posttoday

เลาะ ‘ลับแล’ ลิ้มรสเมือง

23 กุมภาพันธ์ 2562

จะมีเส้นทางไหนจะมีความสุขไปกว่าเส้นทางกินและจะมีเส้นทางไหนจะลึกลับน่าสนใจไปกว่า “เมืองลับแล”

จะมีเส้นทางไหนจะมีความสุขไปกว่าเส้นทางกินและจะมีเส้นทางไหนจะลึกลับน่าสนใจไปกว่า “เมืองลับแล” เมืองที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำนานแต่เป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีอยู่จริงใน จ.อุตรดิตถ์

ที่มาของชื่ออาจเป็นเพราะสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทำให้คนแปลกถิ่นที่เข้ามาหาทางออกไม่ได้ แต่ปัจจุบันเมืองลับแลเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะชื่อเสียงของทุเรียนหลงลับแลที่ดังออกไปไกล ทำให้มีคนอยากมาหลงในเมืองเล็กๆ แห่งนี้มากขึ้น

แม้ชื่อจะฟังเหมือนเข้าถึงยาก แต่ความเป็นจริงเมืองลับแลอยู่ห่างจาก อ.เมือง เพียง 8 กม. มีถนนหนทางลาดยางสะดวกสบาย และมีเส้นทางจักรยานสำหรับนักปั่นสายกิน โดยเฉพาะในต.ศรีพนมมาศ ที่เป็นเมืองจักรยานแรกๆ ของอุตรดิตถ์

เพราะนอกจากชาวบ้านจะใช้จักรยานสัญจรกันเป็นเรื่องปกติ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ยังเคยแจกรถจักรยานหลายร้อยคันให้ชาวบ้านและสร้างเลนจักรยานทั้งตำบล ซึ่งการที่ชาวบ้านใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ได้ส่งผลให้กฎระเบียบบนท้องถนนเป็นแบบรถใหญ่ให้เกียรติรถเล็ก คนปั่นจึงรู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องระแวดระวังจนเสียความชิล

เลาะ ‘ลับแล’ ลิ้มรสเมือง

ส่วนยุทธจักรความอร่อยในศรีพนมมาศรวมตัวกันอยู่บน “ถนนราษฎร์อุทิศ” เป็นที่ตั้งของร้านเก่าแก่ และร้านอร่อยที่เสิร์ฟความอิ่มเกินสามมื้อ ไม่ว่าจะเป็น “ร้านข้าวพันผักป้าตอ”หรือร้านข้าวพันผักอินดี้ ร้านอาหารเก่าแก่ของชุมชน ซึ่งตอนนี้ทายาทรุ่นที่สองมาสานต่อ ทำให้หน้าตาร้านดูเก๋อินดี้สมชื่อ ทั้งยังต่อยอดเมนูข้าวแคบพันผักเป็นเมนูใหม่น่าลอง

ต้องกล่าวก่อนว่า ข้าวแคบพันผักถือเป็นเมนูสุขภาพ โดยจะนึ่งแป้งบนผ้าขาวบาง ใส่ผัก จากนั้นใช้ไม้พายม้วนพันและใส่น้ำซุป กลายเป็นเมนูโลวแคลอรี และเป็นเมนูซิกเนเจอร์อาหารถิ่นซึ่งตอนนี้รุ่นลูกได้เพิ่มเมนูเป็นข้าวพันผักหมูแดง ข้าวพันผักเนื้อเปื่อย และข้าวพันผักเย็นตาโฟ

คือยังใช้ข้าวแคบเหมือนเดิม แต่นำคอนเซ็ปต์ก๋วยเตี๋ยวมาใช้เป็นทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งรสชาติของข้าวแคบจะมีเอกลักษณ์ทำให้แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวทั่วไป

จากนั้นปั่นย่อยจากร้านแรก เพื่อไปดูกรรมวิธีทำข้าวแคบที่ “ร้านข้าวแคบพี่สาว” ร้านเล็กๆที่มักวุ่นกับการผลิตให้ทันออร์เดอร์ ซึ่งที่นี่ยังทำแบบดั้งเดิมจึงเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียง

เลาะ ‘ลับแล’ ลิ้มรสเมือง

พี่สาวอธิบายให้ฟังว่า ข้าวแคบทำมาจากข้าวเจ้านำไปแช่น้ำแล้วนำไปหมักไว้จนมีรสเปรี้ยว จากนั้นนำแป้งที่หมักไว้ไปผสมงาดำแล้วนึ่งเป็นแผ่นวงกลมบนหม้อ เมื่อสุกแล้วจะยกไปตากแดดบนใบหญ้าคา เหตุที่ใช้ใบหญ้าคาก็เพราะเลาะออกง่าย ไม่ติดแป้ง ตากทิ้งไว้กลางแดดจัดหนึ่งแดดก็เป็นอันเรียบร้อย

แต่เดิมข้าวแคบจะใส่แค่งาดำ แต่พี่สาวมีการคิดสูตรใหม่อย่างรสพริก รสต้มยำ รสใบเตยผสมเข้าไปในแป้งข้าวเจ้า โดยสามารถกินได้ทั้งแบบนึ่งเป็นข้าวพันผักเหมือนร้านที่ผ่านมา หรือกินแบบแห้งเป็นของว่าง หรือแช่น้ำแล้วนำไปพันไส้เหมือนเปาะเปี๊ยะสดก็ได้

นอกจากนี้ ข้าวแคบยังเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง เพราะเมื่อนำไปตากแห้งแล้วจะเก็บได้นาน และยังพกเข้าป่าไว้เป็นเสบียงระหว่างทางเหมาะกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพิงป่าในการยังชีพ

การกินยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะบนถนนราษฎร์อุทิศ ยังมีร้านเด็ดอีกชื่อ “ร้านป้าหว่าง” ถ้าดูจากภายนอกนึกว่าเป็นบ้านธรรมดา แต่ชาวบ้านจะทราบกันดีว่าป้าหว่างทำหมี่พันอร่อยที่สุดในซอย

หมี่พัน เป็นอาหารถิ่น เจอได้ที่เมืองลับแลเท่านั้น เป็นการผสมผสานระหว่างข้าวแคบกับหมี่คลุก (หมี่คลุกคือ หมี่ขาวคลุกด้วยเครื่องปรุง)โดยจะใช้ข้าวแคบพันหมี่เป็นชิ้นเรียวยาว เวลารับประทานจะรู้สึกหนึบหนับจากเนื้อสัมผัสด้านนอก แล้วค่อยเคี้ยวเต็มปากจากหมี่ด้านใน ขายชิ้นละ 2 บาท กิน 5 ชิ้นก็อิ่มท้อง

เลาะ ‘ลับแล’ ลิ้มรสเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่อิ่มสะใจยังมีร้านอาหารอื่นๆ ให้ลิ้มลอง เช่น ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ขนมจีนน้ำเงี้ยว หมูปิ้ง เมนูของทอด และมะพร้าวน้ำหอม

แต่ถ้ากำลังหาของหวานแปลกเฉพาะถิ่น ต้องไปลองกินลอดช่องเค็ม ลักษณะเหมือนลอดช่องทั่วไปแต่แทนที่จะใส่น้ำกะทิจะใส่ปลาป่น กุ้งป่น ถั่วงอก เหยาะน้ำปลา น้ำมะนาว และพริกป่นลงไปแทน รสชาติปะแล่ม แต่หลังจากคำที่สามเป็นต้นไปจะรู้สึกคุ้นเคยและอร่อยไปเอง

เลนจักรยานจะไปบรรจบที่ข้อสรุปของเรื่องราวทั้งหมด ณ “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” สถานที่รวบรวมเรื่องราวประวัติของเมือง วิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองลับแล โดยจำลองผ่านเรือนในแต่ละหลังจัดแสดงเครื่องปั่นฝ้าย กี่ทอผ้าขนาดใหญ่ เพื่อบ่งบอกถึงวิถีการทอผ้าของสาวเมืองลับแล ซึ่งในปัจจุบันที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจกติดอันดับของประเทศ เครื่องสีข้าวโบราณและยุ้งฉาง จัดแสดงให้เห็นอาชีพเกษตรกรรมของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เรือนการทำอาหาร ชาวลับแลหรือคนไทยภาคเหนือส่วนใหญ่นิยมทำอาหารบนเรือน และพิพิธภัณฑ์บ้านพระศรีพนมมาศ อดีตนายอำเภอเมืองลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้พัฒนาเมืองลับแลให้มีผังเมืองจนนามของท่านกลายเป็นชื่อของตำบลแห่งนี้

เลาะ ‘ลับแล’ ลิ้มรสเมือง

ถนนเล็กๆ และสองล้อได้นำไปเจอเรื่องราวน่ารักของเมืองลับแล ทั้งพ่อค้าแม่ขายที่เป็นชาวบ้านท้องถิ่นจึงมีน้ำใจเป็นส่วนประกอบในทุกเมนู

รวมถึงความเป็นอยู่แบบเนิบช้าที่ราวกับว่าทุกคนไม่รู้จักคำว่ารีบเร่ง ทำให้บรรยากาศของเมืองเอื้อต่อสโลว์ไลฟ์อย่างแท้จริง

ค่อยๆ ปั่น ค่อยๆ กิน ให้จักรยานค่อยๆพาไปทำความรู้จักทุกซอกหลืบของลับแล