posttoday

"วิชา"รับเสนอนายกฯอายัดศพ"จารุชาติ"ไขปริศนาตายผิดธรรมชาติ

02 สิงหาคม 2563

"วิชา มหาคุณ"ระบุกระบวนการยุติธรรมมีความเสื่อมทรุดไปกว่าเดิม อาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เงินและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ชี้ถึงจุดเวลาที่จะต้องยกเครื่องใหม่

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส เปิดเผยว่า ตนได้เสนอกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สั่งอายัดศพนายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานปากสำคัญในคดีของนายวรยุทธ เพื่อนำกลับมาชันสูตรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ซึ่งตามกำหนดการญาติจะมีการฌาปนกิจศพในวันที่ 2 สิงหาคม  แต่การเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตจากประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายว่าอาจเป็นการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ และสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องดูให้รอบคอบ และลึกลงไปในรายละเอียด โดยเฉพาะจะต้องตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียดด้วย สรุปเบื้องต้นจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ หากเสียชีวิตโดยผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ แต่ขอตั้งข้อสังเกตผู้เสียชีวิตมีการตายแบบผิดธรรมชาติ จึงต้องมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เพราะมันอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว เว้นแต่จะไม่ทำเท่านั้น ความเชื่อว่าหากไม่ทำเรื่องนี้ให้เกิดความสงสัยจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน

นายวิชา กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 10 คน นัดแรก ในวันที่ 3 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเบื้องต้นจะฟังเสียงของผู้ทรงคุณวุฒิว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจง และจะได้มอบนโยบายได้ถูกต้อง ซึ่งการทำงานตามกรอบ 30 วัน ของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องดูให้รอบคอบ หากคณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบคดีเฉยๆ คิดว่า 30 วันคงจะเพียงพอทำให้สังคมเกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ถ้าเรามีความจำเป็นจะต้องเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อาจต้องใช้ระยะเวลาต่อ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีทุก 10 วัน

สำหรับ ในความคาดหวังของสังคมนั้น เมื่อมาอยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบก็เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเสื่อมทรุดไปกว่าเดิม โดยอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์เงินและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกชาติ ซึ่งถึงจุดเวลาที่จะต้องยกเครื่อง และการทำงานใหม่ ซึ่งสังคมต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วย เนื่องจากเราได้ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้มานานพอสมควร อีกทั้งบ้านเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลง จะทำแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยนไป

“ยอมรับว่าประเทศไทยปฏิรูปมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม หรือเรียกว่าปฏิวัติหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ซึ่งถึงเวลาแล้วจะต้องเอาจริงเอาจังกับระบบกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงขนาดนายกรัฐมนตรีสั่งการ รวบรวมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงคดีความมาเป็นแม่แบบ หรือต้องถอดบทเรียน หากปล่อยทิ้งไป เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ไปนั่งสอบเฉยๆ จะทำให้เกิดความเสียหายเวลา ทั้งนี้ จะขออะไรที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพื่อประชาชน คณะกรรมการชุดนี้ก็จำเป็นจะต้องทำ