posttoday

รัฐบาลแห่งชาติ คือทางออกฉุกเฉินของชาติ ไม่ใช่ของพรรคการเมือง

15 เมษายน 2562

รัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่นวัตกรรมทางการเมืองของไทย แต่เป็นรัฐบาลรูปแบบหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในหลายประเทศ เรียกว่า National unity government

ตอนนี้คำว่า "รัฐบาลแห่งชาติ" กลับมาฮิตอีกครั้งหลังจากห่างหายไปจากกระแสการเมืองหลายปี ประชาชนชาวไทยจะได้ยินคำๆ นี้บ่อยครั้งเวลาที่หาทางออกทางการเมืองไม่ได้ ทางออกตามแนวทางนี้ก็คือเสนอให้ตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย โดยนายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนที่กลุ่มการเมืองให้การยอมรับ หรือเป็นคนนอกก็ได้

 

*****************************

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

 

ในบ้านเรามีการเอ่ยถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" ในยุคที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีการพูดถึงกันอยู่ ต่อมาเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการเมืองก่อนและหลังการรัฐประหารปี 2549 และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีการเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หนึ่งในผู้เสนอ คือนายแพทย์ประเวศ วะสี แต่ในเวลานั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปัดว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับให้ร่วมรัฐบาล

คำว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่นวัตกรรมทางการเมืองของไทย แต่เป็นรัฐบาลรูปแบบหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในหลายประเทศ อย่างน้อยก็เริ่มปรากฎให้เห็นในช่วงศตวรรษที่ 20 ภาษาอังกฤษเรียกรัฐบาลแห่งชาติว่า National unity government ซึ่งแปลว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาษามีอิทธิพลต่อความนึกคิด การที่ภาษาไทยตัดคำว่า "เอกภาพ" ออกไป อาจมีส่วนให้การเมืองไทยฟอร์มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติไม่ได้เสียที ไม่เหมือนประเทศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม นิยามที่เป็นสากลของรัฐบาล (เอกภาพ) แห่งชาติ ไม่ตรงกับความเข้าใจของนักการเมืองในไทยนัก เพราะขณะที่นักการเมืองไทยต้องการให้รัฐบาลประเภทนี้เป็นทางออกของการต่อรองอำนาจ ในประเทศอื่นจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ในช่วงสงครามหรือหลังสงคราม

ช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก ปี 1894 พรรครัฐบาลญี่ปุ่นและฝ่ายค้านตกลงสงบศึกทางการเมืองในช่วงสงคราม และรวมตัวกันเพื่อเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และในช่วงทศวรรษที่ 20-30 หรือช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดีนัก ทำให้สาธารณชนรู้สึกว่ากำลังเกิดวิกฤต นายกรัฐมนตรีไซโตจึงริเริ่มรัฐบาลแห่งชาติขึ้น และกลายเป็นรัฐบาลที่มีอายุยาวนานที่สุดในช่วงสงคราม

ในปี 1917 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของแคนาดา เชิญพรรคฝ่ายค้านมาร่วมบริหารประเทศด้วย เพื่อแก้ไขวิกฤตการเกณฑ์ทหาร แม้ว่าผู้นำพรรคฝ่ายค้านเสรีนิยมจะปฏิเสธ แต่รัฐบาลสามารถดึงฝ่ายเสรีนิยมคนอื่นๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศจากวิกฤตได้ ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ยอมเข้าร่วมรัฐบาลเอกภาพ ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปปีเดียวกันนั้น แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาคับขัน ประชาชนย่อมให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่เห็นแก่บ้านเมืองจริงๆ

ลักเซมเบิร์ก มีรัฐบาลเอกภาพ 2 ครั้ง คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลบริหารประเทศร่วมกันในช่วงที่ประเทศพยายามวางตัวเป็นกลาง และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศได้รับความเสียหายอย่างมาก ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจึงผนึกกำลังกันขับเคลื่อนประเทศให้พ้นวิกฤต

อิสราเอล เป็นประเทศที่ดำรงอยู่ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้ง รัฐบาลแห่งชาติจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ในช่วงสงครามหกวัน ซึ่งป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ ระหว่าง 5 มิถุนายน 1967 – 10 มิถุนายน 1967

กัมพูชา มีรัฐบาลแห่งชาติหลายครั้ง หลังจากผ่านพ้นวิกฤิตการณ์ในประเทศ และเปลี่ยนจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 1993

รัฐบาลเอกภาพสามารถฟอร์มขึ้นมาได้ เมื่อประเทศมีวิกฤตการณ์ร้ายแรงนอกเหนือจากสงคราม เช่น ในกรณีของอังกฤษมีการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1974 และช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ปี 2011 อิตาลีหมิ่นเหม่กับวิกฤตหนี้ พรรคฝ่ายค้านจึงแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคอนติ และหลังจากการเลือกตั้ง ขั้วอำนาจที่แตกต่างก็ยังรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อเป็นรัฐบาลเอกภาพต่อไปภายใต้นายกรัฐมนตรีเลตต้า

อย่างไรก็ตาม บางประเทศไม่จำเป็นต้องมีวิกฤตก็มีเงื่อนไขบีบให้ต้องตั้งรัฐบาลเอกภาพ เช่น เลบานอน ซึ่งประกอบด้วยชนชาติและศาสนาที่หลากหลาย และเคยเกิดสงครากลางเมืองเพราะความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา จึงต้องมีรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาจากกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเช่นกัน โดยไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาเพียงลำพังได้

ลักษณะของเลบานอน คล้ายกับสถานการณ์ในประเทศลาวก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีกลุ่มการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว และขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพื่อหาทางออกให้ประเทศ ทุกฝ่ายจึงร่วมตั้งรัฐบาลแห่งชาติครั้งแรกในปี 1957 ประกอบด้วยฝ่ายราชอาณาจักร ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายเป็นกลาง แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลประเภทนี้ไม่อาจสร้างความสมานฉันท์ได้ อีกทั้งลาวยังถูกดึงเข้าสู่สงครามเวียดนาม จนกระทั่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจได้สำเร็จ

บางครั้ง รัฐบาลแห่งชาติก็มีสถานะเป็นแค่หุ่นเชิดของผู้มีอำนาจเบื้องหลัง เช่น ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ทั้งหมดอยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพ จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของสาธารณชนได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น หากสถานการณ์ไม่มีความสมานฉันท์จริงๆ เราอาจได้รัฐบาลที่ถูกชักใยโดยพร้อมเพรียงกัน แทนที่จะทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างพร้อมเพรียงกัน

 

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP