posttoday

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมไทย

19 สิงหาคม 2561

เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดีมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะดีมากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนถึง 3 เท่า

เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดีมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะดีมากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนถึง 3 เท่า

******************************

โดย... ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไป ที่จะขอหยิบยืมคำพูดของศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล มาใช้เปรียบเปรยในสังคมไทยว่า

“การเลือกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่งคือ การเลือกเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะดี”

ทั้งนี้ เพราะจากการวิจัยล่าสุดของธนาคารโลกที่ได้วิเคราะห์ถึงการเลื่อนไหลของฐานะระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมไทย (หรือ Intergenerational Mobility) พบว่า

คนไทย (อายุ 28-38 ปี) ที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทย (ธนาคารโลกใช้คำว่า Bottom Half) มีโอกาสที่จะตกอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทยต่อไป (เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่) ถึง 64.15% หรือประมาณ 2 ใน 3 โดยในจำนวนนี้มีโอกาสถึง 35.28% ที่จะตกอยู่ในกลุ่มครัวเรือน 1 ใน 4 (หรือ 25%) ที่ยากจนที่สุดในสังคมไทย

นั่นแปลว่า คนไทยที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทย มีโอกาสจะรอดมาอยู่ในครึ่งบน ได้เพียงร้อยละ 35.85% (หรือประมาณ 1 ใน 3) เท่านั้น และมีโอกาสจะได้ไปอยู่ในกลุ่มครัวเรือน 1 ใน 4 (หรือ 25%) ที่มีรายได้มากที่สุดมีอยู่เพียงร้อยละ 15.5% เท่านั้น (เทียบโดยเฉลี่ยคือ 1 ใน 8 ของเด็กที่เกิดในครัวเรือน 1 ใน 4 ที่จนที่สุดเท่านั้น ที่จะได้ขึ้นไปอยู่ใน 1 ใน 4 ของครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุด เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่)

ในทางตรงกันข้าม เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ดีที่สุด 1 ใน 4 หรือ 25% แรก ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีรายได้มากที่สุด 25% แรกเหมือนเดิม ถึง 47.68% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง และมีโอกาสที่จะร่วงลงไปอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทยเพียงแค่ 19.95% (หรือ 1 ใน 5 เท่านั้น)

ธนาคารโลกเรียกตัวเลข 47.68% นี้ว่า Intergenerational Privilege หรือดัชนีความมีอภิสิทธิ์ที่ส่งผ่านข้ามรุ่น (จากคนรุ่นพ่อสู่คนรุ่นลูก)

ถ้าเราจะเทียบง่ายก็คือว่า เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดีมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะดี (เช่นเดิม) มากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนถึง 3 เท่า

นี่คืออภิสิทธิ์ที่ส่งผ่านข้ามรุ่นที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเราก็อาจเรียกปรากฏนี้ว่า การส่งผ่านความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น ก็ได้เช่นกัน

แน่นอนว่า การส่งผ่านอภิสิทธิ์หรือความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งก็คือ การศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องอาชีพ ผลตอบแทน โอกาสในการหารายได้ และอื่นๆ ตามมา

แม้ว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ตั้งแต่ปี 2540) ให้คนไทยมีสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี จะช่วยให้คนไทยโดยเฉลี่ยเข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนรุ่นพ่อ คือ 6.56 ปี แต่จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาของคนรุ่นลูกเพิ่มขึ้นมาเป็น 11.91 ปี

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (หรือ Net Enrollment Ratio) ในระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) ในภาพรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 55.38% ในปี 2551 มาเป็น 58.4% ในปี 2559 เช่นเดียวกับอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับปริญญาตรี ก็เพิ่มขึ้นจาก 23.9% ในปี 2552 มาเป็น 27.8% ในปี 2559

แต่ถ้าเราวิเคราะห์ย่อยลงไปถึงระดับทางฐานะเศรษฐกิจของครัวเรือนแล้วอาจต้องตกใจ

ทั้งนี้ เพราะข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า เด็กๆ ที่อยู่ในครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรกของไทย อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับปริญญาตรีสูงถึง 65.8% แต่เด็กๆ ที่อยู่ในครัวเรือนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายของประเทศจะมีอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมหาวิทยาลัยเพียง 4.2% เท่านั้น ส่วนเด็กๆ ที่อยู่ในครัวเรือนในระดับ 10% ที่จนรองลงมา ก็มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 11.1% เท่านั้น

กล่าวง่ายๆ ก็คือ เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่จนที่สุดของประเทศ 20% สุดท้ายจะมีโอกาสได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น หรือมีโอกาสที่น้อยกว่าเด็กที่อยู่ในครัวเรือน 20% ที่รวยที่สุดประมาณ 5-6 เท่า

ที่น่าคิดมากขึ้นก็คือ เมื่อย้อนกลับไปดูในปี 2551 อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมหาวิทยาลัยของกลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด 10% สุดท้าย มีประมาณ 4.1% และเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี อัตราดังกล่าวได้ขยับขึ้นมาเป็น 4.2% เท่านั้น หรือแทบไม่มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นเลย

ถ้าเราลองถอยไปนิดหนึ่ง เพื่อไปดูในระดับมัธยมศึกษาปลาย เราจะพบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) ของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่จนที่สุด 10% สุดท้าย ได้เพิ่มขึ้นจาก 33.0% ในปี 2551 มาเป็น 38.3% ในปี 2559

ตัวเลขดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นในระดับมัธยมปลาย อันเป็นผลมาจากสวัสดิการเรียนฟรี 12 ปี แม้อัตราการเข้าเรียนดังกล่าวจะยังต่ำกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุด 10% แรก ซึ่งมีอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมัธยมปลายถึง 78.9% ก็ตาม

แต่พอถึงมหาวิทยาลัย อัตราการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของเด็กในครัวเรือนที่จนที่สุด ก็ลดลงจาก 38.3% ในระดับมัธยมปลาย เหลือเพียง 4.2% ในระดับมหาวิทยาลัย หรือเหลือเพียง 1 ใน 9 ของผู้เข้าเรียนมัธยมปลาย จากครัวเรือนที่จนที่สุดนี้ที่สามารถผ่านเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับเด็กที่อยู่ในกลุ่มครัวเรือน 10% ที่จนรองลงมา อัตราการเข้าเรียนสุทธิก็ลดลงจาก 51.5% ในระดับมัธยมปลาย เหลือเพียง 11.1%ในมหาวิทยาลัย หรือเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เข้าเรียนมัธยมปลายที่มาจากครัวเรือนในกลุ่มที่จนรองมา ที่ได้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย

ดังนั้น การได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นกำแพงสำคัญที่กั้นขวางโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้าของเด็กที่เกิดมาในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในสังคมไทย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กๆ ที่เกิดมาในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า จึงมักจบลงที่อนาคตที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าตามไปด้วย เพราะโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมากนั่นเอง

น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กลับร่นถอยสิทธิในการเรียนฟรีลงมาเหลือเพียงการศึกษาภาคบังคับ (หรือระดับมัธยมต้น) แทนที่จะเพิ่มสิทธิให้กับเด็กไทยให้ได้เข้าเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แล้วหันมาใช้แนวทางการค้นหาและสงเคราะห์ทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแทน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาล คสช.และ สนช. ยังปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ที่เสนอให้รัฐบาลกำหนดสัดส่วนงบประมาณที่จะจัดสรรเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้ชัดเจนแน่นอน (เช่น 5% ของงบประมาณด้านศึกษา) นั่นแปลว่า งบประมาณที่จะเข้าสู่กองทุนดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภาจะจัดสรรเป็นรายปีแทน

ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาว (ถ้าคิดเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยอย่างน้อยก็ 4 ปี) แต่กองทุนฯ ดังกล่าวกลับต้องมาลุ้นงบประมาณ (ที่จะนำไปเป็นทุนการศึกษา) เป็นปีๆ ไป

เมื่อสิทธิในการเรียนฟรีถูกถอยร่น และคำมั่นสัญญาในการลงทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาถูกปฏิเสธ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงยังคงเป็นคำถามที่ดำมืดในสังคมไทยต่อไป

พร้อมๆ กันกับอภิสิทธิ์และความเหลื่อมล้ำที่จะส่งผ่านข้ามรุ่นต่อไป และต่อไปในสังคมไทย

ที่มาของข้อมูล :

GDIM. 2018. Global Database on Intergenerational Mobility. Development Research Group, World Bank. Washington, D.C.: World Bank Group.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2560. รายงานการิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559