posttoday

ปักกิ่งเข้มสอดส่องพลเมือง "บิ๊กบราเธอร์" จ่อผงาด

13 มกราคม 2562

มาตรการที่ใช้สอดส่องและตรวจตราพลเมืองของจีนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆราวกับว่ามี "บิ๊กบราเธอร์" จับตาประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ

มาตรการที่ใช้สอดส่องและตรวจตราพลเมืองของจีนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆราวกับว่ามี "บิ๊กบราเธอร์" จับตาประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ

**************************

โดย...สุภีม ทองศรี

นับตั้งแต่จีนเปิดตัว “ระบบจัดอันดับเครดิตทางสังคม” (Social Credit System) หรือการจัดอันดับคะแนนความน่าเชื่อถือกับพลเมืองในปี 2014 มาตรการหรือความเคลื่อนไหวที่ทางการใช้สอดส่องและตรวจตราพลเมืองก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับว่ามี “บิ๊กบราเธอร์" จับตาประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ เหมือนนิยายดังเรื่อง “1984” ของจอร์จ ออร์เวลล์

ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุดของแผนโรดแมปนี้ก็คือ การปรับใช้ใน กรุงปักกิ่ง อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2020 โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เทศบาลนครปักกิ่งจะนำระบบดังกล่าวมาใช้จัดอันดับคะแนนความน่าเชื่อถือกับพลเมืองและบริษัทเอกชน ตามรอยเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันการทดลองใช้ระบบดังกล่าวครอบคลุม 6% ของประชากรแล้ว ระบบนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงตลาด บริการสาธารณะ การเดินทาง การจ้างงานหรือหางาน และความสามารถในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ บุคคลที่มีคะแนนน่าเชื่อถือจะได้รับสิทธิพิเศษ ต่างกับบุคคลติดบัญชีดำที่จะถูกตัดสิทธิต่างๆ ลง

นอกจากพลเมืองจีนแล้ว ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในจีนยังตกอยู่ภายใต้ระบบโซเชียล เครดิตด้วย เช่น แผนนำร่องในเมืองอี้อู (Yiwu) ที่นับรวมชาวต่างชาติด้วย โดยบุคคลที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำจะไม่ได้รับการอนุมัติขยายวีซ่า ส่วนคนที่มีอันดับน่าเชื่อถือดีจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การเข้าถึงเงินกู้ และวีซ่าเข้าประเทศได้หลายรอบ

ปักกิ่งเข้มสอดส่องพลเมือง "บิ๊กบราเธอร์" จ่อผงาด

สอดส่องพลเมืองทุกรูปแบบ

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า นอกจากการใช้ระบบโซเชียล เครดิต ทางการจีนมีวิธีสอดส่องพลเมืองอยู่หลายแบบ เช่นการใช้ “โดรนนกพิราบขาว” ซึ่งมีลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวที่คล้ายกับนกจริงถึง 90% มีหน่วยงานของกองทัพและหน่วยงานราชการมากกว่า 30 แห่ง ที่ใช้โดรนนกพิราบขาว โดยมีการใช้ในอย่างน้อย 5 มณฑล

นอกจากนี้ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า จีนยังมี “กล้องวงจรปิด” ทั่วประเทศมากกว่า 200 ล้านเครื่อง อีกทั้งในปี 2016 ทางการท้องถิ่นเมืองเฉิงตูยังเคยสั่งให้สถานบันเทิงติดตั้งกล้อง CCTV เช่นเดียวกับระดับมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองหางโจว ใช้ระบบกล้องเพื่อตรวจจับการแสดงออกของนักเรียนว่าสนใจกับการเรียนหรือไม่

ขณะเดียวกัน กระทรวงความมั่นคงสาธารณะยังได้เริ่มการพัฒนา “ระบบจดจำใบหน้า” ที่สามารถประมวลผลเข้าถึงฐานข้อมูลของประชากรทั้งหมดได้ภายในไม่กี่วินาที ด้วยความแม่นยำถึง 90% และจะนำระบบดังกล่าวมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง และติดตามตัวผู้ร้าย อีกทั้งยังมีห้องน้ำบางแห่งในกรุงปักกิ่งที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า
เพื่อควบคุมการใช้กระดาษชำระด้วย

การสอดส่องจาก “แพลตฟอร์มรับส่งข้อความทางมือถือ” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางโดยเฉพาะวีแชท ซึ่งมีอัตราการใช้ถึง 93% ในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจีน เนื่องจากวีแชทไม่มีระบบการเข้ารหัสลับ ต่างกับวอตส์แอพ หรือเทเลแกรม ซึ่งเท่ากับว่ารัฐมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลและข้อความของผู้ใช้ได้ นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟนก็ยังถูกสอดส่อง เช่น เหม่ยตู้ แอพถ่ายภาพยอดนิยม ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่ามีการขายข้อมูลและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้ นอกจากนี้ ทางการจีนยังมีข้อบังคับให้ผู้พัฒนาแอพต้องยืนยันตัวตนของผู้ใช้ และเก็บประวัติการใช้ไว้ 60 วันอีกด้วย

อีกช่องทางหนึ่งคือ “การเปิดระบบร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์” โดยในเดือน เม.ย. 2018 สำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐ ได้เปิดเว็บไซต์ให้พลเมืองร้องเรียนความเคลื่อนไหวที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ

นอกจากพลเมืองทั่วไปแล้ว จีนยังมีการสอดส่องคุมความประพฤติ “เด็กนักเรียน” โดยเอเอฟพีรายงานว่า โรงเรียนประถมอย่างน้อย 10 แห่งในมณฑลกุ้ยโจวและกว่างซี ได้เริ่มใช้ระบบ “สมาร์ทยูนิฟอร์ม” หรือชุดนักเรียนอัจฉริยะ ติดตามพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อลดการโดดเรียน และส่งเสริมให้เด็กเข้าห้องเรียน ซึ่งชุดดังกล่าวยังตรวจจับการสลับชุดของเด็กได้ด้วย ทั้งยังมีการติดตั้งระบบจดจำใบหน้าไว้ที่ประตูโรงเรียนเพื่อใช้ควบคู่กับชุดยูนิฟอร์ม

ปักกิ่งเข้มสอดส่องพลเมือง "บิ๊กบราเธอร์" จ่อผงาด

ส่งออก 1984 ทั่วโลก

ฟรีดอม เฮาส์ องค์กรเฝ้าระวังด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย เปิดเผยในรายงานจัดอันดับเสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลกปี 2018 ว่า เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศหันมาสอดส่องและควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรมากขึ้น ซึ่งมีต้นแบบมาจากจีน

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ระบบการสอดส่องคุมเข้มของจีนยังแพร่หลายไปถึงภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งจีนได้ส่งออกระบบการสอดส่องรุ่นใหม่ให้กับโบลิเวีย ชื่อว่า BOL-110 ซึ่งใช้กล้องมากกว่า 600 ตัว มีราคาราว 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,378 ล้านบาท) เช่นเดียวกับเอกวาดอร์ที่ได้จัดซื้อระบบ ECU-91123 จากจีน เพื่อใช้ในหน่วยงานความมั่นคงและบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึง กรมตำรวจ ดับเพลิง และกู้ภัย

นอกจากนี้ รอยเตอร์สรายงานว่า ZTE บริษัทโทรคมนาคมจีน ได้ช่วยเวเนซุเอลา พัฒนาฐานข้อมูลที่สามารถติดตามข้อมูลพลเมืองผ่านทางบัตรประชาชน ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ รวมถึงแนวคิดด้านการเมือง การโหวต ประวัติด้านการเงินและการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับการใช้โซเชียลมีเดีย

มาร์กาเรต เมเยอร์ส จากหน่วยงานคลังสมอง อินเตอร์-อเมริกัน ไดอะล็อก กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าเอกวาดอร์มีแผนจะใช้ระบบ ECU-91123 จากจีนอย่างไร แม้เทคโนโลยีนี้สามารถใช้ตอบสนองต่อภัยธรรมชาติได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ก็อาจจะจำกัดเสรีภาพสื่อ และสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายตรงข้ามในหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา ซึ่งเป็นฝ่ายอำนาจนิยม

อีวาน เอลลิส ผู้เขียนรายงานเรื่องอนาคตแห่งลาตินอเมริกาและแคริบเบียนในยุคจีนรุ่งเรือง กล่าวว่า หน่วยข่าวกรองจีนอาจใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงลบ เช่น การแบล็กเมล์คนในแวดวงการเมือง กองทัพ และธุรกิจ หรืออาจหาช่องทางเก็บข้อมูลสำคัญด้านการเมือง กองทัพ หรือข้อมูลเชิงพาณิชย์ เพื่อการเข้าไปมีอิทธิพลหรือการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อจีน

“การเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกากำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากรัฐบาลฝ่ายขวากลาง และขวาจัด เข้ามามีอำนาจมากขึ้น และผู้นำหลายชาติให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคง ซึ่งสร้างความกังวลเรื่องการนำเทคโนโลยีสอดส่องจากจีนมาใช้งาน” คาร์ลอส มูริโย ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยคอสตาริกา กล่าว

ทั้งนี้ อินเตอร์-อเมริกัน ไดอะล็อก ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2005 จีนได้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลและเอกชนในลาตินอเมริกามากกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.38 ล้านล้านบาท) นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้จีนได้เข้าไปมีอิทธิพลในภูมิภาคแข่งกับสหรัฐ และส่งออกระบบสอดส่องพลเมืองสู่ต่างแดน