posttoday

สะพานข้ามแยกวังสารภี ใครได้ใครเสีย

26 สิงหาคม 2563

ทางหลวงกาญจน์ เปิดรับฟังความเห็นโครงการสะพานข้ามแยกวังสารภี ผลประชาคมยังไม่ได้ข้อยุติ ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้อุโมงค์ลอด

แขวงทางหลวงกาญจนบุรี ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน "โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก จุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 ตอนกาญจนบุรี-หนองขาว ที่ กม.2+586 กับทางหลวงหมายเลข 367 ตอน ทางเลี่ยงเมืองกาญจนบุรี ที่ กม.4+932 (สี่แยกวังสารภี) "ไปแล้ว2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 4 ก.พ.63 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ส.ค.63 ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองปากแพรก ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยมีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการเข้าร่วมจำนวนมาก

วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับ ทางหลวงหมายเลข 367 รองรับปริมาณจราจรบริเวณทางแยกที่มาจากทางหลวงพิเศษ (Motor Way) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และเพื่อนำผลจากการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนมาประกอบการพิจารณาและปรับปรุงโครงการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อีกทั้งเพื่อตอบสนองนโยบายของกรมทางหลวงในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในด้านการพัฒนาด้วนวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยคาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับทางหลวงหมายเลข 367 เพื่อให้การเดินทางและการขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว การบริการ การอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง

สะพานข้ามแยกวังสารภี ใครได้ใครเสีย

ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถาม พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะถึงปัญหาและอุปสรรค ในโครงการดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการ โดยได้มีการถกกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานข้ามแยก และเสนอแนะให้สร้างอุโมงค์ลอดทางแยกแทน ขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับโครงการฯ

นายแสงทอง พาแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาญจนบุรี ชี้แจงว่า กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับทางหลวงหมายเลข 367 (แยกวังสารภี) จำนวน 450 ล้านบาท

สะพานข้ามแยกวังสารภี ใครได้ใครเสีย

เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 เป็นทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับหลายจังหวัด เช่นสุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม และในอนาคตจะเป็นเส้นทางที่รองรับปริมาณจราจรจากทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นสี่แยก มีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งเป็นทางแยกที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นมาก ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงวันหยุดในเทศกาลต่างๆ กรมทางหลวงจึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจะดำเนินการโครงการดังกล่าวขึ้น

การประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับทางหลวงหมายเลข 367 (แยกวังสารภี) จัดขึ้นเพื่อชี้แจงให้ประชาชนผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณก่อสร้างและที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนผู้ที่สนใจ ให้ทราบถึงรายละเอียดของโครงการก่อสร้าง

ทางหลวงหมายเลข 324 ตอน กาญจนบุรี-หนองขาว มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ กม.2+000 บริเวณหน้าหมู่บ้านพฤกษากาญจน์ ไปจนถึงบ้านหนองขาว อ.ท่าม่วง ที่ กม.11+000 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 9 กิโลเมตร โดยจุดที่จะดำเนินการก่อสร้างคือบริเวณสี่แยกวังสารภี กม.2+586 ซึ่งตัดกับทางหลวงหมายเลข 367 ตอนทางเลี่ยงเมืองกาญจนบุรี

ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรสูงเฉลี่ย 23,883 คันต่อวัน จึงเห็นสมควรทำการแก้ไขปัญหาจุดตัดบริเวณทางแยกดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

นายแสงทอง พาแก้ว ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาญจนบุรี กล่าวอีกว่า การพัฒนาหรือการก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นของสำนักสะพาน กรมทางหลวง เราในฐานะเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กับสำนักสะพาน กรมทางหลวง ส่วนงบประมาณ และนำพื้นที่ไปพัฒนาในรูปแบบใดนั้น เป็นหน้าที่ของส่วนกลางที่จะนำไปพิจารณาและบริหารงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณ ขณะที่นี้ยังอยู่ที่สำนักสะพาน เพียงแต่วันนี้เรามาพิจารณารูปแบบการก่อสร้างที่อาจจะส่งผลกระทบหรือไม่ส่งผลกระทบในการพัฒนาในครั้งนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่เราร่วมกันพิจารณาในวันนี้จะนำไปพิจารณาในส่วนของสำนักสะพานจากส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการแสดงความคิดเห็น มีความเห็นออกมาทั้งสองฝ่าย คือทั้งต้องการให้สร้างสะพานข้ามแยกวังสารภี และต้องการให้สร้างเป็นอุโมงค์ลอดทางแยก แต่ทั้งนี้เรามีข้อมูลที่เป็นเอกสารคือข้อมูลแบบสอบถามจากประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ได้มาตรงนี้เราจะนำไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“เบื้องต้นยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การพัฒนาแยกวังสารภี จะเป็นการก่อสร้างในรูปแบบใด เพราะจะต้องมาพิจารณาถึงผลกระทบของคนในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าหากเลือกก่อสร้างในรูปแบบสะพานข้าม ก็สามารถประกาศหาบริษัทผู้รับจ้างตามระเบียบของส่วนราชการได้เลย แต่หากเปลี่ยนเป็นก่อสร้างในรูปแบบทางลอดที่เป็นอุโมงค์ ต้องมีการสำรวจออกแบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก และจะไปส่งผลกระทบต่อโรดแม็พที่เราจะพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับโครงการก่อสร้างเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี หรือเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่จะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีของเราเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เมื่อถึงวันหยุดยาว หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ยวดยานพาหนะจะติดมากพอสมควร” ผอ.แขวงทางหลวงกาญจนบุรี กล่าว

ซึ่งหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก นายจรันต์ ยิ่งภิญโญ สมาชิกสภา อบจ.กจ. เขต 3 อำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมผู้นำท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ นี้ ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแยกได้ออกแบบมาเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้งบประมาณปี 2563 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการเตรียมการดำเนินการก่อสร้างไม่เคยผ่านการประชาคม และไม่เคยให้ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งเทศบาลตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้รับรู้ถึงงบประมาณในการก่อสร้างในครั้งนี้ และที่สำคัญที่สุดประชาชนในท้องที่โดยรอบแยกวังสารภีไม่เคยรับรู้เลยว่าจะมีสะพานข้ามแยกเกิดขึ้นบริเวณแยกนี้

การที่จังหวัดกาญจนบุรีได้งบประมาณมา สำคัญที่สุดคือกาญจนบุรีนั้นเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันตก ซึ่งพวกเราเป็นผู้ช่วย พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ได้ทำแผนงบประมาณให้กับ ส.ส.เนื่องจากบริเวณสี่แยกวังสารภีเป็นจุดตัดที่สำคัญที่สุดที่จะมุ่งหน้าเข้าตัวเมือง รวมทั้งมุ่งหน้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางด้าน อ.ไทรโยค อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ และ อ.ศรีสวัสดิ์

สำหรับจุดตัดสี่แยกไฟแดงวังสารภีมีรถผ่านมากถึงวันละ 2 หมื่นกว่าคัน แต่กรมทางหลวงได้ออกแบบในการก่อสร้างสะพานข้ามแยกเป็นที่เรียบร้อย และกำลังจะก่อสร้างแล้ว แต่มีปัญหาขึ้นเนื่องจาก พล.อ.สมชาย ได้ไปพูดในสภาว่าการก่อสร้างไม่ผ่านการประชาคม เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้

ซึ่งการประชาคมครั้งแรก ประชาชนเดินทางมาไม่มากนักเพราะไม่ได้รับรู้ เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า แต่ตนพร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ในที่ประชุมเราได้ถกเถียงกันในเรื่องงบประมาณ เนื่องจากชาวบ้านเล็งเห็นว่า การสร้างสะพานข้ามแยกนั้นเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากเมืองกาญจน์เป็นเมืองการท่องเที่ยว จึงต้องการให้สร้างอุโมงค์ลอดทางแยกวังสารภี เพื่อให้ด้านบนของอุโมงค์มีทัศนียภาพที่ดี ส่วนชาวบ้านที่อยู่โดยรอบก็สามารถทำมาค้าขายได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบในอนาคตข้างหน้า แต่หากมีการสร้างสะพานข้ามแยก จะทำให้พื้นที่ด้านล่างนั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาร่วมประชาคมและทุกคนได้ลงความเห็นว่า ขอให้ยุติการสร้างสะพานลอย และเปลี่ยนเป็นการสร้างอุโมงค์ลอดแทน แต่ในวันดังกล่าวทางหลวงได้เอาวิศวกรมาชี้แจ้งว่าการสร้างอุโมงค์จะทำให้มีอุปสรรคมาก โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับระบบน้ำ รวมทั้งหากเจาะลงไปจะเป็นหินด่างหรือไม่ และหากก่อสร้างก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 250 ล้านบาท รวมทั้งต้องขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปเป็นปี แต่ พล.อ.สมชาย ได้บอกแล้วว่า เรื่องงบประมาณนั้นมีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการขยายเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นพวกเราก็ยอม จะขยายเวลาออกไปเป็น 4-5 ปี เราก็ยอม

สะพานข้ามแยกวังสารภี ใครได้ใครเสีย

แต่พวกเราก็ยังยืนยันในวัตถุประสงค์เดิมคือเราชาวบ้านตำบลปากแพรกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเชื่อว่าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 2-3 แห่งที่อยู่บริเวณนั้นก็คงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างสะพานข้ามแยก แต่ปัญหาที่สำคัญก็คืองบประมาณได้ตกลงมาแล้ว จำนวน 450 ล้านบาท และหากรัฐธรรมนูญ มีความเห็นลงมาว่าไม่ผิดหรือไม่ติดขัด กรมทางหลวงก็สามารถใช้งบประมาณ จำนวน 450 ล้านบาทสร้างสะพานข้ามแยกได้เลย อย่างไรก็ตามหากกรมทางหลวงเลือกสร้างสะพานข้ามแยก พวกเราก็จะคัดค้านให้ถึงที่สุด” นายจรันต์ กล่าว

ด้าน นายประสาน นิยมทรัพย์ สมาชิกสภา อบจ.กจ. เขต 1 อำเภอเมืองกาญจนบุรี กล่าวว่า อยากได้สิ่งดีๆ เข้ามาสู่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองเกษตรกรรม ปัจจุบันบริเวณสี่แยกวังสารภี มีประชากรที่ผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก รถที่วิ่งเข้าออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1 หมื่นคัน

ซึ่งสิ่งที่เราต้องการคือขอให้มีการสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอด เพราะอนาคตจะทำให้การขนส่งสินค้าด้านการเกษตรจะมีความสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนการออกแบบทางวิศวกรรมของกรมทางหลวง จะต้องออกแบบเรื่องของการระบายน้ำให้ดี

สำหรับงบประมาณปี 63 จำนวน 450 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแยกนั้น ถึงแม้จะตกไปแล้ว แต่ในส่วนงบประมาณปี 64 ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 5 ท่าน ได้มีการประชุมหารือกันแล้ว ซึ่ง ส.ส.ทุกท่าน จะได้ช่วยกันผลักดันให้มีการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ลอดทางแยกวังสารภี ถึงแม้งบประมาณการก่อสร้างจะเพิ่มมากขึ้น แต่ในระยะยาวจะทำให้ชาวจังหวัดกาญจนบุรีมีความสะดวกและจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาวกาญจนบุรีต่อไป

ด้านนายปราโมทย์ อุ่นจิตสกุล อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากแพรก กล่าวว่า การสร้างสะพานข้ามแยกวังสารภี เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเป็นการแก้ไข่ปัญหายวดยานการจราจรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นการช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ตำบลปากแพรกและเขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรีได้ด้วย ซึ่งการก่อสร้างสะพานดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์

แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงก็คือ การก่อสร้างก่อนที่จะมีการสำรวจออกแบบ กรมทางหลวงน่าจะให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นก่อน ก่อนที่จะมีการออกแบบ แต่เป็นในลักษณะของการออกแบบเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะก่อสร้างแล้ว จากนั้นจึงนำมาให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ซึ่งขั้นตอนนั้นอาจจะรวบรัดไป แต่การก่อสร้างถ้าได้มีการดำเนินการสร้างแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหากับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และความเจริญของเมือง แต่ส่วนหนึ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ก็เป็นเหมือนโครงการก่อสร้างทั่วไปที่เป็นเรื่องธรรมดา ว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมองถึงทัศนียภาพของเมืองในอนาคตข้างหน้า ว่าการก่อสร้างในรูปแบบสะพานและการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยก แบบไหนประชาชนจะได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบน้อยกว่ากัน และหากสร้างอะไรแล้วจะต้องให้เกิดประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์ของท้องถิ่น อีกทั้งสร้างแบบไหนจึงจะทำให้ทัศนียภาพด้านสิ่งแวดล้อมเมือง ซึ่งตำบลปากแพรกเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงจำเป็นจะต้องรักษาสภาพแวดล้อมเอาไว้เพื่ออนาคตข้างหน้า” นายปราโมทย์ กล่าว

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ นายสัณฑพงค์ เทพวงค์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ได้มีโอกาสไปร่วมรับฟังการแสดงความคิดเห็นหรือที่เรียกว่า Public Hearing เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองปากแพรก ในโครงการมีการนำเสนอแนวทางมา 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 สะพานข้ามทางแยกตามแนวทางหลวงหมายเลข 367 รูปแบบที่ 2 ทางลอดทางแยกแนวเส้นทางหลวงหมายเลข 367 โดยมีวงเวียนกลางสี่แยกเพื่อให้พาหนะสัญจรในเส้นทาง Local Road

ซึ่งถ้ามองแบบชาวบ้านร้านถิ่นมอง คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันถนนขาเข้าออกแทบทุกแยกหลัก คับคั่งไปด้วยรถราที่ผู้คนใช้สัญจรไปมา ไม่ว่าจะเป็นคนในจังหวัด และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในวันหยุดต่างๆ มองในมุมการขนเงินของเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวเข้ามาในกาญจนบุรี น่าจะมีตัวเลขที่สามารถยืนยันได้จากหน่วยงานการท่องเที่ยว ซึ่งจะได้มั่นใจว่า ไม่มั่วได้ นั่นเป็นประเด็นสำคัญ

ทราบว่ามูลค่าก่อสร้างของโครงการนี้ ราว 450 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และแน่นอนงบประมาณเหล่านี้ ส่วนหนึ่งแทบจะแยกไม่ออกว่าไม่ได้มาจากภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ การจัดสรรเงินของโครงการนี้ เพื่อใช้ในงบประมาณปี 2563 ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าโครงการนี้ไม่เกิด กระบวนวิธีต้องส่งงบประมาณคืน ซึ่งในเรื่องอนาคตจะมีใครการันตีว่าจะมีงบประมาณเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจำนวนนี้คืนกลับมาอีกครั้ง เรายังไม่อาจมั่นใจด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการคงอยู่ของรัฐบาล การเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ จากการรับฟังทราบว่า ตัวเลขงบประมาณในการจัดทำทางลอดทางแยก อยู่ราว 700 ล้านบาท ประเด็นที่ต้องคิดคือ 700 ล้านบาทนี้ คือการคำนวณ ณ ปี 2563 ใช่หรือไม่ และหากงบประมาณที่ได้ ได้ในปี 2564 หรือ 2565 หรือ 2566 ตัวเลขการก่อสร้างยังคงที่จะใช้ตัวเลขนี้ได้อยู่หรือไม่ และที่สำคัญเมื่อถึงเวลานั้น จังหวัดกาญจนบุรียังมีโอกาสจะได้รับงบประมาณนี้อีกหรือไม่

ในโครงการนี้ เข้าใจได้ว่า ผู้นำเสนอโครงการน่าจะมีการสำรวจปัญหาและอ้างอิงข้อมูลดีมากพอเพื่อนำเสนอในการของบประมาณในการก่อสร้างโครงการ แต่กระบวนวิธีปฏิบัติในเรื่องการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งจังหวัด ไม่เฉพาะแค่ในเขตพื้นที่ที่จะก่อสร้าง เพราะเวลาเขียนโครงการ มั่นใจได้ว่าคงไม่ได้ชี้ไปในเชิงบวกหรือลบของพื้นที่บริเวณก่อสร้างแห่งเดียว ซึ่งนั่นย่อมหมายถึง ผลกระทบทางกรมทางหลวงหรือเจ้าของโครงการต้องกระจายข่าวการแสดงความคิดเห็นนี้ออกไปยังสาธารณะอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่วิธีการ สุกเอาเผากิน และแน่นอนว่า เมื่อมีคนเห็นด้วยย่อมมีคนเห็นต่าง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาญจนบุรี ได้ขึ้นกล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะรับฟังทุกความคิดเห็น ซึ่งนั่นย่อมหมายความได้ว่า ต้องรับฟังทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการ และรับฟังผู้ที่เห็นต่างกับโครงการ ซึ่งท่านได้ย้ำอยู่หลายครั้ง ดังนั้นหากกรมทางหลวงจะต้องคืนงบประมาณไปด้วยเหตุรับฟังว่ามีผู้เห็นแย้ง ย่อมไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ เหตุเพราะมั่นใจว่า ประชาชนที่มาในวันประชุมดังกล่าว ไม่ใช่ทั้งหมดของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

สะพานข้ามแยกวังสารภี ใครได้ใครเสีย

ทั้งนี้มีตัวแทนบางคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ลุกขึ้นอภิปรายกล่าวถึง เมืองกาญจน์มีสะพานแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานมอญ ทางแยกวังสารภี จึงควรเป็น ทางลอดทางแยก ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของกาญจนบุรี ซึ่งฟังเหตุผลแล้วก็น่าจะวิเคราะห์กันได้ว่า ถูกตามที่นำเสนอหรือไม่ ตัวแทนชาวบ้านบางคนได้อภิปรายถึงผลกระทบของการสร้างสะพานต่อธุรกิจของตน นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า หากการก่อสร้างมีมุมในการเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือใครคนใดคนหนึ่งก็ย่อมที่จะรับฟังได้เช่นกัน ตัวแทนผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่งได้อภิปรายว่า ได้ไปสอบถามชาวบ้านซึ่งเป็นลูกบ้านแล้วไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานข้ามทางแยก อยากจะถามว่า ชาวบ้านได้ทราบข้อเท็จจริงของโครงการตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเองหรือไม่ หรือเพียงแค่ผู้นำท้องถิ่นไปบอกว่าให้เอาแบบนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการชี้นำมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบจริงหรือเท็จก็ได้ สำหรับผู้นำท้องถิ่นบางคนที่เป็นผู้ช่วยนักการเมือง อ้างถึงการที่จะผลักดันงบประมาณคืนกลับมาเพื่อสร้างทางลอดทางแยกได้ ก็ไม่มีเอกสารใดที่สามารถยืนยันได้ว่า เมื่อถึงเวลาจังหวัดกาญจนบุรีจะได้งบประมาณในส่วนนี้ ในขณะที่เราเองในฐานะคนกาญจนบุรี และยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยว แขกผู้มาเยือนที่จะต้องทนต่อสภาพรถติดทางแยกกันอีกต่อไป

ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าการพัฒนาใด ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบเชิงบวกและลบ มากน้อย แต่ที่สุดต้องมองร่วมกันถึงประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่และท้องถิ่นบ้านเมือง โครงการนี้คงไม่เป็นสะพานข้ามแยกร้างไม่มีรถสัญจร เหมือนถนนบางสายบางแห่งในประเทศที่สร้างไว้ให้วัวให้ควายเดิน สร้างไว้เพื่อใช้ตากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์รอง วันนี้จังหวัดกาญจนบุรีจะต้องเดินไปข้างหน้า เราเองต้องยอมรับว่า เม็ดเงินที่เข้ามาจังหวัดไม่น้อยกว่าหมื่นล้าน ที่เราได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะไม่เห็นว่าใครได้บ้างแต่ก็เป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่หมุนเวียนในจังหวัด ให้วิถีชีวิตได้ขับเคลื่อนได้ การส่งคืนงบประมาณคือการสูญเสียโอกาส ดังนั้นจึงมั่นใจว่า หากได้รับฟังจริงๆ จากคนกาญจนบุรี ผู้มีส่วนได้เสีย จะมีอีกไม่น้อยที่สนับสนุนการสร้างสะพานข้ามทางแยกฯ

จากการที่ตัวแทนกรมทางหลวงได้ขึ้นมาชี้แจงถึงการเปรียบเทียบระหว่างการสร้างทางข้ามทางแยก และ ทางลอดทางแยก เมื่อพิจารณาตามตัวหนังสือและคำอธิบาย ทำให้เชื่อได้ว่าการสร้างสะพานข้ามทางแยกมีความเหมาะสมกว่า และขณะเดียวกันการตอบคำถามเรื่องความปลอดภัยของทางลอดทางแยกของเส้นทางหลวง 367 มีความปลอดภัยมากแค่ไหน ทางตัวแทนกรมทางหลวงก็ได้เพียงแต่อธิบายถึงว่าโดยระบบได้มีการวางแนวป้องกันไว้แล้ว ครั้งหนึ่งในประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมขังในทางลอดทางแยกมาแล้ว การเสียชีวิตของคนจะ 1 คนหรือมากกว่า ย่อมไม่ส่งผลดีใดๆ เพราะไม่สามารถประเมินค่าได้ และในเรื่องนี้กรมทางหลวงต้องตอบให้ชัดได้ว่า ทางลอดทางแยกของเส้นทางหลวง 327 นี้ซึ่งมีทางลาดจากเขาลงมาจะรับรองได้มากเพียงใดเมื่อเทียบจากทางลอดทางแยกในเส้นทางระนาบปกติ

“โดยสรุป 1.ขอเสนอให้ทบทวนเรื่องการใช้งบประมาณว่าเมื่ออนุมัติโครงการแล้วควรจะได้ทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 2.หากจะต้องยกเลิกด้วยเหตุผลใดๆ ต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมมากเพียงพอและที่สำคัญ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงต้องพิจารณาคำพูดและรับผิดชอบในเสียงอื่นๆ ที่สนับสนุนการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ด้วยเช่นกัน 3.กรมทางหลวงจำเป็นที่จะต้องทำประชาคมและจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของชาวจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ใช่เฉพาะแค่ในพื้นที่ เพราะจะได้รับข้อมูลไปเพียงส่วนเดียวไม่ครอบคลุม” นายสัณฑพงค์ กล่าว

สุดท้ายแล้วจะเลือกแนวทางไหน สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ ประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ให้ครบถ้วนในทุกมิติ