posttoday

นโยบายการส่งเสริม "EV" ในจีน

06 มีนาคม 2562

รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณ "ยาแรง" ในการเปลี่ยนตลาดรถยนต์ในประเทศจาก "น้ำมัน" มาสู่ "EV"

รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณ "ยาแรง" ในการเปลี่ยนตลาดรถยนต์ในประเทศจาก "น้ำมัน" มาสู่ "EV"

********************************

โดย...ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

ผมได้รับนิตยสาร MIT Technology Review ฉบับใหม่เมื่อเดือนก่อนเป็นฉบับที่มีไฮไลต์หน้าปกว่า “China Rules” หรือแปลเป็นไทยว่า “จีนครองเมือง” หนึ่งในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้ เป็นบทความเขียนโดย Jordyn Dahl ใช้หัวข้อว่า “Electric Avenue” หรือแปลเป็นไทยว่า “ถนนสายไฟฟ้า” ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประเด็นที่รัฐบาลไทยน่าจะลองปรับมาใช้บ้างในอนาคต

ผมจะขอแปลและสรุปแบบสังเขป มาบอกเล่ากันดังนี้นะครับ

ตั้งแต่ที่จีนยังอยู่ในยุคคอมมิวนิสต์ที่มีระบบเศรษฐกิจปิด ในช่วงทศวรรษ 60-70 ช่วงนั้นต้องถือว่าเศรษฐกิจของจีนหยุดนิ่ง ไม่มีการพัฒนาและไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เลย ประเทศก็เริ่มถดถอย จนกระทั่งนโยบายเศรษฐกิจระบบเปิดภายใต้วิสัยทัศน์ของท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ในช่วงทศวรรษที่ 80 ที่เริ่มอนุญาตให้บริษัทต่างชาติ (ส่วนใหญ่ยุโรป) เข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ ในจีน แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องร่วมลงทุนกับ “พันธมิตรชาติจีน” แลกกับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานต่างๆ ซึ่งนโยบายนี้แหละที่ทางรัฐบาลจีนตั้งใจใช้เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากบริษัทต่างชาติต่างๆ มาเพื่ออนาคตข้างหน้า

และเมื่อระยะเวลาหนึ่งผ่านไป (ราว 20 ปี) รัฐบาลจีนจึงเริ่มนำความรู้ และประสบการณ์ที่แอบเรียนรู้มานั้นมาผลิตสินค้าต่างๆ แข่งกับบริษัทต่างชาติดั้งเดิม แต่อย่างที่ทราบๆ กัน สินค้าของจีนในยุคแรกๆ นั้น คุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไร ด้อยกว่าของดั้งเดิม หรือของคล้ายกันแต่ผลิตจากญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวันมาก โดยหนึ่งในสินค้าที่จีนผลิตมาแข่งสู้ในตลาดโลกคือ “รถยนต์” อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนรู้ดีว่าหากยังใช้กลยุทธ์เดิมๆ คือ ก๊อบปี้มาแข่งโดยอาศัยค่าแรงถูกกว่าอย่างเดียว คงจะไปไม่รอดแน่ๆ จึงได้ทดลองกลยุทธ์ใหม่ แบบ “คิดใหม่ ทำใหม่” หรือกล้าที่จะเริ่มเส้นทางแบบ “New Thing-New Way”

ดังนั้น ในปี 2010 รัฐบาลจีนจึงริเริ่มกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์ “Made in China 2025” ที่ต้องการเปลี่ยนตลาดสินค้าเป้าหมายนั้นๆ ให้เป็น เมด อิน ไชน่า ทั้งหมด หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น คือ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “EV” ที่จีนหมายมั่นปั้นมือมาก นอกจากรัฐบาลจีนจะมีวิสัยทัศน์ และนโยบายสั่งตรงจากเบื้องบนลงมาแล้ว ทางรัฐบาลจีนยังอุดหนุน บริษัท Start Up ในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ มากมายด้วยการอัดฉีดงบประมาณและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในสารพัดรูปแบบ ทำให้ในปี 2013 มีบริษัท Start Up ของจีนที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนประกอบ (รวมทั้งแบตเตอรี่) มากกว่า 500 บริษัท ดังนั้น จึงถือว่าในฝั่ง Supply Side รัฐบาลจีนทำสำเร็จด้วยการกำหนดเป้าหมาย (Mandate) และอัดฉีดงบ (Subsidies) กระตุ้นการบ่มเพาะธุรกิจ EV นี้ จนมี Supply เพียงพอในระดับหนึ่งทีเดียว

ในด้านการตลาด และส่งเสริมการใช้รถ EV รัฐบาลจีนได้ใช้กลยุทธ์แบบกึ่งบังคับ และสร้างความแตกต่าง ด้านราคาระหว่างการครอบครองรถ EV กับรถน้ำมัน นโยบายที่ใช้เป็นหลักเลยก็คือ การจำกัดปริมาณรถยนต์น้ำมันในเมืองใหญ่ผ่านการไม่อนุญาตให้ออก “ป้ายทะเบียนรถใหม่” หรือหากจะออกจะต้องผ่านระบบประมูลแข่งขันและนำรถเก่ามาแลก เป็นต้น ทำให้ราคาค่า “ป้ายทะเบียนรถใหม่” ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ มีราคาสูงถึง 3 แสนกว่าบาท ทั้งๆ ที่ราคาตัวรถเองราคาไม่เกิน 6 แสนบาท เป็นต้น

แต่สำหรับ “ป้ายทะเบียนรถ EV” รัฐบาลจีนอนุญาตให้ออกได้เลยทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่หยวนเดียว แถมยังปรับระบบทำให้กระบวนการได้รับอนุญาตป้ายทะเบียนนั้นง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถแท็กซี่ ให้เปลี่ยนเป็นมาใช้ EV แทนรถน้ำมันกันหลายเมือง เช่น เสิ่นเจิ้น รถแท็กซี่ EV วิ่งเต็มท้องถนนกันเลยทีเดียว

การเปลี่ยนตลาดรถยนต์ในจีนจาก “น้ำมัน” มาสู่ “EV” นั้น ถือว่ารัฐบาลได้ส่งสัญญาณยาแรง ทำเอาค่ายรถยนต์จากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นแทบตั้งตัวไม่ทัน พอหันมาจะทำเลียนแบบจีนก็พบว่าห่วงโซ่ธุรกิจหลายส่วนโดนจีนกินรวบไปหมดแล้ว เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เป็นต้น

ดังนั้น ในเรื่องอนาคตของธุรกิจรถยนต์นั้น ต้องถือว่า แกนกลางของธุรกิจได้เปลี่ยนมือแล้ว เหลือแต่ว่าสุดท้าย ใครจะยืนระยะได้ยาวกว่ากัน ระหว่างสี่ค่าย ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ...แล้ว ณ ตอนนั้นใครเล่าจะกล้าท้าทายพญามังกร !!! ส่วนไทยล่ะครับ จะลู่ลมตามจีน หรือจะยืนอยู่กับที่เดิม?