posttoday

อาลา ซาลาห์ นศ.สาวผู้ฝ่าดงกระสุนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน

24 เมษายน 2562

เธอคนนี้กลายเป็นไอคอนแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยให้เพื่อนร่วมชาติจนกลายเป็นไอคอนของชาวซูดานในชั่วข้ามคืน

เธอคนนี้ฝ่าดงกระสุนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยให้เพื่อนร่วมชาติจนกลายเป็นไอคอนของชาวซูดานในชั่วข้ามคืน

ชาวซูดานเริ่มรวมตัวประท้วงประธานาธิบดี โอมาร์ อัล บาชีร์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลตัดสินใจขึ้นราคาขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวบ้านถึง 3 เท่าตัว บวกกับปัญหาขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเงินสดรุมเร้าอยู่ก่อนแล้ว ความไม่สงบนี้จึงลุกลามบานปลายเป็นการประท้วงระดับประเทศ จนทหารเข้ายึดอำนาจประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

อาลา ซาลาห์ นศ.สาวผู้ฝ่าดงกระสุนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน ประธานาธิบดี โอมาร์ อัล บาชีร์ ภาพ : REUTERS/Mohamed Nureldin Abdalla

ท่ามกลางการประท้วงขับไล่ผู้นำ ได้มีแกนนำการประท้วงที่เป็นหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งผุดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นไอคอนของชาวซูดานและเป็นที่สนใจไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน เธอสวมชุดคลุมสีขาวขึ้นไปยืนอยู่บนหลังคารถยนต์ ชูมือชี้นิ้วขึ้นฟ้า ร้องเพลงและเปล่งวาจาปลุกใจผู้ประท้วง โดยมีกลุ่มผู้ประท้วงด้วยกันยืนรายล้อมรถยนต์อยู่แน่นขนัด ในมือก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาบันทึกภาพของหญิงสาวไว้ และยังมี ลาน่า ฮารูน ช่างภาพท้องถิ่น แชะภาพบรรยากาศในวินาทีนั้นไว้ได้อีกทอดหนึ่ง เหตุการณ์ที่สร้างฮีโร่นี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 เม.ย. ก่อนการโค่นอำนาจผู้นำเพียง 2 วัน

ผู้คนพากันทวีตภาพภาพนี้จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์และได้รับความสนใจจากสื่อนานาชาติ  ภาพนี้ยังถูกมองว่าเป็นการแสดงถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงในการลุกขึ้นมาแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน

อาลา ซาลาห์ นศ.สาวผู้ฝ่าดงกระสุนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน ภาพ : AFP

หญิงสาวคนนี้มีชื่อว่า อาลา ซาลาห์ นักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมวัย 22 ปีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติซูดานในกรุงคาร์ทูม เธอไม่ได้มาจากครอบครัวนักเคลื่อนไหวแต่อย่างใด แม่ของเธอเป็นดีไซเนอร์ ส่วนพ่อเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้าง แต่ที่เธอออกมาประท้วงในกรุงคาร์ทูมก็เพราะอยากเห็นซูดานในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า และมองว่าประเทศอยู่เหนือพรรคการเมืองและการแบ่งแยก

ในวันที่เธอขึ้นไปยืนบนหลังคารถจนถูกถ่ายภาพนั้น เธอตระเวนไปยังกลุ่มต่างๆ กว่า 10 กลุ่มและอ่านกลอนเกี่ยวกับการปฏิวัติ เช่น “The bullet doesn’t kill. What kills is the silence of people” (กระสุนไม่ได้ทำให้เราตาย แต่ความเงียบต่างหากที่ฆ่าเรา) ของ อาซารี โมฮาเหม็ด อาลี ศิลปินชาวซูดาน ซึ่งเป็นคำยอดฮิตในหมู่ผู้ประท้วงทั้งในการประท้วงเมื่อต้นปี 2018 และความวุ่นวายในซูดานเมื่อเดือน ก.ย. 2013 ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าประโยคนี้ทำให้ผู้คนเกิดความฮึกเหิม ตอนแรกเธอพบกับกลุ่มผู้หญิงราว 6 คน และเธอก็เริ่มร้องเพลง จากนั้นทุกคนก็ร้องตามจนมีคนอื่นเข้ามาสมทบเยอะขึ้นๆ จนแน่นขนัดอย่างในภาพ

อาลา ซาลาห์ นศ.สาวผู้ฝ่าดงกระสุนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน ภาพ : AFP

ซาลาห์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า “ฉันอยากขึ้นไปยืนบนรถแล้วพูดกับผู้คน พูดต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ในทุกๆ รูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ ฉันต้องการพูดในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ฉันอยากประกาศว่าซูดานคือที่สำหรับทุกคน”

ทำไมผู้หญิงตัวเล็กๆ จึงกล้าลุกขึ้นมาพูดปลุกใจต่อหน้าผู้คนมากมายเช่นนี้ ซาลาห์ เผยว่า เธอผ่านการฝึกฝนการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยมานับครั้งไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นการพูดต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่ๆ จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ และไม่ใช่ปัญหาจริงๆ เสียด้วย เพราะหลังจากเธอตะโกนคำพูดปลุกใจออกไป บรรดาผู้ประท้วงร่วมชาติก็ตะโกนตอบกลับมาเป็นภาษาท้องถิ่นอย่างพร้อมเพรียงว่า  “Thawra” ที่แปลว่า ปฏิวัติ

นอกจากนี้ การแต่งกายในวันนั้นของเธอยังแฝงไปด้วยความหมายที่ทำให้ภาพของเธอดูมีพลังขึ้นมา ดังที่ ฮินด์ มักกี นักการศึกษาและบล็อกเกอร์ชื่อดังทวีตไว้ว่า ชุดคลุมพื้นเมืองสีขาวที่ซาลาห์สวมเป็นชุดแบบเดียวกับที่เวิร์กกิ้งวูเมนทั้งในเมืองและชนบทสวมใส่ ทั้งยังเป็นแบบเดียวกับที่ผู้หญิงในช่วงปี 1960-1980 สวมใส่ในการประท้วงรัฐบาลเผด็จการในสมัยนั้น ส่วนต่างหูพระจันทร์สีทองซึ่งเป็นเครื่องประดับพื้นเมืองของเจ้าสาว เป็นการแสดงถึงความงดงามของสตรีตามความเชื่อของประเทศอาหรับ  

อาลา ซาลาห์ นศ.สาวผู้ฝ่าดงกระสุนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดาน ภาพวาด อาลาซาลาห์ บนกำแพงของโรงนาแห่งหนึ่งใน จ.อิดลิบของซีเรีย โดยกลุ่มศิลปินชาวซีเรียที่เรียกตัวเองว่า Kesh Malek ภาพ : OMAR HAJ KADOUR/AFP

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ได้รับฉายาว่า “ผู้หญิงในชุดขาว” และ “เทพีเสรีภาพแห่งซูดาน” และ “กานดากา” ซึ่งคำหลังนี้ถูกใช้เรียกราชินีของนูเบียในสมัยโบราณที่ต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อประเทศและสิทธิ์ของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีศิลปินพากันวาดรูปเธอบนกำแพงและบนบิลบอร์ดตามจุดต่างๆ ในเมืองหลวงด้วย