posttoday

สนามบินภูเก็ตเข้มคุมโควิดหนุน"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"ฟื้นท่องเที่ยว

27 สิงหาคม 2564

ภูเก็ต-ท่าอากาศยานภูเก็ตขานรับนโยบายรัฐบาลโครงการ"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"คงมาตรการตรวจเข้มโควิด-19สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวหวังฟื้นเศรษฐกิจไทย 

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นในความปลอดภัย โดยคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะต้องผ่านกระบวนการ 7 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก การตรวจวัดอุณหภูมิผ่าน Thermo Scan ต้องไม่เกิน 37.3 °C หากพบว่ามีอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กำหนดจะต้องพักคอยอยู่ในพื้นที่กำหนดเพื่อประเมินอาการ ขั้นตอนที่ 2 ผู้โดยสารติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เวอร์ชันภาษาอังกฤษ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานจะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร

ขั้นตอนที่ 3 เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบด้วย เอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส (Vaccine Passport), ประกันสุขภาพคุ้มครองการรักษาพยาบาลและกรณีติดเชื้อโควิด-19 วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย, ผลตรวจหาเชื้อ โควิด-19 (Lab Testing Result RT-PCR) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หากผู้โดยสารมีเอกสารไม่ถูกต้องจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศทุกกรณี และจะถูกผลักดันกลับทันที ขั้นตอนที่ 4 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เช่น เอกสารการเข้าประเทศ (Visa), เอกสารการจองที่พัก ขั้นตอนที่ 5 รับสัมภาระ ขั้นตอนที่ 6 พิธีการทางศุลกากร และขั้นตอนที่ 7 ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดลงทะเบียน SWAB เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วให้ไปยังจุดนัดรับ เพื่อเดินทางเข้าที่พัก รอรับผลตรวจ และในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จนถึงวันเดินทางกลับ

สนามบินภูเก็ตเข้มคุมโควิดหนุน"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"ฟื้นท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและเที่ยวบินในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กว่า 18,600 คน เป็นจำนวน 360 เที่ยวบิน ทำให้เกิดการจองโรงแรม ห้องพัก เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,925 ล้านบาท ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงและห่วงโซ่อุปทานที่สนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และพลังงาน ที่สำคัญ คือ ทำให้มีการจ้างงาน 2,719 คน เกิดผลตอบแทนการจ้างงาน 210 ล้านบาท ส่งผลให้ภาครัฐมีรายได้ทางภาษี 87 ล้านบาท นับเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จที่ AOT ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นต้นแบบเชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น โครงการ “สมุย พลัส โมเดล” และ “แผนเปิดโครงการเที่ยวข้ามเกาะ (Island Hopping)”

อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมเต็มที่ในการเปิดประตูต้อนรับผู้โดยสารที่จะบินตรงเข้าประเทศไทย ด้วยเป้าหมายขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์การเป็น “ประตูสู่อันดามัน” (Gateway to the Andaman) และร่วมพลิกฟื้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยทั้งประเทศ