posttoday

หมอจุฬา-หมอรามา แนะ 3 เรื่องที่รัฐควรคิดให้ดีก่อนประกาศคลายมาตรการใด

29 เมษายน 2563

รศ.นพ.ธีระ-รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ แนะ 3 เรื่องสำคัญที่รัฐควรไตร่ตรองให้ดีก่อนออกประกาศมาตรการผ่อนคลายอะไร ชี้ต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่และต้องทำให้เกิดการปฏิบัติจริง

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความที่เขียนร่วมกับ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการพิจารณาการออกประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้น

รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า แม้จะพอใจชื้นกว่าการเห็นเลขสองหลัก แต่ก็ย้ำให้เรารู้ว่ายังเป็นเลขหลักเดียวแบบแก่ๆ แต่ละคนที่ติดเชื้อมีโอกาสแพร่ให้กับคนอื่นได้มากกว่า 1 คน โอกาสระบาดจึงจะกลับมาได้เสมอ...การ์ดจึงต้องไม่ตก

สัปดาห์นี้แทบทุกคนต่างจับจ้องท่าทีของรัฐบาลในการผ่อนปรนมาตรการ เพื่อให้คนทำมาหากินกันได้ ทางรัฐบาลแจ้งว่าจะประกาศรายละเอียดในสัปดาห์นี้ เข้าใจว่ามีหลายอย่างต้องหารือลงลึกให้แน่ใจก่อนจะประกาศ

เรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่รัฐควรไตร่ตรองให้ดี ก่อนประกาศออกมาคือ

หนึ่ง ระยะเวลาที่จะเปิดกิจการจากเสี่ยงน้อยไปเสี่ยงมากนั้น การเว้นห่างกัน 2 สัปดาห์นั้นสั้นเกินไป ควรเว้นห่างกันเพื่อรอให้พฤติกรรมประชาชนอยู่ตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงประเมินผลหลังจากนั้นอีก 7-10 วัน ดังนั้นระยะเวลาระหว่างเฟสที่เหมาะสมคือ 1 เดือน

สอง ระหว่างเฟสการเปลี่ยนแปลงนั้น ควรเร่งให้ธุรกิจสีเหลืองและแดงนั้น ออกแบบการประกอบกิจการของตนเองใหม่ โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย ลดโอกาสแพร่เชื้อลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออาจต้องใช้แนวทางการประกันความเสี่ยงทั้งต่อกิจการ ตัวบุคคลที่ให้บริการ ตัวบุคคลผู้มาใช้บริการ และต่อสังคม มาจัดระบบการจัดการรายได้ ภาษี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างน้อยที่สุด การปฏิรูปแนวทางการประกอบกิจการสีเหลืองและสีแดงที่กล่าวมานั้น ก็ต้องดำเนินไปนานตราบเท่าที่โรคระบาดยังคงอยู่ ซึ่งจะเป็นปีหรืออาจมากกว่านั้น ถ้ายังไม่มียาและวัคซีน

สาม พลิกคิดเช้าจรดเช้าก็ไม่เห็นทางเลยว่า ทางรัฐจะมีกำลังเพียงพอที่จะบังคับใช้กฎระเบียบสำหรับกิจการต่างๆ ได้อย่างถ้วนทั่วและต่อเนื่อง

กลไกการประเมิน ตรวจสอบมาตรฐานการป้องกันโรค COVID-19 ระหว่างการดำเนินงานของกิจการต่างๆ และของประชาชนที่ออกไปใช้ชีวิตหลังปลดล็อคนั้น อาจต้องได้รับการออกแบบให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ มิฉะนั้นออกกฎระเบียบมา แต่สุดท้ายคนก็อาจไม่ปฏิบัติตาม

คนตกงานจำนวนมาก อาจต้องมีงานลักษณะใหม่ที่ออกมา พร้อมรูปแบบการจ้างงาน จะโดยรัฐ หรือเอกชน หรือองค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมาช่วยในเรื่องนี้ ก็อาจเป็นไปได้

รศ.นพ.ธีระ ระบุทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะหากระบาดมา จะเป็นหย่อมเล็ก หรือหย่อมใหญ่ก็ตาม ตัวกิจการก็อาจถูกปิดหากสอบสวนโรคแล้วมีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวคนให้บริการ คนรับบริการ ล้วนโดนผลกระทบกันหมด ไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่เป็นเดือน กว่าจะหาย นี่จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายอาจต้องร่วมกันลงทุนทำ เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะปลอดภัย ทำงานได้ หากินได้ ใช้ชีวิตได้ ในระยะยาว

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ #ทำงานจากที่บ้านไปก่อนนะครับถ้าเป็นไปได้ #ออกจากบ้านยามจำเป็น #ใส่หน้ากากเสมอล้างมือบ่อยๆอยู่ห่างจากคนอื่น #NewNormal_NewMe ไทยต้องทำได้ครับ...