posttoday

เซลฟี่กับจระเข้ยักษ์ ณ เมืองชาละวัน

27 พฤษภาคม 2561

ความหมายของชื่อจังหวัด “พิจิตร” คือ ความงาม

โดย /ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ความหมายของชื่อจังหวัด “พิจิตร” คือ ความงาม แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามความงามนี้ไป ทำให้พิจิตรกลายเป็นเพียงเมืองทางผ่านของเส้นทางขึ้นเหนือ แต่หากได้ลองแวะแล้วจะพบกับสิ่งเหลือเชื่อทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และตำนาน

 

ถ้าถามว่าพิจิตรมีอะไรดี คงต้องไปดูที่คำขวัญประจำจังหวัด ซึ่งมีความเก๋ไก๋เพราะสามารถตามไปเที่ยวตามไปลองได้เป็นวรรคๆ เริ่มจากวรรคแรก “ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ” พระนามเดิมของ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงประสูติที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร และทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้สร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง และทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทำการฉลองด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่เด่นที่สุดในเมืองพิจิตรเวลานั้น ปัจจุบันหลังจากกระแสละครบุพเพสันนิวาสโด่งดัง วัดโพธิ์ประทับช้างก็ได้รับความสนใจอีกครั้ง อีกทั้งประชาชนยังสนใจศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเจ้าเสือ จึงพลอยทำให้รู้จักพิจิตรมากขึ้นไปด้วย

 

เซลฟี่กับจระเข้ยักษ์ ณ เมืองชาละวัน

จากนั้นต้นเดือน ก.ย.ของทุกปีต้องคิดถึงวรรคนี้ “แข่งเรือยาวประเพณี” จัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ต้นเดือน ก.ย. บริเวณวัดท่าหลวง โดยการแข่งเรือยาวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2450 ซึ่งสิ่งที่สนุกไม่น้อยไปกว่าการแข่งขันก็คือ เสียงพากย์ของผู้บรรยายที่รวดเร็ว ดุดัน สร้างสีสันและความมันให้ผู้ชมได้เป็นไฮไลต์ที่คนอยากมาฟังพอๆ กับอยากมาเชียร์

ทั้งนี้ จ.พิจิตร มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ทั้งสองสายไหลผ่านจังหวัดเกือบเป็นลักษณะเส้นขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยมีแม่น้ำพิจิตรอยู่ระหว่างกลางความยาวของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดมีระยะทาง 97 กิโลเมตร และความยาวของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดมีระยะประมาณ 128 กิโลเมตร

วรรคสามสาธุขอพรกับ “พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน” หลวงพ่อเงินคือนามเดิมของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พระเกจิชื่อดังของเมืองพิจิตร โดยเฉพาะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่ได้ถวายพระองค์เป็นศิษย์ของหลวงพ่อเงิน เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ และท่านยังได้ก่อตั้งวัดตะโก หรือวัดหิรัญญาราม ต.บางคลาน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย

เซลฟี่กับจระเข้ยักษ์ ณ เมืองชาละวัน

 

จากนั้นวรรคสี่มีชื่อคุ้นหู คือ “เพลิดเพลินบึงสีไฟ” บึงนี้เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ราว 5,000 ไร่ โดยบริเวณที่เป็นสวนสาธารณะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ทุกเย็นชาวพิจิตรจะมาวิ่งออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยานน้ำ (ปั่นเป็ด) และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจชมพระอาทิตย์ตกขอบบึง

 

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.พิจิตร เล่าให้ฟังว่า ราวปีที่ผ่านมาบริเวณสวนสาธารณะบึงสีไฟแห้งขอดไม่มีน้ำ เพราะลักษณะของบึงคล้ายกระทะ เทเอียงไปทางทิศตะวันตกประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำทำให้บริเวณที่เป็นสวนสาธารณะไม่มีน้ำจนเกิดไฟไหม้กลางบึงหลายครั้ง แต่เมื่อขุดลอกและระบายน้ำ น้ำก็สามารถไหลมาเติมเต็มสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม บัวที่อยู่ใต้ตมก็สามารถเติบโตชูดอกพ้นน้ำได้อีกครั้ง ทำให้บึงสีไฟกลายเป็นสวนสาธารณะที่เพลิดเพลินใจของชาวพิจิตร และเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต้องมาเช็กอินสักครั้ง

นอกจากนี้ ริมบึงสีไฟยังมีรูปปั้นพญาชาละวันยักษ์ ยาว 38 เมตร กว้าง 6 เมตร ให้แชะภาพเป็นที่ระลึกและในอนาคตผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ยังจะสร้างเลนจักรยานรอบบึงสีไฟให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่คนพิจิตร

เซลฟี่กับจระเข้ยักษ์ ณ เมืองชาละวัน

 

วรรคห้าต้องไปสักการะพระคู่เมือง “ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร” หลวงพ่อเพชรคือ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพิจิตรเคารพศรัทธามีพระพุทธลักษณะที่งดงาม ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดท่าหลวง (พระอารามหลวง) อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี หล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ชาวพิจิตรเชื่อว่า องค์หลวงพ่อเพชรจะช่วยปกป้องรักษาและปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป ทั้งยังเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งจังหวัดด้วย

 

หลังจากอิ่มบุญต้องไปตามหาของดีกันต่อที่ วรรคหก “รสเด็ดส้มท่าข่อย” ส้มโอท่าข่อยมีแหล่งเพาะปลูกแรกอยู่ที่บ้านท่าข่อย ต.เมืองเก่า จ.พิจิตร จนปัจจุบันถูกขยายพันธุ์ไปยังอำเภอต่างๆ จนกลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อ มีความโดดเด่นที่รสชาติหวาน เนื้อแน่น และเนื้อมีสีชมพูอ่อนน่ารับประทาน โดยสามารถหาซื้อเป็นของฝากกันได้ในช่วงเดือน  ต.ค.-เม.ย.

นอกจากส้มโอแล้ว ที่นี่ยังมีข้าวขึ้นชื่ออย่าง “ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง” ชื่อเสียงเรื่องนี้มาจากการที่พิจิตรเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเจ้าขนาดใหญ่ จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของภาคเหนือรองจาก จ.เชียงราย และนครสวรรค์ โดยมีข้าวสายพันธุ์ดีและรสชาติอร่อยอย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวชัยนาท 1 และข้าวสุพรรณบุรี 60

เซลฟี่กับจระเข้ยักษ์ ณ เมืองชาละวัน

 

ความที่จังหวัดนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติจากแม่น้ำ 3 สาย ทำให้มีน้ำใช้ทำนาตลอดปี โดยมีสถานที่เพาะปลูกสำคัญอยู่ที่ อ.เมือง บางมูลนาก โพทะเล สามง่าม และตะพานหิน ซึ่งสามารถชิมความอร่อยของข้าวพิจิตรได้ตามร้านอาหารท้องถิ่น หรือจะไปลิ้มลองข้าวสวยร้อนๆ คู่กับกับข้าวรสดั้งเดิมได้ที่ตลาดหน้าจวนทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาเช้ามืด 05.00-09.00 น.

 

นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์เวลาประมาณ 07.30 น. ชาวเมืองพิจิตรทราบกันดีว่าจะมีกิจกรรมใส่บาตรพระริมกำแพงแห่งความภักดี บริเวณใกล้กับตลาดหน้าจวน กำแพงดังกล่าวมีความสวยงามและมีความหมาย จากพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในพระราชกรณียกิจต่างๆ พระสงฆ์และสามเณรจะเดินบิณฑบาตริมกำแพงแห่งความภักดีต่อเนื่องเข้าไปยังตลาด ทุกเช้าวันเสาร์จึงจะเห็นภาพชาวบ้านแต่งกายด้วยผ้าไทยมา ปูเสื่อพร้อมข้าวปลาอาหารและดอกไม้ มารอใส่บาตรพระอย่างพร้อมเพรียง

ส่งท้ายที่วรรคสุดท้าย “ตำนานเมืองชาละวัน”ชาละวันคือชื่อจระเข้ตัวเขื่องแห่งแม่น้ำพิจิตร และเป็นตำนานของเมือง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่องไกรทอง และให้นามจระเข้ใหญ่ชื่อพญาชาละวัน จึงทำให้ตำนานชาละวันกลายเป็นที่รู้จักและเป็นสมญานามของ จ.พิจิตร ไปแล้ว

เมืองงามพิจิตรอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์ประมาณ 346 กิโลเมตร หรือสามารถโดยสารเครื่องบินมาลงที่ จ.พิษณุโลก และต่อรถยนต์มาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย ซึ่งเสน่ห์ที่ว่าไปทำให้ทราบแล้วว่าพิจิตรไม่ใช่เมืองผ่าน แต่เป็นเมืองที่ต้องตั้งใจไปถึงจะได้เห็นความสวยงามที่ถูกซ่อนเร้น