posttoday

มข.จับมือ 5 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง"สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์"

10 พฤษภาคม 2565

ขอนแก่น-วิศวะ มข.พร้อมผลิตบัณฑิตด้านดิจิทัลรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผนึก 5 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” ชู 4 ด้าน การเกษตร การแพทย์ อุตสาหกรรม และสมาร์ทซิตี้ ขับเคลื่อนประเทศ

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงการลงนามความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยในการจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering)” ว่า มข.มีความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ ซึ่ง A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจได้มีการนำมาใช้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน บุคลากรด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์กลับขาดแคลนสวนทางกับความต้องการกำลังคน

“14 สาขาวิชาของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ล้วนมีการจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าถึงระบบ A.I. ได้ โดยมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีความเร็วสูง มีชุดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้  และมีคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพสูง รวมถึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร การแพทย์พยาบาล หลากหลายสาขาที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาได้” รศ.ดร.รัชพล กล่าว

มข.จับมือ 5 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง"สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์"

ทั้งนี้ ความร่วมมือในการจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างมข. กับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ถือเป็นการดำเนินการภายใต้หลักสูตร A.I. Sandbox การจัดการศึกษาที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ รวมถึงเป็นแกนกลางในการช่วยประสานงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษา แบ่งปันทรัพยากรและเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า มข.มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยี A.I. มาใช้ 4 ด้านหลักๆ  คือ 1.ด้านเกษตรกรรม  มข. ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีการทำเกษตรจำนวนมาก ได้มีการนำเรื่องของสมาร์ทฟาร์ม A.I. เข้ามาช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต  วิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรในการนำเทคโนโลยี A.I.มาใช้  

2. ด้านการแพทย์ มข.เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีนโยบายเปิดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้น เรื่องการนำ A.I.มาใช้ทางการแพทย์ ได้มีการดำเนินการมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มข. 3.ด้านภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ มข.ได้มีการทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการนำA.I. มาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่นโรงงานน้ำตาล โรงงานไฟฟ้า และ 4. ด้านสมาร์ทซิตี้ ขอนแก่นเป็น 1 ในไม่กี่จังหวัดที่มีการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ A.I. มาใช้ในการบริหารจัดการเมืองอยู่แล้ว เพื่อขับเคลื่อนทุกรูปแบบ และมข.มีโมเดลรถไฟฟ้ารางเบา ก็จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยนอกจากนั้น ขณะนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์กำลังหารือร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ ในการดำเนินการเรื่อง FinTech หรือการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มาใช้ในกลุ่มนักธุรกิจร่วมด้วย

สำหรับ ความร่วมมือในการจัดตั้ง A.I. Engineering เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเรียนข้ามมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง โดยขณะนี้ทั้ง 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรกลางขึ้นมา และจะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้ข้ามมหาวิทยาลัยได้  

“การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนี้ จะลงทะเบียนเป็นภาคเรียนเหมือนปัจจุบันแต่จะผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในรายวิชาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยอื่นได้ เช่น เด็กมข.อยากเรียนรายวิชาของม.เชียงใหม่ ก็สามารถเทียบโอนเรียนได้ และเมื่อเรียนจบในรายวิชาดังกล่าว จาก ม.เชียงใหม่ ทางม.เชียงใหม่ ก็จะส่งผลคะแนนกลับมายัง มข. ทาง มข.ก็จะเทียบกับหลักสูตรของมข.เพื่อให้เด็กจบการศึกษา เป็นต้น”คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนั้น  80% ของวิชาที่เรียนจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนสมัครเรียนตั้งแต่แรก และจะไปเรียนข้ามมหาวิทยาลัยในรายวิชาที่มหาวิทยาลัยเดิมอยู่ไม่ได้เปิดสอน โดยการเรียนในรูปแบบดังกล่าว จะเป็นการเรียนแบบโมดูล ที่ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนได้ และมหาวิทยาลัยก็สามารถร่วมมือในการจัดการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนบุคลากรได้ ช่วยให้สามารถผลิตบุคลากรได้เร็วขึ้น ลดการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล

“สถาบันฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ทุกมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลได้เท่าทันกับความต้องการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของคนในประเทศได้เร็วขึ้น เพราะหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่คนวัยทำงานที่ต้องการ Re-skill หรือ Up-skill สามารถมาเพิ่มเติมความรู้ และทักษะโดยจะได้รับใบประกาศนียบัตร  ขณะที่นักศึกษาก็ได้รับการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทักษะด้าน A.I. ได้ทันที เมื่อจบออกไปสามารถทำงาน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” รศ.ดร.รัชพล กล่าว

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กได้หลายปริญญาร่วมกันและเด็กสามารถเลือกเรียนได้ โดยหลักสูตรเบื้องต้นจะมีแบ่ง A.I.เป็นกลุ่มๆ เช่น A.I.ด้านการแพทย์ A.I. ด้านการเกษตร A.I.ภาคอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น แบ่งเป็นโมดูลให้เด็กได้เลือกเรียน โดยจะเริ่มในกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ขณะนี้สามารถเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ ส่วนนักศึกษาที่จะเปิดรับในหลักสูตรดังกล่าวโดยตรงคาดว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2566

อย่างไรก็ตาม นอกจากความร่วมมือ A.I. Engineering  แล้ว ทาง มข.ได้มีการนำเสนอหลักสูตรระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตร Sandbox  เพื่อที่จะได้ผลิตกำลังคนให้เท่าทันกับความต้องการโครงสร้างของประเทศ โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติในปี 2565 นี้