posttoday

มาตรการเข้มแต่กราฟยังพุ่ง! ศบค.ขอทุกฝ่ายร่วมมือลดยอดผู้ติดเชื้อใหม่

11 มกราคม 2564

โฆษกศบค.ขอทุกฝ่ายร่วมมือให้ยอดการติดเชื้อรายใหม่ลดลง ชี้หลังปีใหม่แม้จะมีมาตรการเข้มข้นแต่กราฟผู้ป่วยใหม่ยังเพิ่มขึ้น หนุนเอกชนตรวจโควิดให้พนักงาน

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ประจำวัน ว่า จากข้อมูลผู้ป่วยยืนยันสะสม เฉพาะในช่วงการระบาดรอบใหม่ (18 ธ.ค.63 - 11 ม.ค.64) มีจำนวนทั้งสิ้น 6,090 รายนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หลังปีใหม่จะยังเห็นเส้นกราฟจำนวนผู้ป่วยใหม่แต่ละวันที่ยังทแยงขึ้น แม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อทำให้ยอดการติดเชื้อรายใหม่ลดลง

"หลังปีใหม่ แม้เราได้มีการออกมาตรการเพิ่มขึ้น แต่ยังกดเส้นกราฟไว้ได้แค่นี้เองเพราะฉะนั้นจะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อกดกราฟให้ลงไปให้มากที่สุด เป็นความร่วมมือที่เราจะต้องร่วมกันในระยะเวลาอันสั้นนี้" โฆษก ศบค.ระบุ

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมรอบใหม่ 6,090 รายนี้ กระจายอยู่ใน 58 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอยู่ใน จ.สมุทรสาคร มากสุดถึง 3,341 คน และในจำนวน 58 จังหวัดนี้ มี 9 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 50 คน ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, จันทบุรี, นนทบุรี, นครปฐม และอ่างทอง

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยอยู่ในระดับ 11-50 คน มี 13 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ป่วย 1-10 คน มี 36 จังหวัด และจังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเลยมี 19 จังหวัด

ส่วนกรณีผู้ป่วย 14 รายที่เดินทางจากเมียนมาผ่านเข้ามาทาง อ.แม่สอด จ.ตากนั้น เป็นผู้ติดเชื้อเป็นคนไทย 13 ราย และเมียนมา 1 ราย ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.แม่สอด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนแสดงความสนใจที่จะจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิดให้แก่แรงงานของตัวเองทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เจ้าของสถานประกอบการจะมีการดำเนินการดังกล่าว แต่ทั้งนี้ขอให้ปรึกษากับทางสาธารณสุขจังหวัดด้วย เพื่อให้มีการวางแผนการตรวจคัดกรองได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ

"ถ้าจะต้องทำอย่างนี้ ขอให้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์ สสจ.เพื่อวางแผนอย่างเป็นระบบ ถ้ามีพนักงานมากถึง 4 พันคน ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้ง 4 พันคน แต่เราจะมีระบบสุ่มตรวจ สามารถประหยัดได้ และมีเทคนิควิธีการช่วยประหยัดน้ำยา ซึ่งกำลังคิดว่าจะใช้วิธีการตรวจหาเชื้อจากน้ำลาย"นพ.ทวีศิลป์กล่าว

โฆษกศบค.กล่าวว่า เชื่อว่าความรับผิดชอบร่วมกันจากภาคเอกชนจะทำได้เร็วกว่าการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของการติดเชื้อสามารถลดลงได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งการออกมาดูแลป้องกันพนักงานของสถานประกอบการของตัวเอง จะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการไปเสียค่าใช้จ่ายสูงๆ ในการรักษา