posttoday

ศาลตัดสินคุกไต้หวัน-ไทยหัวโจกอีเกิ้ลเกตส์ฯ 20-50 ปี

04 พฤศจิกายน 2563

ศาลสั่งจำคุก 6 ตัวการใหญ่ชาวไต้หวัน-ไทยแก๊งฉ้อโกง"อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป" โทษหนัก 50 ปีและ20 ปีตามลำดับ ชี้เข้าข่ายองค์กรฟอกเงินข้ามชาติ-ฉ้อโกงประชาชน ดีเอสไอขยายผลเอาผิดผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม หลังพบโอนทรัพย์ออกไปกว่า 200 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 พ.ต.ท.อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เปิดเผยความคืบหน้าคดี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสีย หายในไทย250 คนให้ร่วมลงทุนและมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์มูลค่าเสียหายประมาณ 235 ล้านบาท และหลังจากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษได้จับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี 21 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ต้องหาชาวไทย 19 ราย และชาวต่างชาติ 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล ส่วนผู้ต้องหาชาวต่างชาติรายอื่น อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างชาติเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 - 6 มีความผิดตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญา กรรมข้ามชาติฯ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 50 ปี ส่วน จำเลยที่ 2 ,3,4,5. 6 ศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย 12 ราย ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละรายนำมาร่วมลงทุน และยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ได้กู้ยืมไป

พ.ต.ท.อัครพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัท อีเกิ้ลเกตส์ ฯอ้างว่าเป็นบริษัทซื้อขายดัชนีหุ้นมาจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 10 ปี จากการสอบสวนพบว่า มีการกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ มีบุคคลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่บรรยายชักชวนผู้เสียหายในไทยให้หลงเชื่อร่วมลงทุนกับบริษัท จากนั้นจะมีอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากผู้เสียหายออกไป สำหรับคดีดังกล่าวก่อนหน้านี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหากลุ่มแรกรวม 13 ราย ต่อมาเมื่อวันที่18 มี.ค.ที่ผ่านมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1,3,4,5,6,7,8,9,10 ,12 และ13 มีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ และพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นรายกระทง รวมโทษจำคุกคนละ 10 ปี

“ในทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 คนละ 1,000,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยร่วมกันคืนต้นเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยที่ 2, 11 ให้ยกฟ้อง ต่อมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่ง รวม 6 ราย เป็นจำเลยที่ 1 - 6 ซึ่งรวมถึงตัวการใหญ่ชาวไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและแชร์ลูกโซ่หลายกลุ่ม นอกจากนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆในความผิดฐานฟอกเงินอีกด้วย”รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว