posttoday

อนาคตการสืบทอดบัลลังก์ญี่ปุ่นท่ามกลางสมาชิกชายที่น้อยลง

23 ตุลาคม 2562

ด้วยกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ขึ้นครองราชย์ได้ ตอนนี้รัชทายาทของราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงเหลือเพียง 3 คนเท่านั้น

ด้วยกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ขึ้นครองราชย์ได้ ตอนนี้รัชทายาทของราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงเหลือเพียง 3 คนเท่านั้น

สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลแนวอนุรักษนิยมของญี่ปุ่น เสนอให้นำสมาชิกราชสกุลชายของทั้ง 11 ราชสกุลที่ถูกตัดออกจาการเป็นสมาชิกราชวงศ์เมื่อปี 1947 กลับเข้าเป็นสมาชิกราชวงศ์ โดยการให้สมาชิกราชสกุลชายที่ยังไม่สมรสเข้าพิธีสมรสเข้าสู่ราชวงศ์หรือให้รับเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อให้มีทายาทชายในการสืบต่อราชบัลลังก์อย่างมั่นคงในภายภาคหน้า หลังสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้ชายเหลือน้อยลงๆ

ปัจจุบันราชวงศ์ญี่ปุ่นที่สมาชิกทั้งหมด 18 พระองค์ รวมทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีพันปีหลวงมิชิโกะซึ่งไม่ได้ออกปฏิบัติพระกรณียกิจแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นราชวงศ์หญิงถึง 13 คน

และด้วยความที่กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นเมื่อปี 1947 กำหนดให้เฉพาะสมาชิกราชวงศ์ชายที่สืบเชื้อสายจากพ่อเท่านั้นที่สืบต่อบัลลังก์ได้ ทำให้เหลือสมาชิกราชวงศ์ชายที่จะสืบทอดบัลลังก์ดอกเบญจมาศต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะเพียง 3 พระองค์ คือ มกุฎราชกุมารฟูมิฮิโตะ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ พระชันษา 53 ปี เจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสในมกุฎราชกุมารฟูมิฮิโตะ พระชันษา 12 ปี และเจ้าชายฮิตาชิ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอากิฮิโตะ ชันษา 83 ปี

หากยังใช้กฎมณเฑียรบาลที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิต่อไป ในอนาคตการสืบต่อราชบัลลังก์ของญี่ปุ่นอาจไม่มั่นคง และเค้าลางก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครั้งเริ่มรัชสมัยเฮย์เซย์ในปี 1989 มกุฎราชกุมารฟูมิฮิโตะคือสมาชิกราชวงศ์ชายคนล่าสุดที่ถือกำเนิดในราชวงศ์ญี่ปุ่นในปี 1965

ความกังวลนี้ทำให้รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิสุมิ พยายามเปลี่ยนกฎเกณฑ์การสืบสันตติวงศ์ในปี 2005 อาทิ ให้สมาชิกราชวงศ์หญิงขึ้นครองราชย์ได้ ให้ทายาทที่สืบเชื้อสายทางแม่มีสิทธิ์เป็นรัชทายาทและให้ลูกคนแรกไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์ลำดับแรก โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้เพื่อเอื้อให้เจ้าหญิงไอโกะ พระธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะที่ประสูติเมื่อปี 2001 มีสิทธิ์เป็นจักรพรรดินี

ทว่าขณะนั้นรัฐบาลต้องเผชิญแรงกดดันจากภายในพรรคค่อนข้างสูง บวกกับการประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะในปี 2006 ซึ่งถือเป็นสมาชิกราชวงศ์ชายคนแรกในรอบ 41 ปีของญี่ปุ่น ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวตกไป

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้สมาชิกราชวงศ์หญิงที่แต่งงานกับชายสามัญชนสามารถคงตำแหน่งในฐานะสมาชิกราชวงศ์ไว้ได้ แต่ก็ถูกฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยมคัดค้าน เพราะเกรงว่านำมาสู่การขึ้นครองบัลลังก์ของผู้หญิงหรือทายาทที่สืบเชื้อสายจากทางแม่จะมีสิทธิ์เป็นจักรพรรดิ

และแม้ว่าเมื่อปี 2017 ที่รัฐบาลอภิปรายกฎหมายการสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอิกิฮิโตะจะมีการเสนอให้รัฐบาลหามาตรการแก้ปัญหาการสืบบัลลังก์ รวมทั้งเสนอให้สมาชิกราชวงศ์หญิงคงสถานะเดิมหลังแต่งงานกับสามัญชน แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านด้วยเหตุผลเดิมคือกลัวว่าผู้หญิงจะได้ครองราชย์

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวเกียวโดเมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า ชาวญี่ปุ่น 84% สนับสนุนให้ผู้หญิงครองบัลลังก์ ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับ อิตสุโอะ โซโนเบะ อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของญี่ปุ่น ที่มองว่าหากไม่ยอมให้ผู้หญิงหรือทายาทที่สืบเชื้อสายทางแม่ขึ้นครองบัลลังก์ได้ ญี่ปุ่นอาจเผชิญการสิ้นสุดของราชวงศ์

ทว่า ฮิเดสุงุ ยางิ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยเรย์ทาคุแย้งว่า การครองราชย์ของจักรพรรดิทั้ง 126 ครั้งที่ผ่านมาล้วนเป็นผู้ชายที่สืบเชื้อสายทางฝั่งพ่อ ส่วนในอนาคตจะยอมให้ทายาทที่เกิดจากเจ้าหญิงเป็นจักรพรรดิหรือไม่นั้นไม่ควรนำหลักการสืบสันตติวงศ์กับเทรนด์สังคมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศมาปะปนกัน

แม้การเปลี่ยนแปลงให้ผู้หญิงครองบัลลังก์ได้จะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่ในอนาคตญี่ปุ่นต้องนำประเด็นดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกแน่นอนหากยังยึดกฎมณเฑียรบาลเดิม