posttoday

ญี่ปุ่นแทงข้างหลังจีน เปิดหน้า ARM บริษัทชิปที่ตั้งในUKแต่เจ้าของคือJapan

23 พฤษภาคม 2562

เมื่อญี่ปุ่นร่วมมือกับสหรัฐ ปล่อยให้สองบริษัทยักษ์ใหญ่ผนึกกำลังเล่นงานหัวเว่ย

เมื่อญี่ปุ่นร่วมมือกับสหรัฐ ปล่อยให้สองบริษัทยักษ์ใหญ่ผนึกกำลังเล่นงานหัวเว่ย 

หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศคว่ำบาตรหัวเว่ย บรรดาบริษัทคู่ค้าทั่วโลกก็เริ่มประกาศยุติการทำการค้ากับหัวเว่ย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล พานาโซนิคของญี่ปุ่น และ ARM บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ในอังกฤษ

ในบรรดาคู่ค้า 3 เจ้านี้เป็นบริษัทของญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ ที่บอกว่าส่วนใหญ่เพราะบริษัท ARM ที่เข้าใจว่าเป็นบริษัทของอังกฤษนั้น แท้จริงแล้วบริษัทนี้เปลี่ยนสัญชาติเป็นของญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังคงสำนักงานใหญ่ไว้ที่เมืองเคมบริดจ์ของอังกฤษเท่านั้น จุดนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ARM เป็นของอังกฤษ

บริษัท ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ของ มาซาโยชิ ซน นักธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าซื้อ ARM เมื่อปี 2016 ด้วยมูลค่า 23,400 ล้านปอนด์ โดยมีซอฟท์แบงก์ กรุ๊ปถือหุ้น 75% ส่วนอีก 25% เป็นของกองทุน Vision Fund กองทุนที่มุ่งลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นของซอฟท์แบงก์ และปัจจุบันนี้ มาซาโยชิ ซน ก็นั่งตำแหน่งประธานบริษัทของ ARM พูดง่ายๆ ก็คือ ซอฟท์แบงก์เป็นเจ้าของ ARM แบบ 100%

แน่นอนว่าคำสั่งนี้ต้องมาจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น เพราะในเวลาเดียวกันธุรกิจหนึ่งของ SoftBank คือแบรนด์มือถือโลว์คอสต์ Ymobile ประกาศชลอการขายเครื่องของหัวเว่ยรุ่น Huawei P30 Lite

นี่ยังไม่ใช่ความเคลื่อนไหวครั้งแรกของ SoftBankเพราะเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยังแสดงท่าทีว่าจะเลิกใช้อุปกรณ์ 4G จากหัวเว่ย แล้วหันไปใช้ของ Ericsson กับ Nokia ในส่วนของเทคโนโลยี 5G ก็หันไปใช้ของยุโรปเช่นกัน 

หากจะพูดว่ามรสุมตัดสัมพันธ์ทางการค้าที่ซัดใส่หัวเว่ยลูกนี้ก่อตัวจากญี่ปุ่นก็ไม่ผิดนัก แต่แทนที่จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่น สงครามการค้าทำให้บริษัทชิปชั้นนำของแดนอาทิตย์อุทัยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น Taiyo Yuden ที่ราคาหุ้นตกลงถึง 26% ในเดือนนี้ หุ้นของ TDK ดิ่งลงถึง 23% เลวร้ายที่สุดในรอบ 11 ปี เพราะทั้ง 2 บริษัทมียอดขายที่ได้จากหัวเว่ยราวๆ 10% 

วิกฤตการณ์นี้อาจจะยิ่งกระทบบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้น หลังจากสหรัฐตัดช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีอเมริกันที่สำคัญๆ ไม่ให้ถึงมือของบริษัทจีน 5 แห่งรวมถึง Hikvision และ Megvii ทำให้ผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่หัวเว่ยแต่ยังลามไปถึงผู้ผลิตกล้อง CCTV 

ต้องไม่ลืมว่า หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มียอดขายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก หากยอดผลิตของหัวเว่ยลดลง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิปด้วย ดังนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องจับตากันว่า ทำไมอุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่นถึงกล้าที่จะหักดิบความสัมพันธ์กับหัวเว่ย?