posttoday

คณบดีศิริราชยก4ข้อดี "รพ.สนาม" ย้ำต้องเร่งตั้งแยกคนติดเชื้อจากคนปกติ

07 มกราคม 2564

“หมอประสิทธิ์” เตือนต้องเร่งตั้ง รพ.สนาม แยกคนติดเชื้อ-คนป่วย จากคนปกติ หากไม่รีบจะทำการระบาดในชุมนุมหนักกว่าเดิม เสี่ยงทำเตียงรักษาไม่พอ ย้ำ"อะไรที่ผิดไปแล้ว อย่าให้เกิดอีก"บ่อน –ลักลอบเข้าเมือง ต้องหมดไป

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีความจำเป็นยิ่ง ที่ไทยต้องเตรียมตั้ง โรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหลายๆพื้นที่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

"พื้นที่ต้องเร่งจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ นำมาพัฒนาเป็น โรงพยาบาลสนาม ที่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ และรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้สัมผัสกับคนปกติ" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดในไทยรุนแรงเพิ่มขึ้น ขอให้คนไทยทุกคนรับรู้ว่า โรงพยาบาลสนาม คือเครื่องมือควบคุมการระบาด และช่วยจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลสนาม มีความจำเป็น 4 ข้อ คือ

1.ผู้ป่วยทั่วไปใน โรงพยาบาลจะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไป ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้ปะปนกัน

2.บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

3. โรงพยาบาลในระบบปกติ จะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไป เหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 63

4.ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะ โรงพยาบาลสนามจะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่เชื้อได้อย่างดี

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว กล่าวว่า ตอนนี้ โรงพยาบาลต่างๆ เริ่มพบคนไข้โควิด-19 อาการหนักมากขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากยุทธศาสตร์ต้นน้ำไม่สามารถคุมการระบาดได้ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำจะเอาไม่อยู่ และขอให้มั่นใจว่าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็จะถูกส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลปกติ แน่นอน

รอบนี้การติดเชื้อมาจากเรื่องที่ผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข การลับลอบเข้าเมือง การสอบสวนโรคจึงทำได้จำกัด ดังนั้นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ยังปิดบังไทม์ไลน์และไม่กักตัว ยังใช้ชีวิตตามปกติ ยังมีอีกมาก ในที่สุดไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่พอ เหมือนหลายๆ พื้นที่เสี่ยงที่ โรงพยาบาลในพื้นที่เริ่มส่งสัญญาณแล้ว

"ผมขอร้องคนไทยทุกคนให้มองตามความจริง ว่า โรงพยาบาลสนามคือตัวช่วย ให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น เราต้องเร่งตั้ง โรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่วันนี้ เพราะการตั้ง โรงพยาบาลสนามต้องใช้เวลา ทั้งเตรียมพื้นที่ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ บุคลากร เพื่อปฏิบัติตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด ดังนั้นขอให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย ว่าเชื้อจะไม่หลุดรอดออกไป"

"ผมขอฝากอีกเรื่องว่าสิ่งใดที่เป็นความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าให้เกิดขึ้นอีกเจ้าหน้าที่รัฐต้องช่วยกันอย่าให้มีอีก คนไทยต้องร่วมใจกัน"ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

“หมอประสิทธิ์” เตือนต้องเร่งตั้ง รพ.สนาม แยกคนติดเชื้อ-คนป่วย จากคนปกติ ไม่รีบทำระบาดพุ่ง-แพร่ในชุมนุมหนักกว่าเดิม-ทำระบบแพทย์ล่มสลาย ย้ำ “อะไรที่ผิดไปแล้ว อย่าให้เกิดอีก” บ่อน –ลักลอบเข้าเมือง ต้องหมดไป สสส. วอนไม่เลือกปฏิบัติแรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ติดโควิด-19 ในระลอกนี้มีทั้งคนไทย และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย การควบคุมโรคที่จะได้ผลดี ควรจะดำเนินการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติในทุกมิติ ทั้งระหว่างคนต่างสัญชาติ หรือการตั้งข้อรังเกียจกับผู้ติดเชื้อ คนข้างเคียงและคนที่รักษาหายแล้ว ซึ่งถ้าเกิดความกลัวที่จะถูกรังเกียจ ถูกต่อต้าน จะยิ่งทำให้เกิดการปกปิดข้อมูล ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แม้ว่าเราต้องดูแลการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องดูแลไม่ให้ถึงขั้นไปด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของคนด้วยกันและขาดความเห็นอกเห็นใจผู้ติดเชื้อที่ได้รับทุกข์อยู่แล้ว ท่าทีนี้จะทำให้เกิดความสะดวกใจ ยอมเปิดเผยข้อมูล ยอมรับการรักษา เกิดความร่วมมือในการช่วยดูแลลดการกระจายเชื้อในชุมชนได้ผลดียิ่งกว่าสังคมที่ต่างคนต่างห่วงแต่ตัวเอง

ทั้งนี้ สสส. จึงขอชวนให้ทุกคนทำความเข้าใจและปรับวิธีคิดว่า การควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดและการเห็นอกเห็นใจไม่ตีตราผู้เสี่ยงผู้ติดเชื้อ เป็นเรื่องที่ทำควบคู่กันได้อย่างเกื้อกูล โดยรู้จักวิธีป้องกันตัวเองและผู้อื่นเสมือนเรามีเชื้อ ขณะเดียวกันก็ระวังคำพูด สายตา ท่าทางที่บั่นทอนคนอื่น ให้กำลังใจผู้ที่อาจติดเชื้อ ต้อนรับผู้ที่รักษาหายแล้ว และให้ความร่วมมือกับกระบวนการควบคุมโรคในชุมชนของเรา เช่น การให้ความร่วมมือกับกติกาต่างๆ ที่กำหนด การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น