posttoday

ควรให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษ หรือ Coding ก่อนดี?

30 กรกฎาคม 2561

"Coding" กำลังจะเป็นภาษาสากลใหม่ของโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้

"Coding" กำลังจะเป็นภาษาสากลใหม่ของโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้

****************************

โดย...ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา

หากย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนที่ต้องการให้บุตรหลานของตนประสบความสำเร็จในอนาคต ล้วนกวดขันให้ลูกๆได้เรียนภาษาอังกฤษทั้งในโรงเรียนและส่งเสียให้เรียนพิเศษเพิ่มเติม ด้วยความหวังว่าภาษาอังกฤษจะช่วยเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสทั้งในการพัฒนาทักษะทางวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพในโลกยุคไร้พรมแดนได้อย่างกว้างขวาง

จนเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาของชาติ มีการจัดสอนกันในทุกโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เด็กเยาวชนที่เติบโตขึ้นในยุคนี้จึงมีทักษะด้านภาษาอังกฤษกันแทบทุกคน จนสถานศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองที่หลายคนเริ่มที่จะกังวลว่าเมื่อทุกคนรู้ภาษาอังกฤษแล้วจะไปแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไรในอนาคต พ่อแม่ผู้ปกครองบางกลุ่มจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียน “ภาษาที่ 3” เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอาระบิก และกลุ่มภาษาหลัก 5 ภาษาของสหประชาชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ตั้งแต่การเริ่มต้นขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สำคัญๆ 6 ด้าน ได้แก่

1.ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) 2.การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning : ML) 3.การผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) 4.ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) 5.อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) 6.การประมวลผลเป็นกลุ่มเมฆ (Cloud Computing)

ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม จนเกิดความปั่นป่วนในตลาดแรงงานเป็นวงกว้าง เกิดปรากฏการณ์เลิกจ้าง ปัญหาการว่างงาน และปัญหาบัณฑิตไม่มีงานทำไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนทำให้เกิดการปฏิวัติระบบการศึกษาอย่างกว้างขวางในหลายประเทศเพื่อปรับปรุงแนวทางการผลิตพัฒนากำลังคนใหม่ให้สามารถรองรับความต้องการในตลาดแรงงานที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสำคัญทั้ง 6 ประการข้างต้น โดยมีทักษะสำคัญ 1 ด้านที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้คือ “ภาษาของคอมพิวเตอร์ (Coding)” ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นภาษาสากลในโลกยุคใหม่นี้

ทิม คุก ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ซีอีโอของแอปเปิ้ล ต่อจาก สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้นำองค์กรชั้นนำของโลกคนแรกๆ ที่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณให้แก่ผู้นำโลกและผู้นำในวงการศึกษาได้ทราบถึงอนาคตการจ้างงานของโลกที่จะต้องการ “คนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) มากกว่าคนรู้ภาษาอังกฤษ”

ทิม คุก กล่าวว่า โลกในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตอยู่ในทุกสิ่งแม้แต่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รถยนต์ และอุปกรณ์พื้นฐานในบ้านเรือนทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้ฉลาดขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปใส่ในผลิตภัณฑ์แทบทุกประเภท ดังนั้นนายจ้างแทบทุกบริษัทล้วนต้องการจ้างงานคนที่รู้ภาษาคอมพิวเตอร์มากขึ้น และยอมให้ค่าจ้างในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันอาชีพนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถเกี่ยวกับ AI หรือ ML ล้วนเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีรายได้สูงสุดของโลกอาชีพหนึ่งทั้งที่อาชีพเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ที่สำคัญ ทิม คุก อ้างผลการวิจัยที่พบว่าการพัฒนาทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองและการเรียนรู้จะเปิดกว้างที่สุดในการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเป็นนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ดีในอนาคต เช่นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงซ้อน และตรรกศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยง Coding กับการเรียนรู้วิชาพื้นฐานอื่นๆ อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างสูงสำหรับสถานศึกษาที่จำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและสมรรถนะของครูทุกคนในโรงเรียนให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ Coding

วันนี้ความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็น “ภาษาสากล”ที่มีประวัติมายาวนานกว่า 150 ปี ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม หรือตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกกำลังถูกท้าทายด้วยภาษายุคใหม่ที่มิใช่ภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันอย่าง Coding ที่กำลังจะเป็นภาษาสากลใหม่ของโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้

ผู้นำทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองได้เริ่มให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทักษะภาษาคอมพิวเตอร์นี้แล้วหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ได้บรรจุการเรียน Coding อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาแล้ว รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาปรับรูปแบบการผลิตกำลังคนอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับความต้องการทักษะเพื่อการทำงานร่วมกับ 6 เทคโนโลยีสำคัญข้างต้นที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทั้งในตลาดแรงงานในประเทศและในระดับนานาชาติ

การวางแผนการพัฒนากำลังคนของประเทศทุกระดับการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายทศวรรษนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อโอกาสแห่งความสำเร็จของแต่ละประเทศในการโต้คลื่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ใหม่นี้ครับ

ภาพ เอเอฟพี