posttoday

สธ.เตรียมเสนอศบค.ยกเลิกเข้าประเทศแบบ "Test&Go" หลังพบโอไมครอนเพิ่ม

20 ธันวาคม 2564

รมว.สาธารณสุขเผยเตรียมเสนอศบค.ชุดใหญ่ให้ยกเลิกการเข้าประเทศแบบ Test&Go ไปก่อน หลังพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มต่อเนื่อง โดยให้คงเหลือเฉพาะรูปแบบ Sandbox และมาตรการการกักตัว

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมให้เสนอศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test&Go ไปก่อน คงเหลือเฉพาะรูปแบบ Sandbox และมาตรการการกักตัว

เนื่องจากขณะนี้พบการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่ม โดยขณะนี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดแล้ว 63 ราย และรอการยืนยันอีกกว่า 20 ราย

นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย เกือบทั้ง 63 ราย เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ มีเพียง 1 รายเป็นการติดเชื้อในประเทศ จากเคสที่สามีเป็นนักบิน และนำเชื้อมาติดภรรยา ซึ่งจากเคสนี้คาดว่า เชื้อยังไม่แพร่กระจายไปมากกว่านี้ แต่หากปล่อยให้เกิดกรณีแบบนี้ไปเรื่อยๆ เชื้อจะต้องแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางแน่นอน จึงต้องกลับไปใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง

"ขนาดเราให้ทำ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ และทำ RT-PCR อีกครั้งหลังเข้าประเทศยังตรวจเจอโอไมครอน นับประสาอะไรกับการตรวจแค่ ATK เมื่อถามแพทย์ว่าทำไมต้นทางตรวจไม่พบเชื้อ แพทย์ระบุว่าอาจเพิ่งรับเชื้อมา และเชื้อเพิ่งมาปะทุระหว่างเดินทาง เมื่อมาถึงไทยถึงตรวจเจอ หรือ 1-2 วันถึงจะตรวจเจอ ทั้งนี้ ยังโชคดีที่ขณะนี้กว่า 60 รายที่พบโอไมครอน ยังอยู่ภายใต้ระบบเฝ้าระวังที่สามารถคัดกรองได้อยู่" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากเชื้อโอไมครอนมาจากคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ

"ขอโทษพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงปีใหม่จึงอาจมีมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งทำให้อาจไม่ได้รับความบันเทิงเท่าที่ควร ขอความร่วมมือในการหา option ใหม่ในการเฉลิมฉลองกับครอบครัว"นายอนุทิน กล่าว

ทั่วโลกเจอโอไมครอนระบาดแล้ว 89 ประเทศ

ด้าน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า ปัจจุบันมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ โอไมครอนแล้วใน 89 ประเทศ โดยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 1 วันครึ่งถึง 3 วันหากมีการแพร่ระบาดในชุมชน

WHO ระบุว่า อัตราการแพร่เชื้อของโอไมครอนนั้นรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีแนวโน้มที่โอไมครอนจะครองการระบาดสูงสุดในประเทศที่เกิดการติดเชื้อภายในชุมชน

นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกด้วยว่า แม้ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงก็ยังพบการแพร่ระบาดของโอไมครอนในอัตราที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สาเหตุที่โอไมครอนแพร่เชื้อได้เร็วนั้นเป็นเพราะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้หรือไม่