posttoday

วิจัยใหม่พบ กรุงเทพฯไม่จมทะเลแค่รอบนอก แต่จะจมเกือบทั้งเมืองใน 31 ปีข้างหน้า

30 ตุลาคม 2562

วิจัยใหม่คาดภายในปี 2050 หลายเมืองใกล้ชายฝั่งในอาเซียนจะถูกทะเลกลืน จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิจัยใหม่คาดภายในปี 2050 หลายเมืองใกล้ชายฝั่งในอาเซียนจะถูกทะเลกลืน จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า Climate Central องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐ ได้เผยผลการวิจัยฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นนั้นจะทำให้หลายเมืองโดยเฉพาะเมืองใกล้พื้นที่ชายฝั่งในแถบอาเซียนและประเทศใกล้เคียง มีความเสี่ยงถูกน้ำทะเลเข้าท่วม ไม่ว่ามนุษย์จะหามาตรการควบคุมการปล่อยค่าคาร์บอนแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายระดับน้ำทะเลจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น

วิจัยก่อนหน้านี้ของ Climate Central คาดการณ์ว่าหลายเมืองในเอเชีย รวมถึงกรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ทว่าจากการคำนวณใหม่โดยได้อาศัยวิธีการที่แม่นยำมากขึ้นจากภาพถ่ายดาวเทียมตามระดับความสูงของที่ดิน ซึ่งจากภาพถ่ายดาวเทียมก่อนหน้านี้ผู้วิจัยพบปัญหาที่ไม่สามารถแยกความสูงของตึกอาคารกับต้นไม้จากความสูงของระดับพื้นดินได้ จึงอาศัยเทคโนโลยีใหม่และนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบกับวิธีใหม่ในการประเมินผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่ขนาดใหญ่และพบว่าตัวเลขที่คาดคะเนไว้ในวิจัยก่อนหน้านี้อยู่ในแง่ดีเกินไป

วิจัยใหม่พบ กรุงเทพฯไม่จมทะเลแค่รอบนอก แต่จะจมเกือบทั้งเมืองใน 31 ปีข้างหน้า ภาพ : New York Times

จากข้อมูลใหม่พบว่าตัวเลขผลกระทบของผู้คนตามเมืองใหญ่นั้นจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า หากเทียบกับวิจัยก่อนหน้า ภายในปี 2050 หรือในพ.ศ. 2593

หลายเมืองในพื้นที่ทางใต้ของเวียดนามเกือบจะหายไปจากแผนที่ รวมถึงนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจของเวียดนามจะได้รับผลกระทบเกือบครึ่งเมือง ประเมินว่าผู้คนราว 20 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรเวียดนามที่อาศัยอยู่บนบกในขณะนี้ เสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วมในอนาคต

งานวิจัยดังกล่าวประเมินแค่ปัจจัยผลกระทบการเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเลเท่านั้น ยังไม่ได้นำปัจจัยเสริมด้านการเติบโตของประชากรในอนาคต หรือการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของทะเลมารวมในวิจัยครั้งนี้ด้วย นั้นหมายความว่าในความเป็นจริง อาจเลวร้ายกว่าในรายงานฉบับนี้ระบุ

วิจัยใหม่พบ กรุงเทพฯไม่จมทะเลแค่รอบนอก แต่จะจมเกือบทั้งเมืองใน 31 ปีข้างหน้า ภาพ : New York Times

สำหรับประเทศไทย พื้นที่เกือบทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร หรือคิดเป็นพลเมืองมากกว่า 10 % ที่อาศัยบนพื้นดินใกล้ชายฝั่ง รวมถึงในกรุงเทพมหานครเสี่ยงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูง หรือเผชิญกับอุทกภัย ภายในปี พ.ศ. 2593 เทียบกับผลวิจัยก่อนหน้าที่คาดว่าจะกระทบต่อประชาชนเพียง 1 % ของกรุงเทพฯเท่านั้น หรือเลวร้ายจากการประเมินครั้งก่อนถึง 12 เท่า

Loretta Hieber Girardet เจ้าหน้าที่บรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติขององค์การสหประชาชาติและเป็นผู้มีถิ่นพำนักในกรุงเทพกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างแรงกดดันให้กับเมืองในหลายๆด้าน ภาวะโลกร้อนไม่เพียงจะทำให้มีน้ำท่วมขังมากขึ้น แต่จะยิ่งผลักเกษตรกรให้ออกจากที่ดินเพื่อไปหางานทำในเมือง เนื่องจากผลกระทบทางภูมิอากาศต่อภาคเกษตร

 

วิจัยใหม่พบ กรุงเทพฯไม่จมทะเลแค่รอบนอก แต่จะจมเกือบทั้งเมืองใน 31 ปีข้างหน้า ภาพ : New York Times

ประเมินคราวๆว่าจะมีประชากรราว 300 ล้านคนทั้งในอาเซียนและเมืองอื่นๆของเอเชียจะได้รับผลกระทบด้านความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต

เช่นเดียวกับนครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญของจีนและเอเชีย ประเมินว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะเข้าท่วมพื้นที่ใจกลางของเมืองและบริเวณโดยรอบ

ส่วนกรุงจาร์กาต้าของอินโดนีเซียนั้น รายงานวิจัยได้ปรับตัวเลขผลกระทบลง สืบเนื่องจากที่ทางการอินโดฯเพิ่งประกาศแผนการย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะกาลิมันตัน แต่ประเมินว่าจาร์กาต้าก็ยังคงได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน จากปัญหาการทรุดตัวของเมืองที่เผชิญอยู่ประกอบกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

คาดว่าในปี 2050 ประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสองพันล้าน และจะสูงขึ้นพันล้านคนภายในปี 2100 ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยตามเมืองใกล้ชายฝั่ง ซึ่งมนุษย์ในอนาคตจะถูกธรรมชาติบังคับให้ต้องปรับตัวหรือย้ายออกจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ