posttoday

ลูกจ้างร้องให้การลาป่วยรักษาโควิดเป็นวันลากรณีพิเศษ

10 ตุลาคม 2564

ลูกจ้างเรียกร้องให้ลาป่วย กรณีโควิด เป็นวันลากรณีพิเศษ ไม่นับวันลาป่วยทั่วไป ที่กฏหมายคุ้มครองให้ลาป่วยได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายสิทธิเพื่อแรงานข้ามชาติ แถลงการณ์ข้อเรียกร้องเนื่องใน Decent Work Day ต่อรัฐบาลว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดผลกระทบต่อคนงานอย่างกว้างขวาง ซึ่งแรงงานข้ามชาติยิ่งมีความยากลำบาก ที่งานและรายได้ลดลงอย่างมาก ไม่ต่างจากแรงงานไทยและดูเหมือนจะยากลำบากยิ่งกว่า ด้วยอุปสรรคด้านภาษาจึงเข้าไม่ถึงข้อมูลความช่วยเหลือด้านต่างๆโดยเฉพาะการรับตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีน ที่นายจ้างใช้เป็นเงื่อนไขกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ให้หยุดทำงานชั่วคราว โดยให้ไปรับวัคซีนและมีหนังสือรับรองจึงจะรับให้ทำงาน

นางสาวสุธาสินี กล่าวอีกว่าเราได้รับการร้องเรียนจากแรงงาน หลายโรงงาน หลายอุตสาหกรรมเช่นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า นายจ้างให้ลูกจ้างที่หยุดงานเนื่องจากติดเชื้อโควิด ให้ใช้วันลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 30 วันตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน ที่การกักตัวรักษาก็แทบจะใช้หมด หากเจ็บป่วยเนื่องจากสาเหตุอื่นก็จะไม่เหลือวันลาป่วย อีกทั้งนายจ้างบางรายจ่ายเงินเพียง 50% ด้วย

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจและบังคับให้อย่างจริงจัง เพื่อให้ลูกจ้างที่ติดเชื้อโควิด ที่เข้ารับการรักษาหรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่เข้ารับการกักตัวที่ต้องหยุดงาน ให้เป็นการลาป่วยกรณีพิเศษ โดยได้รับค่าจ้างเต็ม 100% โดยไม่นับรวมกับสิทธิวันลาป่วย ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานที่ให้สิทธิลา 30 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้าง

นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลมีมาตรการชัดเจนให้แรงงานข้ามชาติทุกคนทั้งที่เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังและนอกระบบประกันสังคม ได้รับวัคซีนโควิดทุกคน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิเยียวยาต่างๆในโครงการของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือกับแรงงานไทยไม่ว่าจะเป็นโครงการ มาตรา33 เรารักกัน โครงการคนละครึ่ง ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติมีส่วนในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจไทยและมีส่วนในการเสียภาษี จึงควรได้รับสิทธิ

อีกทั้งให้มีการเผยแพร่ข้อมูล ที่เป็นภาษาถิ่นให้แรงงานข้ามชาติ กลุ่มต่างๆได้รับรู้ เข้าใจถึงมาตรการต่างๆ เท่าเทียมกับคนทั่วไป เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดและไม่ทำให้แรงงานข้ามชาติตื่นกล้ว

นางธนวรรณ ลูกจ้างโรงงานแห่งหนึ่งในย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เปิดเผยว่าตนติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องรักษาตัวเป็นระยะเวลา 16 วัน และกลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 4 วัน เป็นระยะเวลา20 วัน จึงขอสนับสนุนแนวทางให้การหยุดเพื่อกักตัว รักษาตัวเนื่องจากโควิด ต้องเป็นการหยุดเป็นกรณีพิเศษ ไม่นับรวมกับวันลาป่วย ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด ไม่รู้จะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด

ทั้งนี้หากโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานก็จะไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างให้ปฎิบัติตามคำสั่งของกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดให้การลาป่วย กรณีโควิด ไม่ให้นับรวมกับวันลาป่วย ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน