคนไต้หวันก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศชั้นนำของโลกแน่นอน  เพราะจาก ผลการทดสอบความรู้นักเรียนนานาชาติ (PISA) เด็กนักเรียนไต้หวัน ก็ทำคะแนนโดดเด่นมาทุกครั้ง ส่วนหนุ่มสาวไต้หวันเกือบทั้งประเทศ ก็จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเกือบทั้งนั้น แถมประชากรไต้หวันประมาณ 24 ล้านคน ก็มีอัตราการรู้หนังสือสูงเกือบร้อยละ 99 ดังนั้น เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไต้หวันอย่างแน่นอน

แม้จะไม่ใช่ที่สุดของโลก แต่การศึกษาของคนไต้หวันก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศชั้นนำของโลกแน่นอน  เพราะจาก ผลการทดสอบความรู้นักเรียนนานาชาติ (PISA) เด็กนักเรียนไต้หวัน ก็ทำคะแนนโดดเด่นมาทุกครั้ง ส่วนหนุ่มสาวไต้หวันเกือบทั้งประเทศ ก็จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเกือบทั้งนั้น แถมประชากรไต้หวันประมาณ 24 ล้านคน ก็มีอัตราการรู้หนังสือสูงเกือบร้อยละ 99 ดังนั้น เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไต้หวันอย่างแน่นอน

การที่ไต้หวันมีคนคุณภาพ จึงทำให้มีการคิด การพัฒนาเพื่อความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการรายงานจาก World Economic Forum’s Competitiveness Report ฉบับปี ค.ศ. 2018 ได้ยกให้ไต้หวัน เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศที่ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนามากที่สุด และเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีการยื่นขอสิทธิบัตรมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศที่มีความสร้างสรรค์ ทางด้านนวัตกรรมมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งผลลัพธ์แบบนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้แน่ ถ้าขาดซึ่งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล, ขาดซึ่งนโยบายที่ชัดเจน, และขาดซึ่งการลงมือปฏิบัติร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม

การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ถูกทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในแต่ละปี รัฐบาลไต้หวันจะทุ่มงบประมาณกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันงบประมาณแผ่นดิน อีกร้อยละ 20 ได้จัดสรรให้กับการพัฒนาการศึกษา, การพัฒนาวิทยาศาสตร์, และการส่งเสริมวัฒนธรรม ดังนั้นยุทธศาสตร์ระดับชาติของไต้หวัน จึงมีต้องมีเรื่องการพัฒนาทั้ง 3 มิติเข้าไปรวมอยู่ด้วย

หลังหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ไต้หวันพยายามลบร่องรอยของวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้หมดไป ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมจีนให้ชัดเจนขึ้น โดยอย่างแรกที่รัฐบาลไต้หวันทำ ก็คือ ยกเลิกการใช้ภาษาญี่ปุ่น ที่เคยใช้ในระบบการศึกษา แล้วมาใช้ภาษาจีนแทน, เรื่องที่สอง คือ ปฏิรูปการศึกษาให้อยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมจีน และเรื่องที่สาม คือ ส่งเสริมค่านิยมแบบไต้หวัน ที่เรียกว่า “สามหลักการแห่งประชาชน” (The Three Principles of People) อันเป็นปรัชญาการเมืองที่ ดร.ซุน ยัดเซ็น พัฒนาขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย (1) People’s rule อันหมายถึง ชาตินิยม (2) People’s right อันหมายถึงประชาธิปไตย (3) People’s livelihood อันหมายถึง ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และการที่แนวคิดสามหลักการแห่งประชาชน อยู่ในแบบเรียนของเด็กนักเรียนไต้หวัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ทำให้คนไต้หวันมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก

แต่ระบบการศึกษาของไต้หวันไม่ได้มีเป้าหมายเพียงสร้างชาตินิยมเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากรักชาติแล้ว ยังต้องเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสร้างสรรค์ อีกด้วย ดังนั้น ระบบการศึกษาของไต้หวัน จึงต้องบ่มเพาะคนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวให้ได้

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม

ร้อยทั้งร้อยของเด็กไต้หวัน จะเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาล ที่จะไม่เน้นให้เด็กเรียนวิชาการ ในช่วงก่อนวัยเรียน แต่เด็กในวัยนี้จะได้เรียนรู้ผ่านการเล่น และการเรียนรู้ผ่านความหลากหลาย เช่น การจัดเด็กให้คละอายุกัน เพื่อช่วยให้เด็กที่อายุน้อยกว่า มีพัฒนาการเร็วขึ้น จากความพยายามเลียนแบบเด็กที่โตกว่า เมื่อเด็กๆได้เล่นและทำกิจกรรมร่วมกัน

ระดับชั้นประถมศึกษาของไต้หวันเป็นหลักสูตร 6 ปีเหมือนกัน แต่จะพิเศษตรงช่วง 2 ปีแรก ที่เด็กจะใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ไปกับการเรียนเนื้อหา ส่วนอีกครึ่งวันที่เหลือ จะให้เด็กไปทำกิจกรรมเสริมทักษะด้านอื่นๆ จนกระทั่งขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จะเน้นวิชาการอย่างจริงจัง โดยวิชาเรียนหลักๆ จะประกอบไปด้วย วิชาภาษาจีน, วิชาคณิตศาสตร์, วิชาวิทยาศาสตร์, และวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาสังคมศึกษา จะถูกสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ไต้หวัน เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก ความเป็นประชากรไต้หวัน

ในสังคมไต้หวัน มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาที่ดี ผู้ปกครองจึงทุ่มเทและเคี่ยวเข็ญเด็ก เพื่อให้ประสบความสำเร็จด้านการเรียน ทำให้เด็กนักเรียนไต้หวันแต่ละคน มีเป้าหมายหลักในชีวิตอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ (1) ต้องเข้าเรียนต่อโรงเรียนมัธยมปลายในฝันให้ได้ (2) และต้องสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในฝันให้ได้

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม

ด้วยเป้าหมายที่คล้ายกัน คือการได้รับโอกาสเข้าทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ทำให้เด็กส่วนใหญ่แข่งขันกันสอบเข้าสายวิทย์ และเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้เด็กนักเรียนไต้หวัน ทุ่มเทกับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษ

ความโดดเด่นด้านวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญของความเข้มแข็งในการพัฒนาไต้หวัน เนื่องจากไต้หวัน มีแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนให้มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลแบบไร้สาย, เทคโนโลยีชีวภาพ, การแพทย์พันธุศาสตร์, นาโนเทคโนโลยี, พลังงานสีเขียว และระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (System on chip)

ส่วนความโดดเด่นในวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กไต้หวันนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การปฏิรูปการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ ปี ค.ศ. 1996 ทำให้เกิดหลักสูตรที่เรียกว่า The New Elementary Mathematics Curriculum ซึ่งเป็นการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายว่า

(1) เด็กนักเรียนต้องมีขีดความสามารถ ในการประยุกต์เอาคณิตศาตร์ เพื่อใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2) ต้องส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์ ด้วยการเปิดกว้าง สำหรับวิธีการแก้โจทย์ปัญหาที่หลากหลาย นั่นแปลว่า ไม่ได้มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้

(3) ต้องกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้

(4) ต้องส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครูกับนักเรียน เพื่อนำไปสู่การร่วมกันหาคำตอบของแต่ละโจทย์ปัญหา

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม

นอกเหนือจากวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เด็กไต้หวันทำได้อย่างโดดเด่นอยู่แล้ว ไต้หวันยังต้องการพัฒนาทักษะวิชาภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการตั้งเป้าว่า ไต้หวันจะต้องเป็นชาติ 2 ภาษาให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2030

อันที่จริงแล้ว เด็กนักเรียนไต้หวันสามารถทำข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษได้ดีเลยทีเดียว แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากขาดโอกาสในการฝึกฝน ดังนั้น เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา การเรียนวิชาภาษาอังกฤษ จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้งานเป็นหลัก โดยแนวทางการสอนในปัจจุบัน จะเลือกประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน และในสถานการณ์ที่จำเป็นมาเป็นบทเรียนในการสอน

นอกจากนั้น รัฐบาลยังส่งเสริม ให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านอังกฤษ (English Village) ขึ้น ภายในโรงเรียน โดยมีการจำลองสถานที่ และมีครูชาวต่างชาติมาเป็นผู้สอน เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์จริงในการใช้ภาษามากยิ่งขึ้น

ณ วันนี้ ผลลัพธ์จากการศึกษาของไต้หวันกลายเป็นที่ยอมรับแล้วว่า มีส่วนสำคัญในการสร้างคนที่มีความเก่งด้านวิชาการ และเป็นคนที่มีความรักชาติ ส่วนการสร้างคนให้มีความสร้างสรรค์ และมีความเป็นสากลนั้น ก็อยู่ในกระบวนการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อีกไม่นาน คนไต้หวันจะถูกนิยามว่า เป็นทั้งคนเก่ง เป็นทั้งคนรักชาติ เป็นคนมีความสร้างสรรค์ และมีความเป็นสากล

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม