posttoday

ประเทศใหม่ใกล้ภูเก็ต ตั้งได้จริงไหมหรือแค่มโนไปเอง?

14 เมษายน 2562

ทำความรู้จักกับ “Seasteading” หรือ "รัฐกลางทะเล" ที่จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมานอกชายฝั่งประเทศไทย

จากกรณีที่ ชาวอเมริกันชื่อ แชด แอนดรูว์ เอลวอร์ทาวสกี้ (Chad Andrew Elwartowski) และภรรยาชาวไทยชื่อ สุปราณี เทพเดช ที่ใช้นามแฝงว่า Nadia Summergirl ได้ทำการสร้างสิ่งก่อสร้างในทะเล ห่างจากเกาะราชาใหญ่ 12 ไมล์ทะเล แล้วประกาศสถาปนาเป็นรัฐอิสระ พร้อมกับชักชวนให้ผู้สนใจมาปักหลักใน "ประเทศใหม่" แห่งนี้ และตามแผนจะก่อสร้างที่พักอาศัยในทะเลจุดนี้ 20 ยูนิต ล่าสุดมีรายงานว่า ทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดเรือ ต.991 พร้อมชุดสหวิชาชีพ และฝ่ายกฎหมาย ศร.ชล. เข้าตรวจสอบ และจะเร่งรื้อถอน ในเร็วๆ นี้ เพราะหากปล่อยไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ

ทั้งนี้ การสถาปนาเป็นรัฐอิสระ หรือเขตปกครองตนเองขึ้นในบริเวณอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย ถือเป็นความผิดตามกฎหมายประมวลอาญามาตรา 119 และ เป็นการละเมิดสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยที่มีเหนือเขตต่อเนื่องตามข้อ 56B และข้อ 60 วรรค 7 และวรรค 8 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล ค.ศ.1982 มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

แหล่งข่าวเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่า กรมเจ้าท่าได้รับการแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจากทะเลโดยเร็ว เพราะอาจขัดขวางการสัญจรทางทะเล เนื่องจากอยู่ในเส้นทางขนส่งน้ำมันไปยังภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตทะเลหลวงโดยไม่กระทบกับการสัญจรทางทะเลเลย อาจเข้าข่าย Seasteading และ Micronation ซึ่งเป็นขบวนการสร้างเขตปกครองตนเองหรือรัฐอธิปไตยใหม่ในดินแดนที่อยู่พ้นจากอธิปไตยของไทย

ประเทศใหม่ใกล้ภูเก็ต ตั้งได้จริงไหมหรือแค่มโนไปเอง? ตัวอย่างการออกแบบรัฐกลางทะเล โครงการ The Swimming City

“Seasteading” หรือ "รัฐกลางทะเล" เป็นแนวคิดเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยถาวรในทะเล โดยเฉพาะในทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากลที่อยู่นอกเหนืออธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ไม่มีกลุ่ม Seasteading รายใดที่สร้างที่พักเหนือน่านน้ำสากล แล้วได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐที่มีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า การสร้าง Seasteading ให้เป็นรัฐอิสระเหนือกฎหมาย อาจเป็นช่องให้คนร่ำรวยใช้เป็นที่หลีกเลี่ยงภาษี หรือเป็นแหล่งอาชญากรรมอื่นๆ ได้

เช่นกรณีของ เอลวอร์ทาวสกี้ เจ้าของสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่งภูเก็ต มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ แหล่งข่าวเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post จะมีการสอบสวนว่าเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายทางการเงินหรือไม่

ความลักลั่นทางกฎหมายที่เกิดขึ้นกับขบวนการรัฐอิสระ ทำให้พวกเขาต้องจัดตั้งองค์ขึ้น โดยเมื่อปี 2008 เวย์น แกรมลิชกับ แพทรี ฟรีดแมนได้ก่อตั้งสถาบัน The Seasteading Institute ขึ้นเพื่อประสานงานกับผู้ร่วมอุดมการณ์ และเป็นปากเป็นเสียงให้ขบวนการนี้ พวกเขาชี้ว่า ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศหนึ่งๆ มีระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง หรือราว 370 กิโลเมตร เมื่อพ้นจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ถือเป็นเขตทะเลหลวงที่อยู่นอกเหนือกฎหมายของชาติใด ยกเว้นเรือที่แล่นผ่านทะเลหลวงจะใช้กฎหมายของชาติที่จะทะเบียนเรือลำนั้น ดังนั้นกลุ่ม Seasteading จึงมีสิทธิที่จะสร้างรัฐขึ้นมาใหม่ในน่านน้ำดังกล่าว

ปัจจุบันมีบุคคลจำนวนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่กลางทะเล และประกาศสถานะรัฐอิสระ เช่น ราชรัฐซีแลนด์ (Principality of Sealand) ซึ่งเดิมเป็นป้อมกลางทางทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสหราชอาณาจักร ห่างออกจากชายฝั่งอังกฤษทางด้านทะเลเหนือ 10 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าพ้นจากอาณาเขตทางทะเลที่สหราชอาณาจักรประกาศไว้

ป้อมปราการแห่งนี้สร้างขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกยึดครองโดยพันตรีแพดดี รอย เบทส์ อดีตนายทหารสื่อสารแห่งกองทัพบกสหราชอาณาจักร เพื่อใช้ตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงเถื่อน ต่อมาได้ประกาศตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1967 ทว่า ซีแลนด์ไม่เคยได้รับการรับรองจากรัฐสมาชิกของสหประชาชาติแม้เพียงประเทศเดียว ทว่า เคยมีกรณีพิพาทระหว่างเจ้าของป้อมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร จนต้องให้ศาลของสหราชอาณาจักรชี้ขาด ปรากฎว่าศาลชี้ว่าป้อมนี้อยู่เหนืออำนาจของศาล เพราะพ้นจากอาณาเขตทางทะเลของสหราชอาณาจักร

อีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกันคือ สาธารณรัฐมิเนอร์วา (Republic of Minerva) ตั้งขึ้นในปี 1971 สร้างขึ้นโดยนำทรายจากประเทศออสเตรเลีย มาถมลงไปในระดับน้ำทะเลในพื้นที่ของแนวประการังมิเนอร์วา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนใต้ของประเทศฟิจิ เจ้าของประเทศคือนักธุรกิจชาวอเมริกันชื่อไมเคิล โอลิเวอร์ แต่นอกจากจะไม่ได้รับการรับรองสถานะจากประชาคมโลกแล้ว ประเทศตองงาที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันยังได้ประกาศให้สาธารณรัฐมิเนอร์วาเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรตองงา และส่งกองกำลังบุกสาธารณรัฐมิเนอร์วา ในเดือนมิถุนายน 1972 และผนวกดินแดนนี้เป็นของประเทศตัวเอง

ประเทศใหม่ใกล้ภูเก็ต ตั้งได้จริงไหมหรือแค่มโนไปเอง? ธงชาติของสาธารณรัฐมิเนอร์วา


ทั้งรัฐซีแลนด์และสาธารณรัฐมิเนอร์วา รวมถึงรัฐอิสระแบบ Seasteading อื่นๆ มีสถานะเป็นประเทศจำลอง หรือ Micronation แม้ว่าประเทศจำลองบางแห่งจะมีเงื่อนไขตรงกับการเป็นสถานะรัฐที่มีอธิปไตยตามอนุสัญญากรุงมอนเตบีเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ แต่เนื่องจากรัฐเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกเลย จึงไม่ถือว่าเป็นประเทศจริงๆ และมีอธิปไตยสมบูรณ์แบบ

ทั้งนี้ อนุสัญญากรุงมอนเตบีเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐระบุว่าองค์ประกอบความเป็นรัฐชาติไว้ดังนี้

1. มีดินแดนที่แน่นอน - ใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ต้องมีขอบเขตที่เป็นรูปร่างแน่นอนเอาไว้ก่อน

2. มีประชากร - จะต้องมีประชากรมนุษย์อาศัยอยู่ในนั้น จะกี่คนก็ได้ แต่ขอให้มีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น

3. มีรัฐบาล - จะต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการดินแดนพื้นที่นั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพ

4. มีอำนาจอธิปไตย - ซึ่งรวมถึงอำนาจในการทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ - แน่นอนว่าเป็นอำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นหรือตัวตนอื่น

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นคือ คณะทหารองค์อธิปัตย์แห่งมอลตา (SMOM) ที่ไม่มีองค์ประกอบครบตามอนุสัญญาเลย แต่กลับได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลอธิปไตย (sovereign subject) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตอกย้ำว่า การจะประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกด้วย

ภาพโดย Ryan Lackey