posttoday

เตือนไข้เลือดออกเริ่มระบาดหนักในหน้าฝนแทรกโควิด

01 กรกฎาคม 2564

แพทย์ชี้ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังมีโรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดหนักในหน้าฝน เตือนประชาชนร่วมมือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีสาเหตุของโรคไข้เลือดออกของคนทุกวัย

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กุมารแพทย์และผู้อำนวยการระดับสูง คลัสเตอร์วิจัยอายุรศาสตร์เขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมานานกว่า 50 ปี เปิดเผยว่า เวลานี้ประชาชนมุ่งความสนใจไปที่โรคโควิด-19 มากกว่าโรคระบาดอื่น ๆ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงอาจลืมไปว่ายังมีโรคไข้เลือดออกกำลังระบาดอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงระบาดหนักที่สุด เพราะมีฝนชุกทำให้เกิดแหล่งน้ำขังเพิ่มขึ้นรอบบ้านและในชุมชน ลูกน้ำยุงลายเป็นพาหะนำโรคก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น สถิติค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเกือบ 100,000 รายต่อปีเป็นจำนวนผู้ป่วยในระดับที่ยังน่าเป็นกังวล

ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออก ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ อาการของโรคมีตั้งแต่ระดับน้อย ๆ ไปจนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย ประชาชนจึงต้องมีความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการสังเกตตัวเองเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสในหน้าฝน อาการเริ่มต้นของโรคจะคล้ายกันคือ เริ่มด้วยการมีไข้  จึงต้องสังเกตอาการต่อไปอีกในระยะ 3-4 วันแรก เช่น โควิด -19 เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ นอกจากจะมีไข้อ่อน ๆ ไปจนถึงไข้สูงแล้ว ยังมีอาการไอ เจ็บคอ และเมื่อเชื้อลงปอดก็ทำให้มีอาการของโรครุนแรง แต่โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยแทบจะไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ แต่จะมีไข้สูงลอย 2-3 วัน ปวดหัว ปวดตัว  หน้าแดง  อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

เตือนไข้เลือดออกเริ่มระบาดหนักในหน้าฝนแทรกโควิด

ศ.พญ.อุษา กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวิจัยความเหมือนและต่างของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  กับไวรัสเดงกีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและใช้เป็นข้อมูลสำหรับช่วยพิจารณาการตรวจวินิจฉัยและยืนยันโรคได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดไหน ความต่างอย่างชัดเจนของทั้งสองโรคมีเพียงข้อเดียว คือ โควิด-19 แพร่จากคนสู่คนได้ แต่ไข้เลือดออกจะแพร่เชื้อจากพาหะยุงลายไปสู่คน ดังนั้น การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีคือ ไม่ให้ยุงกัด ประชาชนต้องร่วมมือกำจัดแหล่งแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้าน ที่พักอาศัยและในแหล่งชุมชน ทุก ๆ ปี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับ “โรคไข้เลือดออก” และจัดให้วันไข้เลือดออกอาเซียน (15 มิถุนายน) เป็นวาระสำคัญต่อการเน้นย้ำให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่ยังคงเผชิญภัยร้ายจากโรคไข้เลือดออกได้มีความตระหนักในการร่วมมือป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค   

ศ.พญ.อุษา กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชากรโลก แม้การแพร่ระบาดมีความชุกมากในประเทศเขตร้อนชื้น แต่ก็พบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะในภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุเพราะมีการขยายตัวของชุมชนและประชากร วันไข้เลือดออกอาเซียนปี 2564 (ASEAN Dengue Day) จึงถูกผลักดันให้เป็นวันไข้เลือดออกโลก (World Dengue Day) ครั้งแรกในปีนี้ด้วยเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในระดับโลกสำหรับการรับมือโรคไข้เลือดออก

นอกจากการป้องกันตนเองโดยวิธีข้างต้นแล้ววัคซีนเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันโรคที่เป็นความหวังของแพทย์ผู้ป่วย ปัจจุบันการพัฒนาศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมีความก้าวหน้าไปมาก โดยนพ.พิชัย คณิตจรัสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทชั้นนำด้านชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่า วันไข้เลือดออกอาเซียนในปีนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ทางทาเคดา ประเทศญี่ปุ่นดำเนินงานมาครบ 240 ปี สำหรับในเมืองไทย ทาเคดาดำเนินงานมาแล้ว 52 ปีด้วยความตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพคนไทยโดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในด้านการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การดำเนินงานของทาเคดาอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยผลจากการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้ผ่านเกณฑ์วัดหลักและรองเรียบร้อยแล้ว การทดสอบในเฟสนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ผลทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเป็นที่น่าพอใจ และยังไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ทั้งนี้ ทาเคดาจะนำเสนอและเผยแพร่รายละเอียดของข้อมูลการศึกษาทดลองระยะเวลา36 เดือนในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และในวารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบในปีนี้และเตรียมขอขึ้นทะเบียนยากับหน่วยงานควบคุมยาแห่งสหภาพยุโรป  ละตินอเมริกา  เอเชีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยด้วย