posttoday

เที่ยวช้าๆ ที่บ้านสะนำ

16 มีนาคม 2562

เมืองรองอีกจังหวัดที่มีฐานะเป็นได้แค่เมืองผ่านอย่าง “อุทัยธานี”

เมืองรองอีกจังหวัดที่มีฐานะเป็นได้แค่เมืองผ่านอย่าง “อุทัยธานี” ยังมีสิ่งที่น่าค้นหาอีกหลากหลาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ยังคงเรียบง่ายและอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ

หนึ่งในนั้นคือ บ้านสะนำ อ.บ้านไร่ ห่างจากตัวเมืองอุทัยธานี ประมาณ 90 กม. ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ยินดีต้อนรับและมีกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวให้มาลอง

ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อาจารย์โก้ เธอเป็นชาวบ้านที่กำลังผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน

เริ่มต้นเล่าเรื่องชุมชนผ่านบ้านโบราณหลังงามที่เหลืออยู่เพียงหลังเดียวในหมู่บ้าน โดยบ้านหลังนี้ได้แสดงเอกลักษณ์และความเป็นอยู่ของชาว “ลาวครั่ง” ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่แต่เดิมเป็นชาวลาวในหลวงพระบาง

“บ้านหลังนี้มีเสน่ห์ที่ว่า เสาทุกต้นเจ้าของบ้านลุงชมภู เป็นคนนำมาจากป่าเอง และทุกส่วนของตัวเรือนได้ปลูกเอง สร้างเอง ตอนนี้เจ้าของบ้านท่านนั้นเสียชีวิตไปแล้วจึงถูกสืบต่อให้รุ่นลูก และกำลังปรับบริเวณใต้ถุนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน โดยจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำกินและของเล่นโบราณ ส่วนด้านบนก็ยังเป็นที่อยู่อาศัย”

เที่ยวช้าๆ ที่บ้านสะนำ

พิพิธภัณฑ์ชุมชนจะเปิดตัวในวันที่ 6 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับงานเทศกาลอาหารชาติพันธุ์ ที่จะปิดถนนตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านจนถึงบ้านโบราณหลังนี้

“อำเภอบ้านไร่เป็นพื้นที่ที่มีชาวชาติพันธุ์อาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งขมุ กะเหรี่ยง ลาว ละว้า และในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างหนองฉาง ยังมีชาวมอญและจีน เราก็ได้ชวนทุกชาติพันธุ์มาร่วมเปิดร้านบนถนนสายวัฒนธรรมเรื่องอาหารสายนี้”

อาจารย์โก้ เล่าต่อว่า สำหรับชาวลาวครั่งในบ้านสะนำ ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองหลวงพระบางพร้อมกับชาวลาวเวียงจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งหมดได้มาตั้งทัพอยู่ที่ทัพคล้ายเพื่อกันข้าศึกจากฝั่งเมียนมา แต่สุดท้ายเมียนมาไม่ได้ส่งทัพเข้ามา ชาวลาวครั่งและลาวเวียงจึงเลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ต่อเพราะทรัพยากรสมบูรณ์

“ชาวบ้านสะนำได้ย้ายจากทัพคล้ายมาตั้งรกรากใหม่ เริ่มต้นจากแค่หนึ่งครอบครัวที่มีผู้ชาย 1 คนและผู้หญิงอีก 5 คนเป็นพี่น้องกัน จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน สำเนียงคนลาวจะพูดว่า ซายนำ หรือมีผู้ชายนำมา แล้วเพี้ยนมาเป็นสะนำอย่างในปัจจุบัน

ที่นี่ชาวบ้านยังรักษาวัฒนธรรมชุมชนไว้ได้มาก เช่น ประเพณีปิดบ้านช่วงวันแรม1 ค่ำ เดือน 6 ที่ชาวบ้านทุกคนจะหยุดทำงานเพื่อไหว้เจ้าบ้าน พิธีแห่ค้างดอกไม้ช่วงสงกรานต์ เพราะช่วงหน้าร้อนดอกไม้จะออกดอกเยอะชาวบ้านก็จะเก็บดอกไม้ไปถวายพระ ชุมชนแห่งนี้จึงยังมีเสน่ห์และวัฒนธรรมดั้งเดิมที่น่ามาเรียนรู้มาก”

เที่ยวช้าๆ ที่บ้านสะนำ

ปัจจุบันบ้านสะนำกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมมี 250 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกอ้อย และสวนผลไม้อย่างมะปราง เงาะ ทุเรียน ลำไย แต่เมื่อเข้ามาในหมู่บ้านจะเห็นต้นที่สะดุดตาที่สุดคือ ป่าหมาก

อาจารย์โก้ เล่าว่า เป็นต้นไม้ดั้งเดิมของหมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านกินหมากจึงปลูกต้นหมาก ประกอบกับพื้นที่ในหมู่บ้านมีคลองสองสายมาบรรจบกัน จึงกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นดินที่ต้นหมากโปรดปราน ป่าหมากที่เห็นจึงไม่ใช่ของสาธารณะแต่มีเจ้าของทุกต้น

นอกจากบ้านโบราณ ที่นี่ยังมีต้นไม้โบราณกลางป่าหมาก ด้านหน้าทางเข้ามีตลาดขายพืชผลทางการเกษตรราคาเป็นกันเอง และมีร้านให้เช่าจักรยานวันละ 10 บาท ให้ปั่นเข้าไปดูต้นไม้โบราณหรือปั่นชมวิถีชีวิตชมธรรมชาติโดยรอบหมู่บ้านก็น่าลอง

อาจารย์โก้ เล่าว่า ด้วยความที่แต่ก่อนในหมู่บ้านเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยจึงได้ตัดไม้ไปทำบ้านและปลูกหมาก

“แต่ก่อนที่นี่ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านป่าหมากล้านต้น” เธอกล่าว ทำให้ปัจจุบันเหลือต้นไม้ใหญ่เพียงไม่กี่ต้น

เที่ยวช้าๆ ที่บ้านสะนำ

ต้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สุดคือ ต้นเซียง หรือต้นเรียงผึ้ง ตั้งต้นตระหง่านอยู่กลางป่าหมาก บนกิ่งก้านยังมีรังผึ้งเกาะอาศัยและยังมีร่องรอยกรงเล็บหมีที่ปีนขึ้นไปกินผึ้ง ไม่ไกลจากกันเป็นที่อยู่ของต้นไทรโอบ หรือไทรที่โอบรัดต้นเสลาไว้

เมื่อแหงนหน้ามองจะเห็นใบไม้สองสีคือ สีเขียวอ่อนเป็นของต้นเสลา ส่วนใบเขียวเข้มเป็นต้นไทร วันนี้ต้นเสลาด้านในยังยืนต้นอยู่ได้ แต่ต่อไปต้นไทรจะโอบมิดจนต้นเสลาตาย สมฉายานักฆ่าแห่งพงไพรนั่นเอง

นอกจากนี้ ภายในป่ายังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าบ้าน สถานที่จัดพิธีกรรมช่วงปิดบ้าน ลักษณะเป็นศาล 2 หลังคู่กัน โดยไม่มีรูปเคารพหรือรูปปั้นแต่อย่างใด และตรงนั้นยังมีต้นไม้อีกต้นที่น่าสนใจคือ ต้นยางน่อง ยางของมันมีพิษทำให้ไม่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ใกล้ๆ และในสมัยก่อนชาวบ้านยังใช้น้ำยางของมันไปยิงสัตว์ให้สลบ เป็นต้นไม้เก่าแก่อีกต้นที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้

“ทุกอย่างในบ้านสะนำไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่แค่ว่าเราจะไปหยิบไปจับตรงไหนขึ้นมาเป็นตัวชูโรง อย่างเรื่องลายผ้าทอที่ไม่ว่าจะเป็นสีหรือลายก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ” อาจารย์โก้ กล่าวเพิ่มเติม

หากใครสนใจอยากเข้ามาใช้ชีวิตแบบชาวลาวครั่งสามารถมาพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านได้มี 6 หลัง ค่าที่พักคนละ 230 บาท อาหารเช้า 80 บาท อาหารกลางวันและอาหารเย็นมื้อละ 100 บาท จะได้ชิมอาหารถิ่นอย่างแจ่วร้อยสำรับ หรือน้ำพริกหลากหลายชนิดกินคู่กับผักสดและข้าวสวยร้อนๆ

เที่ยวช้าๆ ที่บ้านสะนำ

ช่วงน่าเที่ยวคือ ปลายฝนต้นหนาว ที่นี่จะอากาศหนาวมาก ชาวบ้านจะก่อกองไฟเผาข้าวหลาม แต่ถ้ามาหน้าร้อนก็จะมีผลไม้ให้กินและมีดอกไม้สีสดใสให้ชม

รวมถึงต้องห้ามพลาด งานเทศกาลอาหารชาติพันธุ์ จัดขึ้นวันที่ 6 เม.ย. 2562 เวลา 17.00-20.00 น. เริ่มตั้งแต่ถนนทางเข้าต้นไม้ยักษ์ถึงบ้านลุงชมภู ชาวบ้านสะนำชวนนักท่องเที่ยวหิ้วปิ่นโตและขวดน้ำมาชิมอาหาร 5 ชาติพันธุ์ ได้แก่ ลาว ขมุ กะเหรี่ยง มอญ และจีน

“ในงานจะมีอาหารชั้นครูที่คนบ้านไร่ทำกินกันเป็นชีวิตอย่างแจ่ว เอาะ หมก หลาม ขะแนบ แกงหวาน ส้มตำพื้นบ้าน ลาบป่า เมี่ยงลาว ต้มยำโบราณ และยังมีขนมจีนเส้นสดราดด้วยน้ำยาป่า ส่วนขนมต้องชิมข้าวโขบ ที่ชาวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณทำกินกันในฤดูกาลนี้

นอกจากนี้ ยังมีกล้วยหงอก ข้าวต้มแล่ ขนมจ็อก ขนมล้อ ขนมตาหวาย ขนมต้มญวน ซาลาเปาปลาแรด ขนมจีน ขนมแคระ ขนมผักกาดและข้าวตอกหัวโขน รวมถึงชาวบ้านจะมาขายพืชผักพื้นบ้านและอาหารแปรรูปในชุมชนด้วย”

เมื่ออุดหนุนกันแล้ว สามารถไปนั่งล้อมวงบนฟาง พลางฟังเพลงจากพี่น้องชาติพันธุ์แห่งบ้านไร่ได้ตามสบาย

สอบถามข้อมูลการเดินทางได้ที่เบอร์08-8545-9300