posttoday

ความเห็นในการคำนวณ ส.ส. วิธีคิดแบบ"โคทม" อดีต 5 เสือ กกต.

12 เมษายน 2562

โมเดล 16 พรรคที่เสนอ สอดคล้องกับกฎหมายและกับและสามัญนึก กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียง 7.1 หมื่นคะแนน ก็ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. 1 ที่นั่ง

ผมเชื่อว่าโมเดล 16 พรรคที่เสนอ สอดคล้องกับกฎหมายและกับและสามัญนึก กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียง 7.1 หมื่นคะแนน ก็ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. 1 ที่นั่ง ถ้าจะจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 9 ที่นั่งแก่พรรคที่แต่ละพรรคคะแนนไม่ถึง 7.1 คะแนน ก็เท่ากับว่า คะแนน 71,000 x 9 = 639,000 คะแนน จะสูญหายไปจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเหล่านี้มาโดยชอบ

*********

โดย...โคทม อารียา

ระบบเลือกตั้งปัจจุบันเป็นระบบสัดส่วน (proportional representation หรือ PR) หรือที่เราคุ้นกันในชื่อระบบบัญชีรายชื่อพรรค ก่อนหน้านี้ เราเคยใช้หลายระบบ ซึ่งมักเป็นแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว (ระบบ first-past-the-postหรือ คะแนนนำกำชัย)

รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เริ่มนำระบบผสมมาใช้ คือมีทั้ง ส.ส. เขตและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่เป็นการผสมแบบคู่ขนาน คือ จำนวน ส.ส. เขตกับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น คำนวณแยกกันหรือขนานกัน ไม่เกี่ยวกัน บัตรเลือกตั้งก็ใช้สองใบ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเคยมีการบัญญัติว่า บัญชีรายชื่อใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 5% จะไม่ได้ ส.ส. เลย

ทั้งนี้ เพื่อลดข้อเสียของระบบบัญชีรายชื่อที่ทำให้องค์ประกอบในสภาเป็นแบบเบี้ยหัวแตก คือมีพรรคขนาดเล็กจำนวนมากเกินไป ทำให้ยากที่ ส.ส.จะรวมกันเป็นเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพในสภา

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกเลิกขีดแบ่งขั้นต่ำ (threshold)5% ดังกล่าว แม้ว่าหลายประเทศยังคงบัญญัติขีดแบ่งขั้นต่ำไว้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 (4) บัญญัติว่า ในการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้จำนวนรวมเท่ากับ 150 คน จะต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินกว่า ส.ส. พึงมี โดยที่ ส.ส. พึงมีของพรรคการเมืองหนึ่งจะเท่ากับ 1

ถ้าพรรคการเมืองนั้นได้คะแนนเท่ากับ 1/500 หรือ 0.2% ของคะแนนรวมทุกพรรคทั้งประเทศ คะแนนรวมนี้เท่ากับประมาณ 35.5 ล้าน ทำให้มีขีดแบ่งขั้นต่ำโดยปริยายเท่ากับ 0.2% หรือประมาณ 7.1 หมื่นคะแนน ทำให้เข้าใจว่า พรรคการเมืองที่คะแนนน้อยกว่า 7.1 หมื่นคะแนน และไม่มี ส.ส. เขตเลย จะไม่มี ส.ส. ในสภา

ในการคำนวณ เราใช้บัญญัติไตรยางค์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าอยากรู้ว่าพรรคใดจะมี ส.ส. พึงมีได้กี่คน ก็ขอให้ตั้งบัญญัติไตรยางค์ดังนี้ (ในขั้นนี้ขอใช้ตัวเลขสมมุติก่อนนะครับ) คะแนนทั้งประเทศมี 35.5 ล้านเสียง เทียบเป็น ส.ส. ทั้งสภา 500 คน หนึ่งคะแนนเสียงจึงเทียบเป็น ส.ส. (500 ÷ 35.5 ล้าน) คน

สมมุติว่าพรรคนั้นได้คะแนนเสียง 8 ล้านเสียง ก็จะมี ส.ส. (500 ÷35.5)X8=112.6760 คน หมายความว่าพรรคนี้มี ส.ส. พึงมีเป็นจำนวนเต็มเท่ากับ 112 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลการคำนวณ ส.ส. พึงมีแสดงอยู่ในคอลัมน์ [2] ของตาราง โดยใช้ผลคะแนนทั้งประเทศเท่ากับ 35.5285 ล้านคะแนน ในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมี ให้นำจำนวน ส.ส. เขต มาหักลบออกจากจำนวน ส.ส. พึงมี ผลลัพธ์แสดงอยู่ในคอลัมน์ [3] ของตาราง

ตารางแสดงผลการคำนวณจำนวน ส.ส.

 

ความเห็นในการคำนวณ ส.ส.  วิธีคิดแบบ"โคทม"  อดีต 5 เสือ กกต.

 

ความเห็นในการคำนวณ ส.ส.  วิธีคิดแบบ"โคทม"  อดีต 5 เสือ กกต.

 

*จำนวนเศษนี้ไม่รวมเศษของพรรคเพื่อไทย และไม่รวมเศษของพรรคประชาชาติซึ่งพรรคนี้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมีต่ำกว่า 1 จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ในขั้นตอนนี้ จะต้องนำมาตรา 128 (7) มาใช้เพื่อจัดสรรให้จำนวนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่ากับ 150 คน โดยกฎหมายระบุให้คูณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมี ด้วยตัวคูณตัวหนึ่งซึ่งเท่ากับ 150 หารด้วย (150 + “จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่เกิน 150 คน”)

ผมคิดว่ามีสองวิธีในการคำนวณตัวคูณนี้ วิธีที่ 1 ใช้จำนวนเต็มหรือใช้คอลัมน์ [3] “จำนวนที่เกิน” จึงมี 2 คน และตัวคูณคือ 150÷152 = 0.9868 ส่วนตัวตั้งในการคูณคือจำนวนเต็มในคอลัมน์ [3] วิธีที่ 2 ใช้จำนวนมีเศษ “จำนวนที่เกิน” ดังกล่าวให้รวมเศษไว้ด้วย ในกรณีนี้ ตัวคูณคือ 150÷(152+7.8434) = 0.9384 ส่วนตัวตั้งคือจำนวนเต็มในคอลัมน์ที่ [3] บวกเศษในคอลัมน์ [7]

เมื่อทำการคูณแล้ว ให้ปัดเศษขึ้น เริ่มแต่จำนวนที่มีเศษมากกว่า ผลการปัดเศษคือจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อจัดสรร สังเกตว่าเมื่อใช้วิธีที่ 1 ซึ่งผลลัพธ์แสดงในคอลัมน์ [4] พรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ลดลงพรรคละ 1 คนเมื่อเทียบกับจำนวนที่พึงมี เมื่อใช้วิธี 2 การปัดเศษจะต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใด ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเกินจำนวนพึงมีที่แสดงในคอลัมน์ [3]

ปรากฏว่าเมื่อปรับแล้ว ทุกพรรคได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่ากับ ส.ส. พึงมี ในคอลัมน์ [3] (แสดงว่าเต็มพิกัดแล้ว) ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่ ที่ ส.ส. ลดจำนวนไป 3 คนจากจำนวนที่พึงมี การลดเช่นนี้ทำให้จำนวนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อจัดสรร เท่ากับ 149 คน (น้อยกว่าที่ต้องการ 1 คน)

แต่เนื่องจากว่าไม่สามารถเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้แก่พรรคอื่นใดได้เพราะเต็มพิกัดแล้ว ถ้าต้องการให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจัดสรรรวม 150 คน ก็น่าจะเพิ่มจำนวน ส.ส. ให้แก่พรรคอนาคตใหม่อีก 1 คน ดังแสดงด้วยเครื่องหมาย +1 ในคอลัมน์ [5]

เมื่อนำ ส.ส. บัญชีรายชื่อจัดสรรไปรวมกับ ส.ส. เขต ก็จะได้เป็นจำนวน ส.ส. รวมที่จัดสรรแล้วของแต่ละพรรค ดังแสดงในคอลัมน์ [6] วิธีที่ 1 ให้ ส.ส. แก่พรรคอนาคตใหม่ 87 คน แก่พรรคประชาธิปัตย์ 54 คน ส่วนวิธีที่ 2 ให้ ส.ส. แก่พรรคอนาคตใหม่ 86 คน แก่พรรคประชาธิปัตย์ 55 คน ส่วนพรรคที่เหลือได้ ส.ส. เท่ากับ ส.ส. พึงมี

ประเด็นที่น่าห่วงกังวลก็คือ กรธ. และ “ผู้รู้” บางคน ออกมาพูดให้คล้อยตามเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ และให้คำนึงถึงทุกคะแนนที่ไม่ให้ตกหล่นไปไหน อีกทั้งมีข่าวจากสำนักงาน กกต. จะมีการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมือง 25 พรรค การเสนอวิธีการคำนวณข้างต้นเป็นความเห็นต่างกับข่าวของสำนักงาน กกต.

ผมเชื่อว่าโมเดล 16 พรรคที่เสนอ สอดคล้องกับกฎหมายและกับและสามัญนึก กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียง 7.1 หมื่นคะแนน ก็ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. 1 ที่นั่ง ถ้าจะจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 9 ที่นั่งแก่พรรคที่แต่ละพรรคคะแนนไม่ถึง 7.1 คะแนน ก็เท่ากับว่า คะแนน 71,000 x 9 = 639,000 คะแนน จะสูญหายไปจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเหล่านี้มาโดยชอบ

การอ้างไม่ให้คะแนนสูญหาย ต้องถามด้วยว่า สูญหายจากพรรคใด ไปให้แก่พรรคใด แล้วจะต้องตอบโจทย์ด้วยว่า โมเดล 25 พรรคที่แย้มพรายมานั้น ทำให้ ส.ส. จัดสรรเกินกว่า ส.ส. พึงมีมิใช่หรือ