posttoday

อิสระ ที่ถูกพันธนาการ

06 มกราคม 2562

เรื่อง: มัลลิกา นามสง่า

เรื่อง: มัลลิกา นามสง่า


ในห้วงเวลานี้สิ่งเดียวที่ “ทศพล ยิ่งผล” รู้สึกว่าเขาเป็นอิสระที่สุด ไม่ถูกพันธนาการด้วยสิ่งใด ก็ยามที่ปาดป้ายพู่กันลงบนผืนผ้าใบ ความคิดที่ถูกกักขังไม่ให้แสดงความพิโรธออกมาก็ถูกปลดเปลื้องสาดแต้มไปด้วยแสงสีที่เขาตั้งใจคัดสรรมาใช้ในงานศิลปะ

“Twenty Fourteen ค.ศ. 2014” นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของทศพล หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้ไม่กี่เดือน

อิสระ ที่ถูกพันธนาการ

ผลงานตั้งต้นของชุดนี้ ทศพลทำเป็นผลงานเพื่อจบการศึกษา หากผลงานและแนวความคิดไปเข้าตาภัณฑารักษ์ นัมเบอร์วันแกลอรี่ 19 จึงทาบทามให้มาจัดแสดงนิทรรศการ

ทศพลจัดเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เขาได้เข้าร่วมหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ Young Artists Talent ๔.๐ #๙ ทุนพลเอกเปรมปี 2560 โครงการดาวเด่นบัวหลวงครั้งที่ 10 และยังได้ร่วมแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวง ร.9 ที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา

“ผมทำงานชุดนี้ก่อนเรียนจบ และก็ทำเพิ่มมีทั้งหมด 11 ชิ้น เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันและสื่อผสม ผมมีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในสังคม ข่าว ผมชอบวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย (Dystopia) เลยมีแนวความคิดว่า ปัจจุบันการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว พอการเมืองเปลี่ยนแปลงไปสังคมก็เปลี่ยนแปลงตาม แล้วผมมีความรู้สึกว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันน้อย งานก็เลยออกมาแบบนี้”

อิสระ ที่ถูกพันธนาการ

ที่มาของชื่อนิทรรศการ Twenty Fourteen ค.ศ. 2014 ทศพลแจงว่า “ผมพยายามพูดถึงความรู้สึกตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน

ผมว่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร เสรีภาพหรือสิทธิในการแสดงออกมันน้อยลง แต่ละคนมีสถานภาพทางสังคมที่ต่างกัน ผมเองรู้สึกมากกับเรื่องนี้ ด้วยเป็นวัยที่กำลังต้องการสิทธิเสรีภาพที่รู้สึกถูกกีดกั้น เช่น การแสดงความคิดเห็นบางอย่าง การจัดกิจกรรมนักศึกษาหลังรัฐประหารไม่สามารถทำได้ ซึ่งในผลงานก็มีการตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ผมว่าการแสดงความคิดเห็นมันไม่ได้ทำร้ายใคร”

ทศพลถ่ายทอดผ่านผลงานจิตรกรรมในรูปแบบสัจนิยม สร้างสัญลักษณ์เป็นหลักสำคัญในการสื่อสาร “ผมใช้เทปกาว (ยูโรเทป) ที่ใช้ขึงเขตห้ามเข้า ตัวหนังสือที่ซ่อนอยู่ในงาน สีที่อยู่ในเทปกาว พื้นผิวที่แตกร้าวหยาบกร้านแทนการแตกแยก การเลือกใช้สัญลักษณ์ต้องตรงกับแนวความคิด ตรงกับรายละเอียดของเนื้อหาที่จะสื่อ”

อิสระ ที่ถูกพันธนาการ

ศิลปินสร้างชุดภาษาแบบจิตรกรรม โดยการประกอบสร้างบริบทที่สะท้อนผลสู่มิติเชิงลบ แสดงเนื้อหาให้เห็นการพยายามควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพ บอกเล่าเรื่องราวความจริงของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่รวมกัน

“ผมชอบงานแนวเรียลลิสติก เพราะการวาดภาพเหมือนมีเสน่ห์ตรงที่มันท้าทายในการวาดให้เหมือนแต่อธิบายรายละเอียดเข้าไป เช่น รูปที่คนถือแซนด์วิชกับหนังสือ (Delicious Sandwiches แซนด์วิชแสนอร่อย) ภาพคนถูกห่อหุ้มด้วยเทปกาว สัญลักษณ์ของการห้าม หวงห้าม ใช้กับห้ามเข้าหรือห้ามออกก็ได้ เทปกาวมาพันกับตัวคนก็รู้สึกอึดอัด ทรมาน การถูกรัดด้วยเทปกาวทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามความคิดอิสระ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว อาหารก็เป็นเพียงอาหารและหนังสือก็เป็นเพียงหนังสือ ไม่สามารถเป็นอาวุธทำร้ายใครได้

สิ่งที่ต้องการนำเสนอผ่านงานชุดนี้ อยากบอกว่า มุมที่มันต้องการแสดงออก หรือเกิดขึ้นในสังคมไม่ถูกตีแผ่ยังมีอยู่ การแสดงออกการแสดงความคิดเห็นไม่ได้เลวร้าย แต่การพยายามจัดการควบคุมที่มากเกินไปเท่านั้นที่เป็นสิ่งน่ากลัวและหดหู่ใจในสังคม”

อิสระ ที่ถูกพันธนาการ

ผลงานที่ทศพลสร้างขึ้นจากความคิดความรู้สึกที่กลั่นกรองมาภายในห้วงเวลา 4 ปี เป็นการชวนให้ตั้งคำถามและกระตุ้นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

นิทรรศการ Twenty Fourteen ค.ศ. 2014 จัดแสดงถึงวันที่ 26 ม.ค. 2562 ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ 19 ซอยสีลม 21 สีลม บางรัก