posttoday

ศาลอินเดียตัดสิน "มัสยิดเมืองอโยธยา"บ้านเกิดพระราม เป็นของฮินดู

09 พฤศจิกายน 2562

ศาลสูงอินเดียตัดสินเอกฉันท์จัดสรรพื้นที่พิพาท "มัสยิดบาบรี" ในเมืองอโยธยา ให้ชาวฮินดูสร้างวัดพระราม ส่วนชาวมุสลิมจะได้พื้นที่อีกแห่งสร้างมัสยิด

ศาลสูงอินเดียตัดสินเอกฉันท์จัดสรรพื้นที่พิพาท "มัสยิดบาบรี" ในเมืองอโยธยา ให้ชาวฮินดูสร้างวัดพระราม ส่วนชาวมุสลิมจะได้พื้นที่อีกแห่งสร้างมัสยิด

วันนี้ (9 พ.ย.) ศาลฎีกาอินเดียมีคำพิพากษาตัดสินให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์"มัสยิดบาบรี" สถานที่สำคัญทางศาสนาอันเป็นข้อพิพาทมายาวนานนับศตวรรษในเมืองอโยธยา รัฐอุตตระประเทศทางเหนือของอินเดีย ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวฮินดู

รายงานระบุว่า คำพิพากษครั้งประวัติศาสตร์ของศาลสูงอินเดียครั้งนี้ ได้จัดสรรให้พื้นที่ขนาด 2.77 เอเคอร์ หรือขนาดราวสองสนามฟุตบอล บริเวณมัสยิดบาบรีอันเก่าแก่ซึ่งชาวฮินดูมีความเชื่อว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระราม ให้ชาวฮินดูสามารถสร้างวิหารพระรามในพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะและต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลกลางนิวเดลี

ขณะเดียวกันศาลสูงอินเดียยังมีคำพิพากษาให้จัดสรรพื้นที่ราว 5 เอเคอร์ที่อยู่ห่างจากบริเวณของชาวฮินดูเพื่อก่อสร้างมัสยิด

 

ศาลอินเดียตัดสิน "มัสยิดเมืองอโยธยา"บ้านเกิดพระราม เป็นของฮินดู Frederick M. Asher / britannica

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มัสยิดบาบรี ตามความเชื่อของชาวฮินดูว่าสถานที่แห่งนี้คือที่ประสูติของพระราม หนึ่งในเทพที่พวกเขานับถือ ชาวฮินดูได้อ้างว่ามีการรื้อถอนโบสถ์พระรามมาสร้างมัสยิดบาบรีเมื่อปี 1728 ตามคำสั่งของพระเจ้าบาบูร์หรือบาบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล

ในช่วงนั้นความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมยังไม่บานปลาย แต่เริ่มมาเป็นประเด็นหลังอินได้รับเอกราชแล้วในปี 1949 ชาวฮินดูได้นำเทวรูปของพระลักษม์ พระราม และนางสีดาเข้าไปไว้ในมัสยิด

ต่อมาปี 1986 ศาลอินเดียตัดสินอนุญาตให้ชาวฮินดูเข้าไปสักการะเทวรูปในพื้นที่มัสยิดได้

กลุ่มฮินดูขวาจัดต้องการให้มีการสร้างโบสถ์พระรามในพื้นที่มัสยิด โดยมีพรรคการเมืองกลุ่มชาตินิยมฮินดูได้ใช้ประเด็นดังกล่าวในการหาเสียงกับชาวฮินดู จากนั้นในปี 1992 เกิดความตึงเครียดระหว่างสองศาสนา จากการที่ชาวอินดูสุดโต่งบุกเข้าทำลายมัสยิดของชาวมุสลิม การทำลายครั้งนั้นกระทบต่อมุสลิมทั้งโลก มีการประท้วงของชาวมุสลิมจนเกิดการปะทะกับชาวฮินดูในหลายเมืองของอินเดีย ทั้งนิวเดลี กัลกัตตา และบอมเบย์ จนมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 2,000 คน

นับตั้งแต่นั้นมา ทั้งฝ่ายมุสลิมและฮินดูต่างต่อสู้กันทางกฎหมายในข้อฟ้องร้องเกี่ยวกับศาสนสถานแห่งนื้ในหลายคดี แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างศาสนสถานขึ้นในบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลอินเดียอาจมองได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายฮินดูมากกว่า โดยเฉพาะส่งผลด้านบวกโดยตรงต่อพรรคภารติยะ ชนตะ ( บีเจพี )ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมฮินดู ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งสมัยที่สองเมื่อกลางปีที่ผ่านมาแบบถล่มทลาย แต่คำตัดสินดังกล่าวของศาลส่งผลให้หลายฝ่ายจับตามองว่าจะเกิดความรุนแรงในพื้นที่พิพาทแห่งนี้ขึ้นอีกครั้งดังเช่นเมื่อปี 1992 หรือไม่ โดยทางการอินเดียได้ส่งเจ้าหน้าที่นับพันนายเข้าคุมสถานการณ์ในเมืองอโยธยาระดับสูงสุด