posttoday

มันคงเป็น ‘คราม’ รัก

21 ตุลาคม 2560

ความน่ารักของมนุษย์แม่มักทำให้เกิด "ความรัก"

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

 ความน่ารักของมนุษย์แม่มักทำให้เกิด "ความรัก"

 ก่อนเดินทางไป บ้านหนองส่าน ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร สิ่งที่รู้ทั้งหมดเกี่ยวกับชุมชนนี้คือ ภูผา ผืนนา ป่าล้อม และย้อมคราม ซึ่งรู้สึกว่าเป็นสิ่งธรรมดาของชนบทภาคอีสาน จนคิดว่าอนาคตในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้าก็ไม่น่าแตกต่างไปจากในอดีตที่เคยพบเจอมา

 ทว่า วูบความคิดขณะนั่งอยู่บนเครื่องบินจับตัวอยู่ได้แค่ 60 นาที เพราะเมื่อรถตู้วีไอพีแล่นเข้าหมู่บ้าน ความคิดฟุ้งซ่านที่มีกลับอันตรธานไป พร้อมเกิดความรู้สึกใหม่ว่า "บ้านหนองส่านไม่น่าธรรมดา"

 มาร์ค-พชรพล ทิพมนต์ ลูกหลานชาวหนองส่าน วัย 25 ปี ผู้ทิ้งเงินเดือนประจำกลับมาอยู่กับพ่อและแม่ เพื่อสืบต่อสวนเกษตรผสมผสานจนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนาม "โสมนัสฟาร์ม" รวมถึงเป็นพลังคนรุ่นใหม่จัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการอนุรักษ์โดยชุมชน

มันคงเป็น ‘คราม’ รัก 01 มาร์คและแม่อ้อยถ่ายภาพคู่ใต้ป่าสัก

 มาร์ค แนะนำให้คนแปลกหน้ารู้จัก แม่อ้อย (แม่ของเขา) และแม่ๆ อีกสามสี่ท่านที่มาต้อนรับ พร้อมรับน้ำใจเป็นน้ำใบเตยหอมชุ่มคอก่อนเดินทางต่อไปยังฟาร์ม โดยรถโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารเป็นรถเปิดประทุนคันใหญ่ เคลื่อนที่ได้ไม่เกินชั่วโมงละ 40 กม. ชาวบ้านเรียก รถไถ ชาวอีสานเรียก รถอีแต๊ก ส่วนชาวกรุงเรียก รถสปอร์ต เพราะสปอร์ตใจดีรับได้เต็มที่ถึง 10 คน

 บรรยากาศสองข้างทางจะเห็นเรือนไม้เก่า ยุ้งข้าว แปลงผักสวนครัวหน้าบ้าน และทุ่งนาที่ตอนนี้กำลังเป็นสีเขียวจัดพร้อมออกรวง ซึ่งการอยู่บนรถอีแต๊กที่เคลื่อนตัวเชื่องช้า ผสานกับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ไม่ใช่สิ่งน่ารำคาญ แต่กลับเป็นตัวสร้างบรรยากาศเหมือนเพลงคลาสสิกในรถหรู

 แม่อ้อยยิ้มแป้นรออยู่แล้ว รอยยิ้มนั้นโดดเด่นทะลุสวนกล้วยผ่านทิวต้นสักมาปะทะคนแปลกหน้าอย่างน่าประหลาด "ทำไมถึงมีพลังมากขนาดนี้"

 คนบนรถอีแต๊กไม่รู้คำตอบ จนกระทั่งเข้าไปใกล้ เข้าไปใกล้มากพอที่จะเห็นฟันขาวและตีนกา แม่อ้อย และแม่อีกสามสี่ท่านยังคงยิ้มไม่หุบหายเหมือนดอกไม้ผลิบานยามใกล้บ่าย "แหล่งพลังงานอาจมาจากใจมากกว่าริมฝีปากเบิกกว้างนั้น"

 "แม่เพิ่งเริ่มทำเกษตรผสมผสานเมื่อ 2 ปีก่อน" ระหว่างการตระเตรียมอาหารได้ถือโอกาสดึงตัวมาร์คมานั่งจับเข่าคุยบนแคร่ไม้ไผ่ถึงที่มาที่ไป เพราะครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่ครอบครัวที่ทำเกษตรผสมผสาน คือ ปลูกทั้งข้าว ข่าตาแดง กล้วย ไผ่ มันญี่ปุ่น ตะไคร้ พริก แตงโม ฟัก ข้าวโพดหวาน หม่อน เชอร์รี่ และอีกมากมาย

มันคงเป็น ‘คราม’ รัก 02 อาหารกลางวันรสมือแม่

 "อยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น" เขาเล่าต่อ

 "แต่ก่อนครอบครัวผมก็ทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือปลูกมันสำปะหลังขาย แต่ขายยังไงก็ไม่ได้ราคา แถมยังเหนื่อยมาก แม่เลยเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีเกษตรแบบผสมผสานของในหลวงรัชกาลที่ 9

 พอดีกับช่วงที่ผมตัดสินใจกลับบ้านมาช่วยแม่ปลูกข้าว ข้าวทุกเม็ดเราปลูกไว้กินเอง ไม่ได้ขาย และปลูกพืชผลไม้ที่กินได้ ถ้าเหลือก็ขายเป็นรายได้ให้ครอบครัว"

 หนุ่มรุ่นใหม่ได้ศึกษาการทำเกษตรผสมผสานจากศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของครอบครัว

 ทำให้ปัจจุบันที่ดิน 29 ไร่ อุดมไปด้วยพืชหลากหลายชนิด สภาพดินถูกฟื้นฟู และคุณภาพชีวิตกลายเป็นดี เพราะมีรายได้

 "แม้ไม่มากแต่ไม่ขาด" เขาว่าอย่างนั้น

 นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มาร์คและคนรุ่นใหม่ในชุมชนยังได้ช่วยกันเริ่มต้นการท่องเที่ยว โดยใช้โสมนัสฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรและวิถีชีวิตเกษตรกรอย่างที่นั่งคุยกันอยู่ตรงนี้

 อย่างแรกที่คนแปลกถิ่น (เริ่มไม่แปลกหน้า) ได้สัมผัสคือ อาหารพื้นบ้าน อย่างไก่บ้านย่างเตาถ่าน ส้มตำปลาร้าโฮมเมด แกงแคแคร์สุขภาพ และข้าวเหนียวไม่ขัดสี เป็นอาหารมื้อกลางวันที่อิ่มทั้งท้องเอมทั้งใจ อร่อยอย่าบอกใครว่าเติมส้มตำไปสองสามครก

 แม่อ้อย เชฟมือหนึ่ง เล่าว่า อาหารการกินจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในแปลงเกษตร ส่วนเมนูของหวานโบราณ วันนี้ขอนำเสนอ ข้าวต้มแดก สูตรเด็ดเฉพาะบ้านหนองส่าน ทำจากข้าวตำรวมกับน้ำตาลปี๊บและกล้วยน้ำว้าสุกจนเป็นเนื้อเดียวกัน

 "ถ้ามาหน้าแล้งจะได้กินข้าวโพดหวาน" แม่อ้อยยั่วเย้าให้มาใหม่หลังเกี่ยวข้าว เพราะช่วงนั้นแม่จะปลูกทั้งข้าวโพด แตงโม และฟัก บนพื้นที่นาทดแทน

มันคงเป็น ‘คราม’ รัก 03 ข้าวต้มแดก

 หลังจากกินจนพุงกาง รถอีแต๊กก็สตาร์ทเป็นสัญญาณกล่าวอำลา แม่อ้อยเดินมาส่งตรงซุ้มถั่วดาวอินคา และโบกมือลาลูกๆ หลานๆ (เริ่มไม่ใช่คนแปลกถิ่นและแปลกหน้า) ให้เดินทางเข้าหมู่บ้านโดยปลอดภัย

 จากนั้นมาร์คได้ส่งต่อภารกิจเรียนรู้วิถีชาวบ้านให้ "กลุ่มอนุรักษ์ผ้าย้อมครามทอมือบ้านหนองส่าน" เพื่อเรียนการทำผ้าย้อมครามตั้งแต่มัดลาย ย้อม ล้าง ตาก และเก็บไว้ใช้เอง

 นำการสอนโดย แม่อี๊ด ผู้อนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายย้อมครามที่เหลือเพียงไม่กี่หลังในหมู่บ้าน และใจดีถ่ายทอดภูมิปัญญาให้หลานๆ ที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งต้นคราม จนต้องร้อง ว้าว!!! ในวิถีธรรมชาติที่สุดแสนจะวิทยาศาสตร์

 ทุกคนจะได้ผ้าพันคอสีขาวสะอาดผืนใหญ่คนละผืน เริ่มด้วยการมัดลายด้วยเชือกฟาง แม่อี๊ดแนะนำลายประจำถิ่นชื่อ "ดาวล้อมเดือน" แต่ก็ไม่ห้ามลวดลายตามจินตนาการแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล โดยส่วนที่มัดจะเป็นสีขาว ส่วนที่เหลือเป็นสีคราม หลังจากนั้นนำผ้าลงย้อมในหม้อไหบรรจุคราม

 แม่อี๊ด เล่าว่า ครามพวกนี้มีชีวิต เพราะต้องให้อาหาร ให้อากาศ เพื่อให้มันมีอารมณ์สร้างสีสันลงผืนผ้าได้อย่างสวยงาม "เราคุยกันทุกวัน" หม้อไหนไม่ค่อยมีชีวิตชีวาจะกลายเป็นสีดำ แต่หม้อที่อารมณ์เบิกบานจะเป็นสีเหลือง

 ฟังไม่ผิด หม้อทั้งหมดบรรจุน้ำสีเหลือง แต่กลับเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสีคราม การย้อมจึงไม่ใช่เพียงหย่อนผ้าลงหม้อ แต่ต้องตบๆ บีบๆ ให้อากาศสร้างปฏิกิริยาเปลี่ยนสีเหลืองให้เป็นสีน้ำเงิน จังหวะนั้นเหมือนแม่อี๊ดกำลังเล่นมายากลให้เด็กดู

 หลังจากตบตีผ้าจนฝ่ามือเริ่มเปลี่ยนสี ให้นำผ้าไปล้างน้ำสะอาดเพื่อล้างน้ำด่างให้หมดไป จนเผยผิวขาวตัดเข้มเป็นลวดลายดังตั้งใจ ซึ่งเชื่อเลยว่าแม้จะย้อมด้วยสีน้ำเงินสังเคราะห์เกรดดีขนาดไหน ก็จะไม่ได้สีน้ำเงินแบบคราม

 ศิลปะชิ้นเอกบนผืนผ้ากลายเป็นผ้าพันคอผืนเดียวบนโลก แม่อี๊ดพูดชื่นชมทุกคนทุกผืนว่าสวยงามขนาดไหน แม้ว่าเบื้องหลังจะมาจากฝีมือการตบผ้าของแม่อี๊ดก็ตาม

มันคงเป็น ‘คราม’ รัก 04 ลูกหม่อนปลอดสารพิษ

 “วันหลังกลับมาใหม่” คำอำลากลายเป็นคำเชื้อเชิญ และคำเชื้อเชิญกลายเป็นคำสัญญาเมื่อหลานๆ ตอบรับคำชวน

 จากนั้นมาร์คพาเดินจากบ้านแม่อี๊ดไปบ้านแม่อ้อย บนแคร่ใต้ถุนมีพานบายศรีวางไว้ ขณะเดียวกันหลานๆ ต่างยกมือไหว้แม่ๆ ยายๆ ก่อนจะเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญแบบอีสาน พิธีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะผูกข้อมือให้ลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล

 ยอมรับว่าพิธีนี้เคยผ่านมานักต่อนัก แต่สำหรับบ้านหนองส่าน... ทำไมกลับมีน้ำตา

 คำตอบคือ ไม่ใช่เพราะความเศร้าที่กำลังจะจากลา แต่เป็นความซาบซึ้งที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

 ภูผา ผืนนา ป่าล้อม และย้อมคราม สิ่งธรรมดาของชนบทภาคอีสาน กลับกลายเป็นสิ่งไม่ธรรมดา เพราะความรักจากชาวหนองส่านพิเศษไม่ธรรมดา

 ครั้นจะปล่อยไปง่ายๆ ก็คงยากน่าดู

.........ล้อมกรอบ..........

 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการน้อมนำหลัก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของไทย

 โดยนำแนวคิด Local Experience มาใช้ในการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว การพัฒนามนุษย์ และการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชา” โดยมีพื้นที่นำร่อง 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนปง-ห้วยลาน จ.เชียงใหม่ ชุมชนหนองส่าน จ.สกลนคร ชุมชนริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี และชุมชนรอบโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ จ.ชุมพร

 ทั้งนี้ โลเคิลอไลค์ร่วมเป็นหนึ่งช่องทางให้ผู้ที่สนใจตามรอยศาสตร์พระราชา กับโปรแกรมท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป และทริป 2 วัน 1 คืน ใน 4 ชุมชนดังกล่าว โดยชุมชนหนองส่าน ราคา 3,600 บาท สำหรับวันเดย์ทริป และ 6,800 บาท สำหรับทริป 2 วัน 1 คืน หรือดูรายละเอียดได้ที่ localalike.com

.........ใต้ภาพ..........

00 รูปเปิด ป้าอี๊ดผู้ทำให้รู้จักคราม

01 มาร์คและแม่อ้อยถ่ายภาพคู่ใต้ป่าสัก

02 อาหารกลางวันรสมือแม่

03 ข้าวต้มแดก

04 ลูกหม่อนปลอดสารพิษ

05 ทิวต้นสนทางเข้าโสมนัสฟาร์ม

06 แม่อ้อยกลางดงข่าตาแดง

07 เถียงนาแห่งโสมนัสฟาร์ม

08 ห่อข้าวต้มแดกด้วยใบตองนึ่งในหวดทำให้หอม

09 ครัวแบบเปิดโล่งใต้เถียงนา

10 โสมนัสฟาร์มยินดีต้อนรับ

11 แม่อ้อยและทีมแม่บ้านโบกมือลาคนบนรถอีแต๊ก

12 รถเปิดประทุนเสียงแต๊กๆ

13 แม่อี๊ดโชว์ลีลาตบผ้าย้อมคราม

14 มัดก่อนแล้วค่อยย้อม

15 จากน้ำสีเหลืองกลายเป็นสีครามเมื่อโดนอากาศ

16 ผ้าย้อมครามผืนเดียวในโลก