posttoday

ทรัมป์สลายพันธมิตร แยกรัสเซียเพื่อโดดเดี่ยวจีน

25 สิงหาคม 2562

สิ่งที่ทรัมป์ต้องทำคือถ่วงดุลด้วยการนำรัสเซียกลับเข้ามอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีจีนอยู่ด้วย เพื่อให้คุยกันง่ายขึ้น และโดดเดี่ยวจีนในแง่จิตวิทยา บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

สิ่งที่ทรัมป์ต้องทำคือถ่วงดุลอำนาจในเวทีโลก ด้วยการนำรัสเซียกลับเข้ามอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีจีนอยู่ด้วย เพื่อให้คุยกันง่ายขึ้น และโดดเดี่ยวจีนในแง่จิตวิทยา บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

ในการประชุม G7 ที่เมืองเบียร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างร่วมประชุมไปด้วยรับประทานอาหารเช้าไปด้วยกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐเผยว่า "มีความเป็นไปได้" ที่เขาจะเชิญรัสเซียมาร่วมการประชุม G7 ในปีหน้า ซึ่งสหรัฐเป็นเจ้าภาพ

ก่อนหน้านี้ G7 ไม่ได้มีแค่ 7 ประเทศ แต่เป็นกลุ่ม G8 โดยรวมรัสเซียเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม รัสเซียถูกขับจากกลุ่มเมื่อปี 2014 เนื่องจากรุกรานยูเครน ซึ่งรัสเซียอ้างว่าเป็นการ "ปลดปล่อย" ดินแดนของชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซีย

ด้วยความที่รัสเซียมีอิทธิพลมากโดยเฉพาะเรื่องพลังงาน เพราะยุโรปเกือบครึ่งหนึ่งต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย (60%) ทำให้สมาชิกกลุ่มไม่ได้ปิดตายรัสเซียไม่ให้เข้าสู่ G7 เพียงแต่ว่าถ้าอยากจะกลับมาอีก รัสเซียจะต้องปฏิบัติตามพิธีสารมินก์ (Minsk II) โดยหลักๆ ก็คือรัสเซียจะต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ขัดแย้ง แต่รัสเซียและ "ลูกน้อง" ในพื้นที่ไม่ได้ทำตาม 100%

นี่คือเงื่อนไขที่ฝ่ายยุโรปต้องการให้รัสเซียทำตามก่อนจะร่วมกลุ่มอีกครั้ง แต่จู่ๆ ทรัมป์ก็โพล่งขึ้นมาว่าอยากจะให้รัสเซียมาร่วมวงด้วยโดยไม่ได้บอกเงื่อนไข (มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะไม่สนใจเงื่อนไขของ Minsk II) ไม่ว่าเรื่องนี้จะมีส่วนหรือไม่ บรรยากาศในการประชุม G7 ที่ฝรั่งเศสค่อนข้างอึมครึม มีรายงานว่าผู้นำประเทศอื่นๆ เย็นชาใส่ทรัมป์ แต่เช้าวันที่ 25 สิงหาคม ทรัมป์ทวีตข้อความแก้ตัวว่า "ผู้นำโลกเข้ากันได้ดีมากๆ"

ว่ากันที่สาเหตุที่ทำให้บรรยากาศกร่อยกันก่อน มีรายงานข่าวว่า ทรัมป์พยายามชักชวนให้ผู้นำ G7 ช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่บรรดาผู้นำต่างชี้นิ้วกลับมาที่ทรัมป์ โดยบอกให้เขาเลิกความคิดที่จะเปิดสงครามการค้ากับจีนและประเทศอื่นๆ เสีย เพราะนี่แหละคือตัวการเศรษฐกิจถดถอย

แน่นอนว่าทรัมป์มิได้แยแส ทั้งยังชวนรัสเซียกลับเข้ากลุ่มโดยไม่ถามไถ่คนอื่น

ดูเผินๆ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับทรัมป์ไม่ค่อยราบรื่นนักในระยะหลัง แต่เราจะลืมไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016 รัสเซียเข้าแทรกแซงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปล่อยข่าวปลอมทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รวบรวมโดย Cambridge Analytica ถูกเข้าถึงจากรัสเซีย และ Cambridge Analytica คือผู้ทำแคมเปญด้านดาต้าให้กับทีมเลือกตั้งของทรัมป์

คนใกล้ชิดของทรัมป์ตั้งแต่ระดับที่ปรึกษาไปจนถึงลูกชายและลูกเขย เคยพบกับเจ้าหน้าที่การทูตของรัสเซียกันที่ตึก Trump Tower พวกเขาคุยอะไรกัน? ตอนนี้ก็ยังเป็นปริศนา แต่เป็นได้ว่าหารือกันเรื่องแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ โดยรัสเซียคือผู้ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ให้ แน่นอนว่า ทรัมป์ปฏิเสธเรื่องนี้

รัสเซียมีเหตุผลที่ต้องสนับสนุนทรัมป์ เหตุผลเฉพาะหน้าก็คือ หากมีคนจากพรรคเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีอีก สหรัฐจะต่อต้านรัสเซียอย่างแข็งขันในเรื่องการรุกรานยูเครนเหมือนที่โอบามาและฮิลลารี คลินตันทำมาตลอด ส่วนทรัมป์คือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะเขาไม่สนใจเรื่องนี้ และยังมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัสเซีย

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่มีความยอกย้อน มักแสดงจุดยืนขัดแย้งกัน ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ท่าทีแบบนี้ทำให้เขาเดาทางได้ยากและทำให้เขาใช้นโยบายแบบสายฟ้าแลบเพื่อหวังผลเฉพาะหน้ามาได้หลายครั้งแล้ว ท่าทีต่อยูเครนก็เช่นกันที่มีหลากหลายจุดยืน บางครั้งเรียกร้องให้รัสเซียปฏิบัติตาม Minsk II บางครั้งเขาก็ชื่นชมรัสเซีย และบางครั้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

ตรงกันข้ามกับยุโรปหรือสมาชิกส่วนใหญ่ของ G7 ที่มีนโยบายต่อรัสเซียที่ชัดเจนไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำไปกี่คนแล้วก็ตาม

สาเหตุที่ทรัมป์ชวนรัสเซียกลับเข้ามาคืออะไร?

หลังจากขับรัสเซียจาก G8 รัสเซียหันไปสนิทสนมกับจีนมากขึ้น ล่าสุดในปีนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินทางไปยังกรุงมอสโก แล้วลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคง ด้านเทคโนโลยี และก๊าซธรรมชาติมูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับมีแถลงการณ์โจมตีนโยบายของทรัมป์ ข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังจากที่สหรัฐเปิดศึกการค้ากับจีนไปหมาดๆ

รัสเซียอาจช่วยทรัมป์ให้ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องยอมทรัมป์ไปเสียทุกเรื่อง รัสเซียนั้นได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง การคบหากับจีนอย่างแนบแน่นเป็นผลดี และการที่ทรัมป์ยังแคร์ก็เป็นผลดี รัสเซียจึงเป็นตัวแปรสำคัญของสงครามระหว่างจีน-สหรัฐ สิ่งที่ทรัมป์ต้องทำคือถ่วงดุลด้วยการนำรัสเซียกลับเข้ามอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีจีนอยู่ด้วย เพื่อให้คุยกันง่ายขึ้น และโดดเดี่ยวจีนในแง่จิตวิทยา

ท่าทีของทรัมป์จึงได้รับเสียงชื่นชมยินดีอย่างมากจากชาตินิยมกลุ่มสายเหยี่ยว เช่น Center for the National Interest ที่บอกว่า "ที่จริงแล้วการเพิ่มรัสเซียเข้ามาเป็นความคิดที่ดีอย่างเหลือเชื่อ" และ "การทำให้รัสเซียแปลกแยกยิ่งเป็นการตอบสนองประโยชน์ของจีน"

โอกาสที่รัสเซียจะเย็นชากับจีนเพื่อหันมาตอบสนองทรัมป์อาจมีน้อย แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนเข้าไปมีผลประโยชน์ในเอเชียกลาง อันเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย อาจเป็นชนวนความไม่พอใจระหว่าง 2 ประเทศในอนาคต