posttoday

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ

14 มิถุนายน 2560

หาคำตอบ! ทำไมหลายครั้งที่มีฝนตก ชาวเมืองกรุงต้องเผชิญกับความยากลำบากจากน้ำรอระบาย

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

ฝนตกน้ำท่วม เป็นปัญหาคู่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ช่วงฤดูฝนซึ่งคนกรุงต้องเผชิญกับความเฉอะแฉะระหว่างการเดินทาง จนเป็นเรื่องเคยชินโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น ขณะที่แนวทางการแก้ไขน้ำรอระบายแม้เปลี่ยนผู้ว่าราชการ กทม. มากี่สมัยปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่

คำถามคาใจหลายคนคือ การแก้ปัญหาของ กทม. ตั้งแต่การสูบน้ำ ขุดลอกท่อ-คูคลองเพื่อเร่งระบายน้ำ รวมถึงโครงการความหวังของคนกรุงอย่างอุโมงษ์ยักษ์ ช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

เจ้าหน้าที่น้อย-งบจำกัด กทม. ทำดีสุดแค่ระบายน้ำให้เร็ว

บุญยืน คุณเจริญ นายช่างอาวุโสหัวหน้ากลุ่มงานบำรุงรักษาท่อระบาบน้ำ 1 กองระบบท่อระบายน้ำ สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บอกว่า สาเหตุหลักของน้ำท่วมหลายพื้นที่เกิดจากฝนตกลงมามาก ประกอบกับพื้นที่เมืองไม่มีพื้นที่รับน้ำเหมือนในอดีตที่ใช้ทุ่งนา ป่ากก ร่องสวน  ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงเป็นอาคารบ้านพัก ซึ่งตั้งอยู่ในระดับสูงกว่าพื้นถนน เมื่อฝนตกลงมา น้ำทั้งหมดจึงไหลไปรวมที่ถนน

ขณะที่ระบบท่อระบายน้ำ ยอมรับว่าไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะขนาดท่อระบายน้ำในกรุงเทพมีตั้งแต่ขนาด 30 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร โดยย่านเมืองเก่าจะใช้ขนาดท่อจะเล็กกว่าพื้นที่เมืองใหม่รอบนอก หากมีเศษใบไม้หรือขยะสะสมติดค้างขวางท่อ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลงมาก แต่ กทม.จะมีเจ้าหน้าคอยสำรวจเก็บสิ่งที่ขวางทางน้ำออกอยู่ตลอด

การแก้ไขปรับปรุงท่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นยอมรับว่า ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและเป็นเรื่องยากเพราะพื้นที่ใต้ดินส่วนใหญ่มีระบบท่อและสายระบบสาธารณูปโภคเดิมอยู่แล้วจำนวนมาก วิธีแก้ไขเร็วที่สุดขณะนี้ ต้องเร่งสูบน้ำที่รอระบายให้ไหลลงคลองเพื่อไปออกแม่น้ำเร็วที่สุด 

นายช่างอาวุโสสำนักระบายน้ำ กทม. ฉายภาพว่า สาเหตุทำให้ท่ออุดตันมีหลายอย่าง อาทิ การสะสมของดินโคลน เศษวัสดุ ที่ชะล้างไหลมาจากถนนหรือตามโครงการก่อสร้าง รวมถึงจากร้านขายอาหารตลาดนัด ร้านค้าใกล้บริเวณทางเท้าที่ปล่อยขยะ ทิ้งเศษอาหาร ไขมัน ลงมาตามท่อ ส่วนใหญ่จะไม่ผ่านระบบกรอง เว้นแต่บางร้านมีระบบกรองหรือระบบดักไขมัน แต่ความเป็นจริงแม้บางร้านมีแต่อาจขาดการดูแลบำรุงรักษาต่อเนื่อง ทำให้คราบเศษอาหาร ไขมัน ไหลหลุดรอดลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้เช่นกัน

สำหรับจุดที่มักพบเศษอาหารจำพวกขยะ-ไขมันบ่อย อยู่ย่านการค้า เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เยาวราช และบริเวณถนนตะนาว (จุดที่มีการเผยแพร่ภาพไขมันอุดตันล้นท่อในสังคมออนไลน์) โดยของเสียประเภทไขมัน หากปล่อยทิ้งสะสมประมาณ 1 เดือนจะจับตัวเป็นก้อนชั้นหนา หากเกิน 10 เซนติเมตรจะมีผลทำให้น้ำไหลผ่านยากมาก และหากคล้ายกรณีที่พบบริเวณถนนตะนาวจะทำให้ท่อตัน น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้

นายช่างอาวุโสสำนักระบายน้ำ กทม. ยอมรับว่าที่ผ่านมา กทม. มีการติดตามดูแลแก้ปัญหาเหล่าเป็นระยะ โดยมีการลอกท่อปีละครั้ง ถ้าพื้นที่ใดเป็นจุดอ่อนจะดำเนินการปีละ 2 ครั้ง สาเหตุที่ดำเนินการได้เท่านี้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่  นโยบายการเพิ่มบุคลากรตอนนี้ กทม. ยังไม่มี ต้องใช้วิธีว่าจ้างเอกชนหรือประสานนำผู้ต้องขังมาทำงานนี้ 

ส่วนการปรับปรุงท่อระบายน้ำจุดที่มีขนาดเล็กเกิดน้ำท่วมประจำ ขณะนี้รัฐบาลเพิ่งอนุมัติจัดทำโครงการแก้ไขท่อจุดอ่อนน้ำท่วมบางพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยการวางท่อใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและฝังไว้ระดับต่ำกว่าแนวท่อเดิม ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสรรหาผู้รับจ้าง

"การลอกท่อปีละครั้ง ยอมรับว่าไม่พอกับระยะเวลาการเกิดคราบไขมัน เพราะเจ้าหน้าที่ของสำนักระบายน้ำมีเพียง 100 กว่าคน แต่ละเขตมีประมาณ 50 คน และด้วยงบประมาณที่จำกัด เมื่อเทียบกับระยะแนวท่อตามถนนที่ยาวกว่า 6,400 กิโลเมตร ของพื้นที่กรุงเทพ ทำให้บางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อการดูแล จึงจำเป็นต้องว่าจ้างเอกชนหรือผู้ต้องขังมาช่วย และใช้วิธีล้างถนนหมุนเวียนกันไป ยอมรับว่าคราบความสกปรกมีสะสมทุกวัน ไม่มีกำลังจัดการเพียงพอ"

บุญยืน อธิบายว่า ทุกวันเจ้าหน้าที่พยายามแก้ไขหากพบเจอสิ่งกีดขวางทางน้ำจะตักออก บางเขตมีรถดูดไขมันคอยบริการตามร้านซึ่งอาจมีค่าใช้จ่าย ส่วนร้านค้าใกล้ทางเท้าทางเขตจะเข้าไปตรวจสอบดูแล ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการแก้ต้นเหตุ ส่วนแนวทางแก้ระยะยาวต้องขอความร่วมมือประชาชน

ผู้ประกอบการต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดต้นเหตุปัญหา โดยตามร้านขายอาหารควรดูแลบำรุงรักษาระบบดักเศษอาหารไขมันอย่างต่อเนื่อง แม่ค้าที่ขายอาหารบนทางเท้าควรเก็บใส่ถุงไปทิ้ง ไม่ใช่เททิ้งลงท่อ ส่วน กทม. จะพยายามเร่งก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มเพื่อเป็นส่วนช่วยระบายน้ำให้ลงสู่คลองหรือออกแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด

“การแก้ปัญหาน้ำรอระบายภาพรวม กทม. พยายามแก้จุดอ่อน แต่ด้วยพื้นที่กว้าง จะไม่ให้ท่วมเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริง ฝนตกลงมาเกินประสิทธิภาพของระบบท่อ อยากให้มองว่าจะทำอย่างไรให้น้ำระบายลงเร็ว ลดระยะเวลาการท่วม ขณะนี้ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน ตอนนี้พื้นที่กรุงเทพฯ เต็มเกือบหมดแล้ว ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำเหมือนเมื่อก่อน ฝนทุกหยดที่ตกลงมาไม่สามารถไหลซึมลงสู่ดินได้ดี”

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ บุญยืน คุณเจริญ นายช่างอาวุโสสำนักระบายน้ำ กทม.

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ แผนที่ทุกเขตในกรุงเทพฯ

ลอกท่อทั่วกรุง ทางออกเดียว แก้น้ำรอระบาย

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำระบายไม่ทันเพราะ กทม. ใช้ระบบท่อรวม คือ ในท่อเดียวจะมีน้ำเสียกับน้ำฝนรวมกัน ซึ่งเป็นรูปแบบระบบท่อระบายน้ำย่านเมืองเก่าของหลายประเทศ ช่วงหน้าแล้งประชาชนจะไม่รู้สึกได้รับกระทบ อาจมีเพียงส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น แต่หากฝนตกก็จะทำให้น้ำท่วมขังทันที เพราะท่อระบายน้ำรองรับน้ำฝนได้น้อยมาก ไม่ถึงครึ่งของประสิทธิภาพ เนื่องจากในท่อมีน้ำเสียค้างอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ฝนตกลงมาน้ำจะเอ่อล้น

“ยังไงก็ท่วม เพราะระบบท่อระบายน้ำ แทบใช้การไม่ได้เลย แม้ว่า กทม. จะบอกว่ามีการขุดลอกไปบ้างแล้ว แต่คำว่าขุดลอกไปบ้าง ไม่ใช่หมายถึง ใช้ได้ทั้งหมด”

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ผศ.ดร.สิตางศุ์  บอกว่า ปัญหาคือหากต้องการก่อสร้างแนวท่อใหม่เพิ่ม ต้องสร้างแบบหลบหลีกท่อเดิม ทำให้การไหลของน้ำตามแนวโน้มถ่วงโลกไม่เต็มประสิทธิภาพ และบางจุดเกิดการทรุดตัวของดินทำให้ท่อตกท้องช้าง แต่ที่เป็นปัญหาหนักสุดคือมีสิ่งอุดตัน อาทิ เศษหิน ดิน ทรายตามโครงการก่อสร้าง ขยะ คราบไขมันจากร้านอาหารและอู่ซ่อมรถ สิ่งเหล่านี้สร้างปัญหาหนักกว่าน้ำเสีย เพราะเมื่อคราบไขมันลงไปสะสมในท่อและอยู่ในสภาวะเหมาะสมจะจับตัวเป็นขั้นหนาคล้ายสบู่ แต่อาจไม่แข็งตัวเท่าสบู่ แต่ก็ทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก เกิดการอุดตันและส่งกลิ่นเหม็น

นักวิชาการด้านน้ำ สะท้อนว่า การแก้ไขปัญหาของ กทม. ที่ผ่านมาใช้ผู้ต้องขังลงไปขุดลอกท่อ แต่ช่วงนี้แทบไม่เห็น และการทำงานที่ผ่านมามักขุดขยะขึ้นมาและนำวางโชว์ถ่ายภาพว่าทำงาน แต่ในแง่ปฎิบัติจริงๆ จำเป็นต้องขุดทะลวงตั้งแต่ต้นถึงปลายท่อให้หมด

“ขอสังเกตว่าที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณเพื่อจ้างเอกชนดำเนินการขุดลอกไปเท่าไหร่ การดำเนินงานทำถึงไหนก็ไม่มีใครรู้ เพราะการตรวจสอบวัดผลประสิทธิภาพการทำงานประเภทนี้ทำยาก ไม่สามารถวัดปริมาณได้ชัดเจน ไม่รู้ว่าที่ขุดลอกระยะทางเท่าไหร่ ทำให้ท่อสะอาดหมดจริงหรือไม่”

ผศ.ดร.สิตางศุ์  เสนอว่า ทางแก้ปัญหาระบบท่อ กทม. ตลอดระยะทาง 6,400 กิโลเมตร อาจทำยากแต่ต้องทำปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดการสะสมปัญหามากขึ้นไปอีก การแก้ไขควรให้แต่ละเขตเจ้าของพื้นที่ซึ่งทราบรายละเอียดปัญหาเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างผู้ต้องโทษ เจ้าหน้าที่ หรือใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการขุดลอกท่อ โดยเปิดหน้าดินเป็นช่วงๆ อาจจะมีผลกระทบกับการจราจรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ แต่หัวใจการดำเนินการต้องให้แต่ละเขตประสานทำงานเชื่อมกัน 

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ระบุว่า การขุดหรือทะลวงท่อจะช่วยได้มาก ทำให้น้ำไหลจากต้นถึงปลายทางสะดวก ทุกวันนี้ทางเขตและผู้ว่าฯ ให้ความสนใจแต่เรื่องเพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำ ซึ่งยอมรับว่าช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขได้หมด เพราะ กทม. เป็นพื้นที่ต่ำ ปัญหาขณะนี้เกิดจากขยะ เศษอาหาร คราบไขมันอุดตันท่อ เมื่อเกิดฝนตกแม้สูบน้ำจากถนนลงคลอง น้ำก็ไหลกลับลงมาที่ถนนอีกครั้งอยู่ดี เพราะระดับน้ำในคลองสูงทำให้นำไหลไปไหนไม่ได้ ดังนั้นเครื่องสูบน้ำอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ที่ถูกต้องและไม่ตอบโจทย์ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดีไปพร้อมกัน

“การใช้เครื่องสูบน้ำอาจมีผลทันใจ แต่บางพื้นที่น้ำไม่ลด เหมือนปี 2554 สูบทั้งวันแต่น้ำไม่ลด เพราะน้ำไม่มีที่ระบายออก สุดท้ายวนกลับมาที่เดิม แต่เป็นผลทางใจที่หน่วยราชการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าทำงาน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ประชาชนก็อยู่ด้วยความหวังว่า สูบแล้วเดี๋ยวน้ำคงลด แต่ความจริงคือ น้ำไม่ลด เพราะน้ำไปไหนไม่ได้”

ผศ.ดร.สิตางศุ์ เสนอว่าทางแก้ระยะสั้น กทม. ควรให้แต่เขตเจ้าของพื้นที่ลอกท่อทั้งหมด ซึ่งมั่นใจว่ามีงบประมาณพร้อมดำเนินการ เพราะที่ผ่านมายังสามารถนำเงินไปใช้ในโครงการกำจัดผักตบชวาได้ตั้งหลายร้อยล้าน แต่ยังคงเห็นว่าผักตบชวามีอยู่เต็ม ดังนั้นแทนที่จะนำงบประมาณไปทำอุโมงค์ซึ่งเป็นปลายเหตุ เช่น อุโมงค์บางซื่องบประมาณ 2 พันกว่าล้าน นำมาขุดลอกท่อเสียดีกว่า ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า นอกจากนั้นควรตรวจสอบว่าพื้นที่ไหนมีโครงการก่อสร้าง ทางเขตต้องเข้าไปบังคับใช้มาตรการปฏิบัติจริงจังตามระเบียบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ

“กทม. มีเงินแต่เอาไปทำอุโมงค์อยู่ ถามว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้าหากยังเป็นอย่างนี้ต่อให้มีอีก 7 อุโมงค์ ก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ มัวแต่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ท่อคุณยังตันอยู่อย่างนี้ น้ำก็ยังคงท่วมอยู่ดี”

ส่วนสตรีทฟู้ด กทม. ต้องมีแผนเชิงรุกเข้าไปดูแลร้านอาหารให้สร้างบ่อดักไขมันและต้องมีการติดตามดูแลบำรุงรักษาสม่ำเสมอ ขณะที่แผนระยะยาวต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายการใช้ที่ดิน เพราะทุกวันนี้หลายพื้นที่ถมดินขวางทางน้ำ

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ เศษขยะ-คราบไขมัน สาเหตุน้ำระบายไม่สะดวกและทำให้ท่ออุดตัน

 

แหล่งสตรีทฟู้ดศูนย์รวมขยะ-ไขมัน

ชัชวาลย์ เสียงสุทธิวงศ์ อายุ 34 ปี ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณย่านเสาเสาชิงช้า เขตพระนคร เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นร้านขายอาหาร เป็นที่รู้กันว่าเป็นย่านที่มีร้านขายอาหารชื่อดังมาก เช่น ร้านผัดไทย เย็นตาโฟ ราดหน้า ร้านนม โดยเปิดบริการตั้งแต่เช้าถึงเวลาประมาณ 02.00 น.

สำหรับสาเหตุน้ำท่วมบริเวณถนนโดยรอบเสาชิงช้า ส่วนตัวคิดว่า สาเหตุหลักมาจากท่อระบายมีขนาดเล็กเกินไป ส่วนปัญหาเรื่องการอุดตันของเศษอาหารและไขมันเป็นสาเหตุรองลงมา

“เคยเห็นตอนเดินเข้าบ้านตอนฝนตก พนักงานร้านขายอาหารชื่อดังกำลังนั่งตักไขมันกุ้ง มันหมู บางครั้งเป็นเส้นก๊วยเตี๋ยวที่แห้ง จนอุดตันบริเวณปากท่อ ใส่จนเต็มถุงขยะสีดำ เพราะทำให้น้ำไหลลงท่อไม่ได้”

ชัชวาลย์ บอกว่า กทม. จะมาลอกท่อปีละ 2 ครั้ง นอกนั้นไม่ค่อยเห็น ซึ่งขยะจากท่อที่พบส่วนใหญ่เป็นดินโคลน ก้นบุหรี่ ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง เศษอาหาร ส่วนคราบไขมันจะเห็นชัดตอนอุดตันตามหน้าร้านขายอาหารมากกว่า

เจ๊อ๋อย เจ้าของร้านบัวลอย อายุ 53 ปี บริเวณถนนตะนาว เล่าว่า อยู่มาตั้งแต่เกิดซึ่งย่านนี้มีร้านขายอาหารตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืนโดยเฉพาะช่วงเย็น การดูแลกำจัดคราบเศษอาหารตามร้านขายอาหาร ปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อน บางร้านจะติดตั้งท่อดักไขมัน แต่หากเป็นผู้ค้าลักษณะรถเข็นขายอาหาร จะล้างทำความสะอาดอุปกรณ์บริเวณที่ตั้งเลย ทำให้ภาพขยะลอยคลองนั้นเป็นเรื่องชินตา

“ฝนตกน้ำท่วมเพราะระบายไม่ทัน เป็นเรื่องปกติ ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เดือดร้อนอะไรมาก”

 

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ พฤติกรรมผู้ค้าย่านถนนตะนาว ในการกำจัดขยะและน้ำมันหลังการขาย

 

 

ผศ.ดร.สิตางศุ์ ทิ้งท้ายว่า สตรีทฟู้ดเป็นเสน่ห์ แต่ กทม. ต้องมีแผนเชิงรุกเข้าไปดูแลร้านอาหารให้สร้างบ่อดักไขมันและต้องมีการติดตามดูแลบำรุงรักษาสม่ำเสมอ ทุกคนต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เมื่อมีปัญหาต้องช่วยกันดูแลแก้ไข เพราะหากน้ำท่วมผู้ค้าก็ขายของไม่ได้ กระทบกับภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ 

“แก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ หากข้าราชการแต่ละเขตเสนอปัญหาจริงให้ผู้ว่าฯ ทราบ ส่วนผู้ว่าฯ ไม่ได้มุ่งมั่นแต่ผันงบเพื่อไปทำโครงการขนาดใหญ่ โครงการใหม่ๆ ก็จะแก้ปัญหาได้”

ทั้งนี้ผศ.ดร.สิตางศุ์เสนอด้วยว่า แผนระยะยาวของกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายการใช้ที่ดิน เนื่องจากปัจจุบันมีหลายพื้นที่ถมดินขวางทางน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลและระบาย

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ สภาพคลองหลอดวัดเทพธิดาราม

"ขยะ-ไขมันล้น ท่อระบายน้ำแทบใช้การไม่ได้" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมกรุงเทพฯ