posttoday

เตรียมผ่าซากวาฬบรูด้าหาสาเหตุการตายเกยหาดเชิงมนต์

11 มกราคม 2564

สุราษฎร์ธานี-สัตวแพทย์เตรียมผ่าพิสูจน์วาฬบูรด้าใหญ่ตายเกยหาดเชิงมนต์เกาะสมุย "ดร.ธรณ์"ชี้อ่าวไทยตอนบนพบ 53 ตัวย้อนหลัง 10 ปี เกิด 4 ตาย 3 สาเหตุป่วย แก่ พายุ เครื่องมือประมง 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่บริเวณชายหาดอ่าวเชิงมนต์ บ้านปลายแหลม หมู่ 5 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จุดบริเวณที่ซากวาฬบรูด้าตัวใหญ่ ถูกคลื่นทะเลซัดลอยมาเกยติดโขดหินห่างจากฝั่ง 20 เมตร ระหว่างหาดเชิงมนต์กับเกาะฟาน นายธีระพงศ์ ช่วยชู นายอำเภอเกาะสมุย พร้อม น.ส.พิมพ์ชนก ประจำค่าย นายสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร นายเชาวลิต เพชรน้อย ประมงอำเภอเกาะสมุย และนายวิทยา สุขสม ประธานศูนย์กู้ภัยวัดปลายแหลม เข้าสำรวจซากวาฬบรูด้าและใช้รถแบคโฮเคลื่อนย้ายซากขึ้นบริเวณหาดทราย เพื่อสะดวกต่อการผ่าชันสูตร โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดูเป็นจำนวนมากและบันทึกภาพไว้ เนื่องจากไม่เคยมีวาฬใหญ่เกยทะเลเสียชีวิตแบบนี้มาก่อน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยวัดปลายแหลม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเชือกมาผูกลำตัววาฬและใช้เจ็ตสกีลากออกไปไว้บริเวณชายหาดใกล้เคียง เนื่องจากสภาพซากวาฬเริ่มเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังหลุด กระดูกสันหลังและที่ปลายหางหลุดแล้ว 

เตรียมผ่าซากวาฬบรูด้าหาสาเหตุการตายเกยหาดเชิงมนต์

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ซากวาฬบรูด้าเป็นเพศเมีย สภาพโตเต็มวัย อายุกว่า 6 ปี วัดความยาวได้ 11.30 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 5 ตัน คาดเสียชีวิตมาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งจะดำเนินการผ่าชันสูตรการเสียชีวิตสาเหตุเกิดจากอะไร โดยส่วนสาเหตุที่พบเกิดจากการป่วย หรืออุบัติเหตุ แต่สภาพซากที่เน่าอาจทำให้ไม่สามารถหาสาเหตุได้ สำหรับ วาฬบรูด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยได้รับการประกาศคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ต่อเนื่องจากเหตุการณ์วาฬบรูด้าเกยตื้นเมื่อวานที่เกาะสมุย วันนี้จึงสรุปข้อมูลกรมทะเลฯมาเล่าเริ่มจากสัตว์ทะเลหายาก เมื่อเทียบปีต่อปี 62/63 ปีนี้เรามีสัตว์เกยตื้นน้อยกว่า ปี 62 เกยตื้น 984 ตัว ปี 63 เกยตื้น 801 ตัว คิดแล้วลดลงเกือบ 20% ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีมาก  

หากดูกราฟแท่ง จะเห็นว่าลดลงในทุกกลุ่มสัตว์ ในระดับใกล้เคียงกัน แสดงถึงสภาพทะเลโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น สาเหตุสำคัญอาจมาจากโควิด ทะเลสงบ และสาเหตุอื่นๆ สัดส่วนยังคล้ายเดิม เต่ามากสุด โลมา/วาฬ รองลงมา พะยูนน้อยสุด ซึ่งก็สัมพันธ์กับปริมาณสัตว์ที่มีในทะเล ลองมาดูเฉพาะโลมา/วาฬ ในเมืองไทยมีทั้งหมด 27 ชนิด ปี 63 เราสำรวจพบมากกว่า 3,000 ตัว  

เตรียมผ่าซากวาฬบรูด้าหาสาเหตุการตายเกยหาดเชิงมนต์

เจาะลงมาเฉพาะวาฬบรูด้า เน้นอ่าวไทยตอนบน เราพบ 53 ตัว ปีที่แล้วมีลูกวาฬเกิดใหม่ 4 ตัว - วันหยุด พรชัย ขวัญข้าว สีสัน เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี แต่ละปีวาฬเกิด 4 วาฬตาย 3 ยังถือเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ในแง่ประชากร สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกยตื้นในกลุ่มโลมา/วาฬ มีทั้งจากธรรมชาติ เช่น ป่วย/แก่ ภัยธรรมชาติ (พายุ) และจากมนุษย์มักเป็นเครื่องมือประมง การสัญจร ฯลฯ (รวมโลมาด้วยนะครับ) แต่มีหลายตัวที่เราพิสูจน์ได้ยาก เช่น ซากเน่ามาก  

การอนุรักษ์สัตว์กลุ่มโลมา/วาฬ ทำไม่ง่าย เราต้องเริ่มดูจากลำดับความสำคัญตามปัจจัยต่างๆ  

ด้านกฎหมาย - วาฬบรูด้า/โอมูระ เป็นสัตว์สงวน ชนิดอื่นๆ เป็นสัตว์คุ้มครอง ด้านพื้นที่ - ขอบเขตการหากิน ประจำถิ่น/กระจายเป็นช่วงฤดู ฯลฯ 

ด้านประชากร - ที่น่าห่วงสุดในกลุ่มนี้คือโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โลมาในน้ำจืดกลุ่มเดียวของไทย ประชากรนับจากปี 60 ไม่เพิ่มเลย ลดลงด้วยซ้ำ ในปี 63 เหลือไม่ถึง 20 ตัว เมื่อลองนำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ความเสี่ยง/ทางแก้ เราจะพบว่า อิรวดีในทะเลสาบสงขลาน่าห่วงสุด 

เจาะลึกสาเหตุ จะพบว่าการดูแลด้านการประมงดีขึ้น แต่ประชากรน้อยไป จนลูกหลานอ่อนแอเพราะผสมเลือดชิด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยากสุดในการแก้ปัญหา และวิธีเดิมๆ คงไม่ได้ผล นั่นเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก และทำให้เรื่องนี้มีความท้าทาย เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้/ประสบการณ์ในหลากหลายเรื่องมาประกอบกัน รวมทั้งความกล้าในการคิด /กระทำ 

เตรียมผ่าซากวาฬบรูด้าหาสาเหตุการตายเกยหาดเชิงมนต์