posttoday

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ?

26 ตุลาคม 2562

โดย .. ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ Posttoday Exclusive

โดย .. ชยพล พลวัฒน์ ข่าวต่างประเทศ Posttoday Exclusive

สถานการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่ในชิลีโดยมีจุดเริ่มต้นจากประเด็นขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมโทรในกรุงซานติอาโกได้บานปลายรุนแรง และยกระดับกลายเป็นการขับไล่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา แล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับชิลี ประเทศซึ่งได้ชื่อว่า "ดีที่สุด" ในอเมริกาใต้ เหตุใดผู้คนถึงออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจรัฐบาลกันได้มากมายถึงเพียงนี้ Posttoday Exclusive ขออธิบายสถานการณ์ที่เกิดดังนี้

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

 

ที่บอกว่าชิลีเป็นประเทศดีที่สุดในอเมริกาใต้นั้น ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะในบรรดากลุ่มประเทศลาตินอเมริกานั้น ชิลีมีอัตตรารายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดเฉลี่ยกว่า 16,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยจำนวนประชากรราว 18 ล้านคน

GDP ในปี 2018 โดยเฉลี่ยโตราว 3% อัตราเงินเฟ้อต่ำ ดัชนีคอรัปชั่นต่ำกว่าประเทศอื่นๆในอเมริกาใต้ด้วยกัน รวมถึงรัฐบาลมีการจัดสวัสดิด้านสาธารณสุข การศึกษา ระบบบำนาญให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า และเป็นเพียงประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่ถูกจัดอยู่ในสถานะประเทศพัฒนาแล้วของ OECD

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

 

จู่ๆเกิดอะไรขึ้นกับชิลี

1. ชนวนเหตุที่จุดม็อบชิลีให้ลุกฮือประท้วงรัฐบาลสืบเนื่องจาก ภาครัฐต้องการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินราว 4% จาก 800 เปโซชิลี (ราว 34 บาท) เป็น 830 เปโซชิลี (ราว 35 บาท) ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการประกาศขึ้นราคาก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมกราคมที่ขึ้นค่าโดยสาร 20 เปโซชิลี โดยให้เหตุผลว่ามีต้นทุนทางพลังงานที่สูงขึ้นและเงินเปโซที่อ่อนค่าลง

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรดานักเรียน นักศึกษา เริ่มออกมาเดินขบวนประท้วงในใจกลางกรุงซานติอาโก ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทั่งถึงจุดเริ่มความรุนแรงในวันที่ 19 ต.ค. มีรายงานการบุกเผาภายในสถานีรถไฟฟ้า เกิดความรุนแรงหลายพื้นที่ทั่วเมือง จนทางการต้องส่งเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลเข้าคุมสถานการณ์จนเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่

ความรุนแรงครั้งนั้น รัฐบาลชิลีต้องประกาศภาวะฉุกเฉินภายในเมืองหลวง

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

 

2. กรุงซานติอาโกนับว่าเป็นเมื่อที่มีระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่ทันสมัยและครอบคลุมที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ระยะทางรวมกว่า 140 กิโลเมตร สถานีให้บริการทั้งหมด 136 สถานี

ด้านรัฐบาลชิลีโดยประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ออกมาแถลงประณามเหตุรุนแรง พร้อมให้คำมั่นเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคม ด้วยมาตรการเพิ่มเงินบำนาญรายเดือนขึ้นต่ำจาก 109,704 เปโซ เป็น 131,499 เปโซ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนจาก 301,000 เปโซ เป็น 350,000 เปโซ และลดอัตราค่าไฟฟ้าลงภายในเดือนหน้า

แต่ทว่าคำแถลงดังกล่าวดูจะไม่สามารถลดทอนความไม่พอใจของผู้ประท้วงได้

สถานการณ์ประท้วงในกรุงซานติอาโกยังคงทวีความรุนแรง ผู้ประท้วงนับหมื่นคนซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไปและกลุ่มสหภาพแรงงานออกมาเดินขบวนในหลายพื้นที่ทั่วเมือง ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ 20,000 คนเข้าควบคุมสถานการณ์ มีการปะทะพร้อมยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 19 ราย

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? เซบาสเตียน ปิเญรา ผู้นำชิลี ภาพ : AFP

 

3. การชุมนุมประท้วงไม่ได้อยู่แค่ในกรุงซานติอาโกอีกต่อไป ได้ขยายผลไปยังเมืองอื่นๆทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในแคว้นอันโตฟากัสตา, บัลปาราอี, วัลดิเวีย, ชิลลัน, ทัลคา, เตมูโก และปุนตาอาเรนัส

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา การประท้วงครั้งนี้กลายเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไปแล้ว เนื่องจากทางการเทศบาลซานติอาโกประเมินว่ามีประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา จำนวนมากถีงหลักล้านคน หรือคิดเป็นมากกว่า 5% ของประชากรทั้งประเทศ

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

ภาพจำ(ครั้งเผด็จการ)ยังคงชัดเจน

การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ กับผู้ประท้วงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวางเพลิง ทำลายทรัพย์สินและปล้นสะสม จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย (บางรายงานระบุ 16ราย) ผู้บาดเจ็บนับร้อยคน และมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปมากเกือบ 7,000 คน ทำให้ภาพจำของชิลีสมัยภายใต้การปกครอง นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้นำเผด็จการที่เคยปกครองชิลีมานาน 16 ปี ย้อนกลับมาในความทรงจำของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ชิลีส่งทหารหลายนายลงถนนปราบผู้ชุม ยิ่งเติมเชื้อไฟให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของเซบาสเตียน ปิเญรา อดีตมหาเศรษฐีผู้ผันตัวเล่นการเมือง เขาได้พยายามรื้อฟื้นนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายหลายอย่างของเขาถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน

กรณีเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและใช้กำลังปราบปรามประชาชนนั้น ส่งผลให้นางมิเชล บาร์เชลเลต อดีตประธานาธิบดีหญิงของชิลีและเป็นอดีตคู่แข่งทางการเมืองของปธน.ปิเญรา ซึ่งขณะนี้เธอนั่งเก้าอี้ประธานสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกาศว่าจะเข้าตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ชิลีว่าละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

เจริญที่สุดและเหลื่อมล้ำที่สุด

แม้ชิลีจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเจริญที่สุดในอเมริกาใต้ แต่ก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงไม่แพ้กัน ตามรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD พบว่า ชิลีมีช่องวางทางรายได้ต่อประชากรสูงถึง 65% นับว่ามากว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ด้วยกัน ชาวชิลีหลายคนรู้สึกว่าค่าครองชีพกำลังเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและยารักษาโรคสูงขึ้น เงินบำนาญของรัฐอยู่ในระดับต่ำ ตามข้อมุลของสถาบันสถิติแห่งชาติชิลีระบุว่า แรงงานชิลีกว่าครึ่งของทั้งประเทศมีรายได้เพียง 550 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว16,500 บาท) หรือน้อยกว่านั้น เช่นเดียวกับรายงานในปี 2018 ระบุว่ารายได้ของคนรวยในชิลีสูงกว่าคนจนถึง 13.6 เท่า อีกทั้งข้อมูลในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าชิลีมีอัตราว่างงานสูงถึง 6.9% 

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

แล้วผู้ประท้วงต้องการอะไร

ผู้ประท้วงคนหนึ่งเผยกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาต้องดิ้นรนในทุกเดือนเพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข ค่าเช่า และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆที่สูงขึ้น ประชาชนหลายคนยังไม่ได้รับเงินบำนาญของรัฐ หรือได้รับในจำนวนน้อยไม่พอต่อการยังชีพ

อย่างไรก็ดี การประท้วงครั้งใหญ่และรุนแรงครั้งนี้ ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย รวมถึงกลุ่มผู้ประท้วงก็ไม่มีแกนนำและเป้าหมายเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ชัดเจน ส่งผลให้หลายฝ่ายหวั่นว่าสถานการณ์ต่อไปจะดำเนินไปในทิศทางใด โดยขณะนี้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเพียงข้อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา ลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? ภาพของผู้ชุมนุมหลากหลายวัยกับข้อความเรียกร้องหลายประเด็นอาทิ "ความยุติธรรม" "เงินบำนาญ" "ปิเญราลาออก" "ความเท่าเทียม" และ "เพิ่มรายได้ให้ประชาชน" ภาพ : AFP

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP

 

อธิบายประท้วงใหญ่ชิลี เกิดอะไรขึ้นกับประเทศดีที่สุดในลาตินอเมริกา ? AFP