posttoday

Mobocracy : กฎหมู่มาก ดาบสองคมสื่อโซเชียล

05 สิงหาคม 2561

การโพสต์รูปหรือพิมพ์ข้อความในสื่อโซเชียล ที่ไม่ระมัดระวังอาจสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นการสื่อสารที่ “บกพร่องและไม่ยุติธรรม”

การโพสต์รูปหรือพิมพ์ข้อความในสื่อโซเชียล ที่ไม่ระมัดระวังอาจสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นการสื่อสารที่ “บกพร่องและไม่ยุติธรรม”

*************************************

โดย...ณัฐภาณุ นพคุณ [email protected] ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนิติธรรมและการพัฒนา (ROLD) สำหรับผุ้บริหาร รุ่นที่ 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

คำว่า Ochlocracy หรือกฎของคนหมู่มาก มีรากศัพท์จากภาษาละติน เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ต่อมา คำว่า Mob เริ่มมีการใช้ในสหรัฐ และในปัจจุบันมีการใช้คำว่า Mobocracy ในสื่อมวลชน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียใต้และแอฟริกาที่มีปัญหาการรุมประชาทัณฑ์ (Lynching) บุคคลที่กระทำผิดหรือถูกเข้าใจว่ากระทำผิดอยู่เป็นระยะๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม

ในปัจจุบัน “Mobocracy” หรือ Mob Rule กลายเป็นเรื่องปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ในหลายแห่งทั่วโลก เพราะความขาดศรัทธาในระบบนิติรัฐของประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศที่ถูกมองว่าไม่เข้มแข็งพอ

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สื่อมวลชนอินเดียได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการรุมประชาทัณฑ์สองกรณี คือ 1) การที่ม็อบทำร้ายร่างกายชาวบ้านที่ฆ่าวัว ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนถึงขั้นมีกลุ่มจับตามองและคอยจับผิดคนที่ฆ่าวัว หรือกลุ่ม Cow Vigilantes และ 2) การฆาตกรรมชายสองคนที่ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าลักพาตัวเด็ก

ข่าวทั้งสองเรื่องได้รับความสนใจอย่างมากในอินเดีย เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จากข้อจำกัดด้านการบังคับใช้กฎหมาย ระดับการศึกษา และเทคโนโลยีสื่อโซเชียลที่เข้ามาอย่างรวดเร็วในชีวิตของชาวบ้านอินเดียที่อาจไม่มีความพร้อม ทั้งนี้ทั้งสองกรณี การกระจายข่าวปลอม (Fake News) ผ่าน Whatsapp ทำให้ข้อมูลได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็วดุจเปลวไฟ และกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดอารมณ์โกรธ และทำร้ายร่างกายผู้เคราะห์ร้ายจนเสียชีวิตในที่สุด

ต่อมา สื่อมวลชนชั้นนำอินเดียได้ลงข่าวศาลฎีกาของอินเดียออกแถลงการณ์สำคัญว่า พลเมืองไม่มีสิทธิจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ด้วยตนเอง รัฐควรตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง พร้อมชี้ตัวบุคคลที่กระทำผิด ปลุกปั่น และกระจายข่าวปลอม เพื่อป้องกันการประชาทัณฑ์

ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายในการสลายม็อบในพื้นที่ที่ตนดูแล และนาย Mukhtar Abbas Naqvi รัฐมนตรีกิจการชนกลุ่มน้อยแห่งสหภาพอินเดีย ได้ย้ำถึงความเข้มข้นที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการประชาทัณฑ์

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การใช้สื่อโซเชียลในสังคมที่มีความท้าทายด้านการปกป้อง Content ที่เป็นข้อเท็จจริง สามารถปลุกปั่นความเกลียดชังได้อย่างง่ายดาย หรือแม้กระทั่งกระตุ้นและส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีของอินเดียผู้กระทำการประชาทัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ใช้ Smart Phone เป็นครั้งแรก และเสพข่าวเท็จเรื่องการค้าเด็ก การฆ่าวัว หรือการแต่งงานข้ามศาสนา จนใช้หลักการ Criteria ของตนเองในการตัดสินใจและก่อความรุนแรง

หากตั้งคำถามว่า สื่อมวลชนในอินเดีย หรือสื่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถมีบทบาทช่วยป้องกันและระงับความเข้าใจผิด การแพร่ข่าวปลอม การห้ามไม่ให้มีการกระตุ้นให้ทำร้ายซึ่งกันและกันได้หรือไม่ คำตอบน่าจะเป็นว่า “ได้” แต่มีความท้าทายสูง เพราะสื่อปกติสายกลางมักจะได้ทราบข้อมูลหลังจากเกิดเหตุแล้ว

อินเดียมีประชากรนับพันล้าน ซึ่งประมาณ 35% ใช้อินเทอร์เน็ตและกว่า 240 ล้านคน เป็น Active Facebook Users โดยตัวเลขนี้น่าจะสูงขึ้นเป็นลำดับต่อไปในไม่กี่ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทยเองก็มีประชากร Online จำนวนสูงมาก มีการใช้ Facebook สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สื่อโซเชียลจึงมีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก

เคยมีนักวิเคราะห์กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ที่ใช้ Facebook เพื่อคุยเล่นกับเพื่อนฝูง ใช้ Twitter เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและทราบท่าที และใช้ Instagram เพื่อคลายเหงาชั่วคราว แต่ในบริบทของประเทศที่มีปัญหา Mobocracy การใช้สื่อโซเชียลเป็นดาบสองคม เพราะสามารถส่งแรงอิทธิพล (Influence) ให้ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ท้องถิ่นไม่เลือกที่จะเคารพหลักและการบังคับใช้กฎหมาย

หากจะเปรียบเทียบ ขณะที่คนไทยใช้สื่อโซเชียลเพื่อสร้างเครือข่ายและส่องดูว่าเพื่อนพ้องทำอะไร ไปเที่ยวไหน หรือลงภาพสวยๆ ตอนไปเที่ยวที่ชิคๆ เก๋ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อน โรงเรียน เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ หรือเปิดโอกาสให้คนที่น่าสนใจในวงการ
ได้รู้จักกันมากขึ้นเผื่อจะมานัดออกเดท แต่ในประเทศอื่นๆ ที่สื่อดังกล่าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่ประชากรยังไม่พร้อมจะรับข้อมูลที่ยังไม่กรอง จะมีการใช้สื่อโซเชียลไปทำลายภาพลักษณ์ของบุคคล หรือสร้างกระแสเกลียดชัง ควบคุมและชักใยประชากรได้อย่างรวดเร็ว

หากลองคิดดู คนไทยเสพข่าวเท็จวันละหลายข่าวจาก Line และก็คงอ่านผ่านๆ ไปบ้าง ขำๆ กันไปบ้าง แล้วก็ลบทิ้ง แต่หากข้อมูลที่อ่านดันระบุชื่อบุคคลที่รู้จักและกล่าวหาว่าบุคคลนั้นกระทำผิดร้ายแรง และมีการเรียกร้องให้ระดมกำลังไปช่วยจับกุมหรือลงโทษทันที ผู้ที่อ่านข้อความคงตกใจและรีบไปแก้ไขปัญหา

การใช้สื่อโซเชียลเป็น Disruptive Technology อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมกฎของคนหมู่มาก สื่อโซเชียลเรียกคนมา Flash Singing Mob คือ ร้องเพลงในที่สาธารณะได้ ดังที่มีในบางประเทศ แต่ก็เรียกคนมาบังคับใช้ Mobocracy ได้เช่นกัน

ผู้เขียนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะสร้างระบบที่จะสอดส่องดูแลกระแสที่บังคับแนวคิด หรือกระตุ้นให้กระทำความรุนแรงในสังคมที่มาจากการแพร่ข่าวอย่างรวดเร็วแบบ Real-Time และ Explosive ผ่านสื่อโซเชียล

สิ่งที่จะเป็นบ่อนทำลายความเข้มแข็งของหลักนิติรัฐได้ นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อน คือ การขาดการสร้างความพร้อมทางสังคมสำหรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่อาจทำให้เกิดการละเมิด ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ หรือแม้กระทั่งการนำไปสู่การก่ออาชญากรรม แทนที่จะเป็นนวัตกรรมเพื่อความสร้างสรรค์และสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชน

การโพสต์รูปหรือพิมพ์ข้อความในสื่อโซเชียลใน Platform หนึ่ง ในสังคมหนึ่ง อาจมองได้ว่าเป็น “เพียงแค่” การสื่อสาร (Just Communication) แต่ในอีกมุมโลกหนึ่ง การกระทำที่ไม่ระมัดระวังอาจสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นการสื่อสารที่ “บกพร่องและไม่ยุติธรรม” (Unjust Miscommunication) โดยเฉพาะในบริบทที่ไม่มีวัฒนธรรมที่เคารพกฎหมายในสังคมนั้น

ภาพ เอเอฟพี