posttoday

เมื่อนักล่ากลายเป็นราเม็ง ญี่ปุ่นผุดจานเด็ดบะหมี่ปลาปิรันยา

25 สิงหาคม 2562

ผลที่ออกมาคือราเม็งที่ใช้น้ำซุปทำงจากปลาปิรันยา โปะหน้าด้วยปลาปิรันยาทอดกรอบเป็นของแกล้ม

 

สำนักข่าว soranews24 รายงานว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวัน April Fools’ Day มีการประกาศว่าญี่ปุ่นเริ่มจำหน่ายราเม็งปลาปิรันยาครั้งแรกของโลก แต่ปรากฎว่าเป็นข่าวลวงเนื่องในวันเมษาหน้าโง่ อย่างไรก็ตาม มีคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งอยากให้มีอาหารจานเจ็ดจานนี้จริงๆ หนึ่งในนั้นคือบริษัทพีาร์ Holiday Jack ที่มีคอนเซปต์เรื่องสร้างความต่างที่สุดขั้ว

ทีมงาน Holiday Jack ได้สั่งปลาปิรันยาจำนวนถึง 300 กิโลกรัม รวม 2,000 ตัวมาจากแม่น้ำแอมะซอน ในทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นการสั่งปลาปิรันยาล็อตใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น แม้แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ยังตกตะลึง เพื่อนำปลานักฆ่าเหล่านี้มาทำเป็นราเม็งสูตรใหม่จริงๆ

ผลที่ออกมาคือราเม็งที่ใช้น้ำซุปทำงจากปลาปิรันยา โปะหน้าด้วยปลาปิรันยาทอดกรอบเป็นของแกล้ม แต่อาหารจานนี้มีจำนวนจำกัด จะเสิร์ฟที่ร้าน Ninja Cafe ที่ย่านอาซาคุสะ ในกรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายนนี้เท่านั้น และจะมีให้บริการเพียง 1,000 ชาม สำหรับวันแรกจะเสิร์ฟให้ลูกค้าระดับวีไอพีแค่ 100 คน

เมื่อนักล่ากลายเป็นราเม็ง ญี่ปุ่นผุดจานเด็ดบะหมี่ปลาปิรันยา ภาพ Holiday Jack

ปิรันยาราเมนจะขายในราคาชามละ 3,000 เยน (860 บาท) โดยมีปลาปิรันยาทอดทั้งตัวขายแยกต่างหากราคา 2,500 เยน (716 บาท) ทำให้บะหมี่ที่มีปิรันยาทั้งชุดจะมีราคา 5,500 เยน (1576 บาท)

ทั้งนี้ ปลาปิรันยากินเนื้อเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ พบในแม่น้ำอเมซอน และแม่น้ำหลายสายในทวีปอเมริกาใต้ มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มแข็งแรง ใช้สำหรับกัดกินเนื้อของสัตว์ที่ตกลงไปอยู่ใกล้ที่อยู่เป็นอาหาร

เมื่อนักล่ากลายเป็นราเม็ง ญี่ปุ่นผุดจานเด็ดบะหมี่ปลาปิรันยา ภาพ André-Philippe D. P.


สำหรับเรื่องความโหดของปลาปิรันยานั้นมีรายงานอยา่งต่อเนื่อง เช่นในปี 2554 ชายอายุ 18 ปีเมาเหล้าแล้วปลาปิรันยารุมกินจนตายที่เมืองโรซาริโอเดลยาตาประเทศโบลิเวีย ในปี 2555 เด็กหญิงชาวบราซิลอายุ 5 ขวบถูกปลาชนิดนี้รุมกัดกินจนตายเช่นกัน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เด็กหญิงอายุ 6 ขวบเสียชีวิตหลังจากถูกปลาปิรันยารุมกินจนตายหลังจากเรือล่มระหว่างล่องแม่น้ำในบราซิล

ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้เลี้ยงปลาปิรันยาเป็นปลาสวยงามได้ ส่วนประเทศไทยห้ามนำเข้าตัวที่ยังมีชีวิต เพราะเกรงจะแพร่ลงสู่แหล่งน้ำและขยายพันธุ์ แต่อนุญาตให้นำเข้ามาในรูปอาหารแช่แข็งเพื่อบริโภค