posttoday

ทำไมญี่ปุ่นถูกจัดอันดับให้มีระบบบำนาญแย่ที่สุดเหมือนไทยตามรายงานบลูมเบิร์ก

25 ตุลาคม 2562

อายุขัยที่เพิ่มขึ้นของชาวญี่ปุ่นส่งผลให้เงินบำเหน็จบำนาญไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ

อายุขัยที่เพิ่มขึ้นของชาวญี่ปุ่นส่งผลให้เงินบำเหน็จบำนาญไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุดในโลก โดยใช้ข้อมูลจาก Melbourne Mercer Global Pensions Index ที่ศึกษาความพร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญของ 37 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีระบบการเงินหลังเกษียณแย่ที่สุด โดยถูกจัดอยู่ในอันดับ D ซึ่งอยู่ท้ายสุดของตาราง คือยังมีบางจุดที่อ่อนแอหรือขาดตกบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไข มิเช่นนั้นจะขาดประสิทธิภาพและความยั่งยืน

ที่น่าสนใจคือ ประเทศญี่ปุ่นที่เคยเข้าใจกันว่าน่าจะมีระบบสวัสดิการหลังวัยเกษียณที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ กลับถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญแย่ที่สุดเช่นเดียวกับไทย

ในรายงานนั้นญี่ปุ่นได้คะแนนทั้งความพอเพียงและความน่าเชื่อถือของกองทุนบำเหน็จบำนาญมากกว่าไทย ทว่าในด้านของความมั่นคงยั่งยืนของกองทุน ญี่ปุ่นกลับได้คะแนนน้อยกว่าไทย (ไทยได้ 38.8 คะแนน ญี่ปุ่นได้ 32.2 คะแนน)

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันก็เผชิญปัญหาประชากรลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดต่ำลงๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องทำงานเพื่อส่งเงินเข้าระบบสำหรับเลี้ยงดูคนวัยเกษียณที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น จนเกิดคำถามว่ากองทุนนี้จะแบกรับภาระต่อไปได้นานเท่าไร นำมาสู่ความกังวลทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่รับเงินบำนาญก็กลัวว่าจะถูกตัดลดเงิน ส่วนคนรุ่นใหม่ก็กลัวว่าถึงเมื่อถึงวันที่ตัวเองเกษียณแล้วกองทุนจะหมดเงินเสียก่อน

เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารของญี่ปุ่นเผยว่า คู่สามีภรรยาญี่ปุ่นวัยเกษียณต้องใช้เงินอย่างน้อย 20 ล้านเยน หรือราว 5.55 ล้านบาท หากมีอายุยืนถึง 95 ปี หรือ 30 ปีหลังจากเกษียณ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 33% ภายในปี 2050 ส่งผลให้ภาระในการดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาลซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 33% ของงบประมาณประจำปี จะเพิ่มเป็น 50% ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีความเป็นไปได้ที่กองทุนเงินบำเหน็จบำนาญของประเทศจะค่อยๆ ร่อยหรอลง

พูดง่ายๆ ก็คือ คนญี่ปุ่นอาจไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพในบั้นปลาย เพราะเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลงอกเงยไม่ทันอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ คนเรามีอายุยืนกว่าเงินที่เตรียมไว้ใช้ในวัยเกษียณ โดยปัจจุบันนี้ชาวญี่ปุ่นมีเงินสำหรับใช้จ่ายในวัยเกษียณได้เพียง 4.5 ปีเท่านั้น เท่ากับว่าจะมีเงินใช้ถึงอายุ 69.5 ปี แต่พวกเขามีอายุขัยเฉลี่ย 81.25 ปีสำหรับผู้ชาย และ 87.32 ปีสำหรับผู้หญิง

ประเทศไทยของเราก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผ้สูงอายุ หากไม่เร่งดำเนินการวางแผนรองรับคงหนีไม่พ้นต้องเผชิญปัญหาเดียวกับญี่ปุ่น