posttoday

ทำไม"คนจีน"ยังนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม?

02 ธันวาคม 2561

หาคำตอบกับ "อ้ายจง" แห่งเพจอ้ายจงเล่าเรื่องเมืองจีน กับคำถามที่ว่าทำไมคนจีนจึงยังคงนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม?

เรื่องเล่าจาก "อ้ายจง" แห่งเพจอ้ายจงเล่าเรื่องเมืองจีน กับคำตอบว่าทำไมคนจีนจึงยังคงนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม?

*********************************

โดย...ภากร กัทชลี เจ้าของเพจ "อ้ายจงเล่าเรื่องเมืองจีน" นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย ซีเตี้ยน มณฑลสานซี

จากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองจีนมากกว่า 7 ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ของจีนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามา Disrupt แทนที่สิ่งเดิมๆ แต่จากการศึกษาข้อมูลทั้งการสังเกต ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูล หรือสอบถามจากคนจีน พบว่า สิ่งที่เทคโนโลยีมิอาจแทนที่ได้ คือ “หนังสือที่เป็นรูปเล่ม” โดยข้อมูลจาก OpenBook บริษัทวิจัยในจีน เผยว่า ตลาดหนังสือจีนตลอดทั้งปี 2017 มีการเติบโต 14.55% จากปีก่อนหน้า

ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ 2018 การเติบโตชะลอตัวเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าหนังสือเป็นที่นิยมของคนจีน แต่สถานที่จัดจำหน่ายค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยร้านหนังสือออนไลน์ (ที่ขายหนังสือเป็นเล่ม) มากขึ้น ราคาหนังสือก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยอยู่ที่เล่มละ 88 หยวน (ประมาณ 440 บาท)

นอกจากนี้ China Xinhua สื่อยักษ์ใหญ่ของจีน ยังเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติของจีน (National Press and Publication Administration - NPPA) ระบุว่า อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากจำนวนสำนักพิมพ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 105 แห่ง เป็นกว่า 580 แห่งในปัจจุบัน

จากข้อมูลข้างต้น จึงเกิดคำถามว่า ทำไมคนจีนจึงยังคงนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม? อ้ายจงจึงได้ตระเวนสัมภาษณ์คนจีนในกรุงปักกิ่งตามร้านหนังสือได้คำตอบ ดังนี้

1.การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก

สังคมจีนเป็นสังคมที่ค่อนข้างมีแรงกดดันสูงตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือ ครอบครัว โดยเฉพาะด้านการศึกษา คนจีนมีความเชื่อที่ฝังแน่นมาตั้งแต่โบราณกาลว่า ความรู้คือแสงสว่างนำพาชีวิตแม้ในยามที่ไม่มีแสงไฟใดๆ และการค้นหาความรู้ที่คนจีนมีความคุ้นเคยมาโดยตลอด คือ “อ่านจากหนังสือ”

คุณหลี่ (นามสมมติ) หญิงวัยกลางคน คุณแม่ลูก 1 วัยประมาณ 5 ขวบ ให้สัมภาษณ์ในมุมหนึ่งของร้านหนังสือสไตล์จีนโมเดิร์น ณ ย่านเฉียนเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ว่า “พวกเราคนจีนมีความคุ้นเคยกับการเปิดหน้าหนังสือ เพื่อหาข้อมูลที่เราสนใจ จริงอยู่ที่มีมือถือ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายให้เราได้ค้นหาความรู้ทุกที่ทุกเวลา แต่ฉันรู้สึกว่ามันไม่ได้ความรู้สึกของคำว่า อ่านหนังสือ”

“พ่อแม่ของฉันได้สอนฉันตั้งแต่เด็กให้รักการอ่าน เพราะการอ่านทำให้มีความรู้ และการเรียนจะออกมาดี พวกเราถูกปลูกฝังมาตลอดว่า ถ้าสอบเกาเข่า-เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ชีวิตจะลำบาก ทุกครั้งที่ฉันมาร้านหนังสือ ก็จะพาลูกมาที่ร้านด้วย เพื่อทำให้เขารักการอ่านหนังสือแบบที่ฉันเป็น”

รายงานตลาดค้าปลีกหนังสือประเทศจีนในปี 2017 ระบุว่า ตลาดหนังสือเด็กกินพื้นที่ของหนังสือที่วางขายทั้งหมดประมาณ 24.64% ซึ่งมูลค่าหนังสือที่ขายทั้งหมดในปี 2017 คือ 8 หมื่นล้านหยวน และมีแนวโน้มเติบโตทุกปีประมาณ 10-15% โดยปี 2017 หนังสือเด็กขายได้ถึง 4 หมื่นหัวเรื่อง ซึ่งถือเป็นตลาดหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน

2.การอ่านหนังสือ คือการผ่อนคลาย

จากแหล่งข้อมูลที่ไปรวบรวมมา มีจำนวนมากที่ตอบว่า พวกเขาอ่านหนังสือในเวลาที่เครียด ต้องการผ่อนคลาย โดยเฉพาะการได้จิบชา จิบกาแฟ ชิลชิล ทำให้เรื่องหนักๆ ที่เจอมาทั้งวัน รู้สึกสบายขึ้นได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ตามร้านกาแฟจะมีหนังสือให้เราเลือกอ่านมากมาย และบางร้านก็เป็นกึ่งร้านกาแฟร้านขายหนังสือ กระทั่งร้านหนังสือใหญ่ๆ บางร้านมีมุมร้านกาแฟ มีโต๊ะให้นั่งอ่าน นั่งกินกาแฟอยู่ภายในร้าน

3.สภาพแวดล้อมส่งเสริมให้ทุกคนรักการอ่านที่เป็นสิ่งพิมพ์

ตามย่านที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว หรือในมหาวิทยาลัยในจีน เราจะเห็นมุมกระดานหรือบอร์ดที่ไม่ได้มีกระดาษติดประกาศ แต่เป็นบอร์ดที่ติด “หนังสือพิมพ์ประจำวัน/ประจำสัปดาห์” ให้ทุกคนได้อ่านแบบไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์

แม้แต่ห้องสมุด 24 ชั่วโมง ห้องสมุดระบบอัตโนมัติที่ให้ทุกคนได้เข้าห้องสมุดและยืมหนังสือได้ตลอดเวลา เพียงใช้บัตรประชาชน-แอพมือถือ โดยร้านหนังสือทั่วจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งมีนโยบายสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนจีนมีวัฒนธรรมรักการอ่าน ไม่ถูกเทคโนโลยีกลืน อีกทั้งราคาหนังสือในจีนก็ไม่แพง เพราะรัฐบาลจีนสนับสนุนให้สำนักสิ่งพิมพ์พิมพ์หนังสือในราคาถูก

4.หนังสือจีนมีความหลากหลาย-ตำราต่างประเทศก็ไม่แพง

ในฐานะเคยเป็นนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในจีน พบว่า ตามร้านหนังสือมีหนังสือตำราต่างประเทศ หรือที่เราเรียกว่า Textbook เต็มไปหมด และถูกวางขายในราคาถูก เล่มละไม่กี่ร้อยบาท เป็นตำราที่ถูกรวบรวมมาโดยสำนักพิมพ์ในจีน และนำมาพิมพ์ให้คนจีนได้ซื้อหาได้ง่ายแบบไม่แพง

แม้กระทั่งหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ค่อนข้างลึกซึ้งอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” ทางการจีนก็สนับสนุนให้มีการพิมพ์เป็นรูปเล่มออกมาให้ประชาชนได้อ่าน หาความรู้ ตั้งแต่ประถมศึกษาและมัธยมต้น โดยเมื่อไม่นานมานี้จีนเปิดตัวชุดหนังสือเรียน “ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” สำหรับนักเรียนประถมและมัธยมต้น โดยคาดว่าจะถูกใช้ในโรงเรียนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศจีน หนังสือในชุดนี้มีทั้งหมด 10 เล่ม และบางส่วนได้ถูกนำไปใช้ทดลองในการเรียนการสอนที่มหานครเซี่ยงไฮ้แล้ว

5.ร้านหนังสือที่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ

คุณเฉิน (นามสมมติ) หนึ่งในคนจีนจำนวนมากที่อ้ายจงสัมภาษณ์ในร้านหนังสือที่ปักกิ่ง โดยมีคำตอบที่น่าประทับใจ “ฉันและหลายๆ คน รู้สึกว่าร้านหนังสือในจีนไม่เหมือนร้านหนังสือทั่วไป คือร้านหนังสือที่นี่มีเสน่ห์ในตัวของแต่ละร้าน เราจะจินตนาการว่า ร้านหนังสือต้องมีแต่หนังสือแออัดเต็มไปหมด แต่ร้านหนังสือที่จีน แม้เต็มไปด้วยหนังสือ แต่ถูกจัดวางให้น่าหยิบ ออกแบบและตกแต่งให้น่าเข้า น่าอ่าน หลายร้านมีพื้นที่ให้ได้อ่านฟรีๆ ไม่ต่างจากห้องสมุด และมีจำนวนไม่น้อยเปิด 24 ชั่วโมง”

การตกแต่งร้านหนังสือในจีนดูจะเป็นจุดเด่น ไม่ว่าบนโบกี้รถไฟที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นร้านหนังสือสไตล์โมเดิร์นที่สวยงามโด่งดังไปทั่วโลกที่เมืองเทียนจิน เป็นต้น

ร้านหนังสือที่จีนไม่ได้มีแค่ร้านหนังสือ แต่ยังมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อดึงดูดผู้ซื้อในทุกกลุ่มตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น นักศึกษา ผู้ใหญ่ และครอบครัว ทำให้เราได้เห็นโซนของเล่นเพื่อการศึกษา โซนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซนร้านอาหารในร้านหนังสือ

นอกจากนี้ ร้านหนังสือยังเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ สัมมนา และการพบปะระหว่างนักเขียนและผู้อ่าน อยู่บ่อยครั้งจนชินตา

ติดตามอ้ายจงได้ที่นี่ www.facebook.com/aizhongchina/