posttoday

มืออาชีพป้องกันภัยพิบัติ

07 มกราคม 2562

ความเป็น “มืออาชีพ” ของรัฐในการรับมือภัยธรรมชาติครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา

ความเป็น “มืออาชีพ” ของรัฐในการรับมือภัยธรรมชาติครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา

************************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.

ภัยธรรมชาติต้อนรับปี 2562 เมื่อพายุโซนร้อน “ปาบึก” ชื่อตามปลาบึกแห่งแม่น้ำโขง เข้าถล่มภาคใต้ตอนล่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเสียหายรุนแรง คล้ายกับเหตุการณ์คราวที่พายุไต้ฝุ่นเกย์ถล่มเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนั้นความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินรุนแรงมากกว่าครั้งนี้หลายเท่า

และวันนี้คนไทยได้เห็นผลงานที่น่าชื่นชมของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะแม้พลังพายุปาบึกมีความรุนแรงมาก แต่ความสูญเสียยังอยู่ในระดับน้อยกว่าที่ประมาณไว้

ดังนั้น การรับมือภัยพิบัติครั้งนี้ คนไทยได้เห็นกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ได้แม่นยำ ทำให้เกิดการเตรียมพร้อมล่วงหน้าได้ดี รูปแบบการเตือนภัยล่วงหน้าทำได้อย่างมีระบบและทั่วถึง รับทราบได้โดยทั่วกัน กระทรวงมหาดไทย ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และส่วนราชการจังหวัดในภาคใต้ได้มีมาตรการจัดการภัยพิบัติร่วมกันที่ดีมีประสิทธิภาพสูง มีการอพยพผู้คนอย่างรวดเร็ว ไปพักอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย

หน่วยงานทหารทุกเหล่าทัพได้เร่งเข้าถึงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทันทีและทั่วถึง การประสานงานระหว่างหน่วยงานก็ทำได้อย่างไร้รอยต่อเพื่อสนับสนุนทุกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ

ขณะที่ภาคประชาชนและภาคเอกชนหลายฝ่ายได้ให้ความร่วมมือช่วยกันอย่างเต็มที่

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรฯ ยังได้เปิดศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึกที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงผ่านเว็บไซต์ สจล. พยากรณ์อากาศให้ประชาชนได้เข้าถึงและเฝ้าระวัง และเปิดอาคารเรียนให้เป็นที่พักชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ ยังได้ความร่วมมือจากจังหวัด ชุมชน และเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อรองรับภัยพิบัติ สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการอื่นที่สนับสนุนภารกิจฉุกเฉินนี้โดยทั่วกัน

ความเป็น “มืออาชีพ” ของรัฐในครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบาทำให้ถึงหน่วยงานจัดการภัยพิบัติของสหรัฐที่มีชื่อเสียง หรือ “ฟีม่า” (Federal Emergency Management Agency, FEMA) ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เปรียบได้กับกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งสหรัฐประสบภัยพิบัติรุนแรงจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาในปี 2548 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000 คน มีผู้อพยพหนีภัยนับแสน และมีผู้ประสบภัยหลายล้านชีวิต

ในครั้งนั้นฟีม่าได้ถูกติติงถึงความล้มเหลวในการจัดการที่ล่าช้า จนทำให้เกิดความสูญเสียมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้หลังจากนั้นฟีม่าได้ปฏิวัติการจัดการภัยพิบัติ จนพัฒนามาในรูปแบบปัจจุบันที่มีความทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง มีรูปแบบการประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ชัดเจน และมีการจัดการงบประมาณฉุกเฉินที่รวดเร็วทำให้การรับมือภัยพิบัติหลังจากเฮอริเคนแคทรีนา มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับที่วันนี้ พิสูจน์ว่าการจัดการแบบไทยไม่ได้แย่ ไม่ได้ช้า พัฒนากว่าในอดีตอย่างชัดเจน การบัญชาการ การจัดการกับพายุปาบึกครั้งนี้ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นั่นเพราะแม้ปาบึกจะใหญ่สักแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ใหญ่กว่าความสามารถของคนไทย และความเป็นมืออาชีพของรัฐในครั้งนี้ได้

วันนี้ประเทศไทยจึง “พร้อม” สู้กับภัยธรรมชาติในอนาคตได้อย่างมั่นใจ